วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดรวมตัวกัน 3,000 คน บุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่ต่อนายกรัฐมนตรี ว่ากังวลหรือไม่นั้น
ศุภมาสกล่าวว่า ในส่วนของทำเนียบก็เป็นเรื่องของทำเนียบ แต่ในส่วนของกระทรวง อว. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับดูแลผู้ที่มายื่นหนังสือ ไม่แน่ใจว่ามีจำนวนเท่าไร ซึ่งเคยรับน้องๆ กลุ่มนี้มาแล้วหลายครั้ง เมื่อมีกำหนดการได้ประชุมกับตัวแทนศิษย์เก่า 2-3 ครั้ง ทุกคนถือว่าต่างทำหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรง
“ผู้ยื่นหนังสือเองก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ทุกคนก็จะกลัวเรื่องมีผู้ไม่หวังดี บุคคลที่สาม มือที่สาม เขาก็ทำเอกสารมาเพื่อขอใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งเราก็อนุญาตไป เพราะถือว่าทุกคนอยู่บนประชาธิปไตย แล้วเขาก็บอกว่าจะทำเป็นสัญลักษณ์มาเพื่อบอกว่าเป็นพวกเขาจริงๆ นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มของเขา ซึ่งได้นัดแนะว่าจะมีใครเข้ามาบ้าง ยื่นตรงไหน และอยากให้ตัวรัฐมนตรีรับเอง ซึ่งดิฉันจะไปรับเอง” ศุภมาสกล่าว
ส่วนกังวลหรือไม่ที่สถานการณ์บานปลายถึงการนัดรวมตัวแล้ว ศุภมาสยืนยันว่า จริงๆ เขาไม่ได้มาครั้งแรก เดือนที่แล้วก็มา 300 คน เราก็จัดเก้าอี้ เครื่องดื่ม อาหารกลางวันให้น้องๆ ทุกคน ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คิดว่าวันนี้เหตุการณ์ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่วันนี้เราไม่ได้เลี้ยงข้าว เพราะไม่แน่ใจว่าคนเยอะแค่ไหน แต่เราได้เตรียมเครื่องดื่มไว้ให้น้องๆ ทุกคน
ส่วนที่ อว. ออกมาทำหนังสือสั่งข้าราชการ Work from Home เพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ ลดการเผชิญหน้า หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่าปิดกระทรวงหนีนั้น ศุภมาสยืนยันว่าไม่ใช่การหนี แต่เราไม่แน่ใจว่ามีกลุ่มมือที่สามหรือผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุหรือไม่ สมมติเฉยๆ เกิดมีใครปีนรั้วเข้ามาซึ่งไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะยิ่งวุ่นวาย ต้องป้องกันไว้ก่อนไม่ให้กลายเป็นการสร้างสถานการณ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ประชุมกับกระทรวงและกลุ่มผู้ยื่นหนังสือหลายครั้ง คิดว่าทุกคนก็มาดี ทางน้องๆ ที่มายื่นหนังสือจริงๆ ก็คือกลุ่มที่ต้องทำบทบาทหน้าที่ของเขา
ส่วนกระทรวงก็มีหน้าที่รับหนังสือ และตำรวจก็มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงมีกล้องวงจรปิด มีสัญญาณเตือนไปที่ห้องวอร์รูม และคิดว่าวันนี้น่าจะผ่านไปอย่างเรียบร้อย
ศุภมาสระบุว่า เมื่อรับหนังสือมาแล้วต้องดูอีกทีว่าสุดท้ายข้อเรียกร้องมีอะไรบ้าง และส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คงไม่ใช่แค่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่เราได้ตั้งไว้ อาจจะต้องมาเพิ่มเติมตั้งกรรมการชุดใหม่เพิ่มคนเข้ามา เพื่อให้กรณีพิพาทเกิดข้อยุติและมีความสบายใจที่สุด
“มทร.ตะวันออก อุเทนถวาย อยู่ในสังกัดกระทรวง อว. เพราะฉะนั้นเขากับกระทรวงอยู่ฝั่งเดียวกัน เราไม่ได้เป็นม็อบที่เผชิญหน้ากันเหมือนม็อบอื่นๆ อันนี้ทางกระทรวงไม่ได้เรียกว่าม็อบ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในสังกัด มายื่นหนังสือถึงเจ้ากระทรวง เรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแลในมิติทางสังคม เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายแบบสบายใจ มีความสุข ไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่มีเหตุความรุนแรงเป็นชนวนเกิดขึ้น และพยายามให้เป็นไปด้วยความละมุนละม่อมที่สุด และเราได้พูดกับฝั่งอุเทนเสมอว่าเราฝั่งเดียวกันนะคะ เพียงแต่ว่าเราต้องทำตามกฎหมายที่ออกมา” ศุภมาสกล่าว
ต่อคำถามที่ว่า รู้สึกอย่างไรที่เจ้ากระทรวงถูกนำมาเป็นคู่ขัดแย้งเพราะจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศุภมาสระบุว่า พยายามบอกและคิดว่าทางอุเทนถวายก็เข้าใจ เพราะทุกครั้งที่ประชุมก็ย้ำว่าเราเป็นฝั่งเดียวกัน เพียงแต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่อุเทนถวายที่เดียวที่มายื่นหนังสือ ก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาและมายื่นหนังสือ
ศุภมาสกล่าวอีกว่า ปัญหานี้ก็ไม่ได้ขีดเส้น เพราะไม่ใช่ อว. กระทรวงเดียว แต่ต้องอาศัยองคาพยพอื่นมาร่วมกันแก้ปัญหาให้ความขัดแย้งและข้อพิพาทคลี่คลาย มีทางออกที่ทุกคนพอใจ ซึ่งเจ้าของพื้นที่ได้พูดคุยกับอุเทนถวายหลายครั้งแล้ว ก็ต้องให้พูดคุยกันไป แต่ของเราคือในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อให้ปัญหานี้คลี่คลายโดยเร็ว