×

รมว.อว. ยืนยัน ไม่เคยรับรองวุฒิจาก California University ชี้ตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องมีมหาวิทยาลัยเทียบให้ สว. เกศกมล ไม่มีสิทธิ์ใช้กรอกเอกสารในไทย

โดย THE STANDARD TEAM
16.07.2024
  • LOADING...
อว. California University

วันนี้ (16 กรกฎาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ใช้วุฒิจาก California University สมัครสมาชิกวุฒิสภาว่า กรณีนี้ต้องแบ่งเป็นสองเรื่องคือ การเทียบวุฒิระดับปริญญาเอก ไม่ว่าจะจบในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หากจบในประเทศไทย อว. ต้องเป็นผู้รับรองตั้งแต่เริ่มทำหลักสูตรอยู่แล้ว แต่หากเป็นวุฒิการศึกษาหรือหลักสูตรที่จบจากต่างประเทศ และประสงค์จะนำกลับมาใช้ในประเทศไทย จะต้องมายื่นเรื่องขอเทียบคุณวุฒิกับกระทรวง เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยในความดูแลมากกว่า 10,000 แห่ง เราไม่สามารถไปขึ้นบัญชีได้ทั้งหมด 

 

ศุภมาสกล่าวอีกว่า แต่ในกรณีของ California University จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีผู้มายื่นขอเทียบคุณวุฒิ จึงยังไม่เคยรับรองวุฒิให้ ต้องรอให้มีผู้มายื่นเรื่องก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและสอบทานเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ว่าสามารถเทียบกับปริญญาตรี โท และเอก ของไทยได้หรือไม่ 

 

ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์ ศุภมาสกล่าวว่า จะต้องทำเรื่องขอตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ มาเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งจะมีขั้นตอนการยื่นผ่านมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แล้วจะต้องส่งเรื่องมายัง อว. เพื่อขอโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งนี้ ซึ่งเราจะมีคณะกรรมการและขั้นตอนอยู่แล้ว 

 

ศุภมาสกล่าวอีกว่า สำหรับ Professor ที่ต้องการเข้ามาสอนหรือบรรยายในประเทศไทย ผู้ที่ต้องตรวจสอบจะเป็นมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ใช่กระทรวง เช่น หาก Professor จากประเทศจีนต้องการมาสอนที่มหาวิทยาลัยเกริกในประเทศไทย ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกริกที่จะต้องเทียบตำแหน่ง Professor กับศาสตราจารย์ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีขั้นตอนและกระบวนการแตกต่างกันไป ฉะนั้นในกรณี พญ.เกศกมล เรื่องจะไม่มาถึง อว. แต่เมื่อเห็นกรณีศึกษาเช่นนี้ น่าจะต้องกลับไปทบทวนบทบาทของกระทรวง กรณี Professor ที่รับรองจากต่างประเทศและต้องการมาทำงานในประเทศไทย อาจต้องส่งมาให้ อว. รับทราบและช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นปัญหาสังคมและเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส 

 

เมื่อถามว่า เคยมีคนนำวุฒิจาก California University มาให้ อว. เทียบวุฒิหรือไม่ ศุภมาศกล่าวว่า “ยังไม่มีนะคะ จากข้อมูลที่หามา ซึ่งเช็กจากทางกระทรวงยังไม่เคยมีคนมาขอเทียบเลย”

 

ส่วนจะเป็นข้อยืนยันว่าอาจไม่ใช่วุฒิปริญญาเอกจริงๆ ใช่หรือไม่ ศุภมาสกล่าวว่า ปริญญาเอกนี้ชอบหรือไม่ชอบ ใช่หรือไม่ใช่ ผู้ที่จะต้องสืบหาความจริงจะต้องเป็นกระทรวงของสหรัฐอเมริกา หรือผู้ที่มีหน้าที่อนุมัติเกี่ยวกับหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา ส่วนหน้าที่ของ อว. มีเอกสารมาจริงหรือไม่นั้นเราไม่รู้ แต่อาจช่วยพิสูจน์ แต่หน้าที่หลักต้องเป็นประเทศต้นทาง และเมื่อได้รับเอกสารมา อว. มีหน้าที่ทำตามกระบวนการ เพื่อดูว่าสามารถเทียบวุฒิได้หรือไม่ ซึ่งในหลายมหาวิทยาลัยที่มีผู้ยื่นเทียบวุฒิแล้วจะสามารถทำเรื่องได้สั้นลง เพราะมีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่เคยมีอาจต้องใช้เวลาสักพัก

 

เมื่อถามว่า เคยมีกรณีจบปริญญาโท ปริญญาตรี จากต่างประเทศ แต่มาเทียบวุฒิแล้วไม่ได้มาตรฐานของไทยหรือไม่ ศุภมาสกล่าวว่า มีกรณีที่เทียบไม่ได้ หากมาตรฐานไม่ตรงกัน อาจเป็นเรื่องของจำนวนหน่วยกิตหรือจำนวนวิทยานิพนธ์ ซึ่งปริญญาตรีจะต้องมี 120 หน่วยกิต ขณะเดียวกันถ้าจำนวนหน่วยกิตไม่ถึง เมื่อไปเทียบกับต่างประเทศก็อาจไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งเกิดได้ในทุกกรณี ดังนั้นต้องให้ อว. ทำเรื่องยื่นคุณวุฒิให้ การเทียบวุฒิจึงมีคำตอบทั้งผ่านและไม่ผ่าน

 

เมื่อถามว่า หากไม่ผ่านจะต้องกลับไปใช้วุฒิของประเทศไทยหรือไม่ ศุภมาสกล่าวว่า วุฒิปริญญาตรี โท และเอก จากต่างประเทศที่มีอยู่ก็จะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ แต่อาจใช้กับประเทศต้นทางได้ 

 

เมื่อถามว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ของ พญ.เกศกมล ปัจจุบันยังไม่พิสูจน์ทราบว่าเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยใด ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่อ้างว่ามีอยู่นั้นสามารถใช้กรอกข้อมูลต่างๆ ในไทยได้หรือไม่ ศุภมาสกล่าวว่า “น่าจะยังใช้ไม่ได้ จะใช้ได้ในกรณีที่มหาวิทยาลัยไทยเป็นผู้เทียบให้ แต่จะไม่เหมือนกับเรื่องปริญญาที่ อว. เป็นผู้เทียบให้ ตำแหน่ง Professor มหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่เขาจะมาทำงาน มารับเงินเดือน จะเป็นผู้เทียบให้” 

 

เมื่อถามว่า หากมีการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในไทย โดยที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดเทียบให้ มีความผิดหรือไม่ ศุภมาศกล่าวว่า ยังไม่แน่ใจข้อกฎหมาย ขอกลับไปศึกษาดูก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising