×

เลี้ยงแมวไทยกันไหม? แมวศุภลักษณ์ กับโอกาสสุดท้ายที่ทาสแมวจะได้เป็นเจ้าของแมวไทยขึ้นทะเบียน

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read

 

  • ใน ‘ตำราแมวสมุดข่อย’ หลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่ชิ้นที่มีการบันทึกเรื่องราวของแมวไทยโบราณเอาไว้ กล่าวถึงลักษณะของแมวไทยเอาไว้ทั้งหมด 23 สายพันธุ์ แต่ในปัจจุบันนี้พบว่ามีแมวไทยหลงเหลืออยู่แค่เพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้น และยิ่งน่าเสียดายเมื่อได้รู้ว่า แมวไทย 4 ใน 5 สายพันธุ์ดังกล่าวถูกขึ้นทะเบียนไปแล้วโดยชาวต่างชาติ เหลือก็เพียงแต่ แมวศุภลักษณ์ เท่านั้น

 

  • เดิมเข้าใจกันว่าเจ้าเหมียวศุภลักษณ์นั้นได้สูญพันธ์ุไปแล้ว แต่เพิ่งมีการค้นพบและพยายามฟื้นฟูสายพันธุ์ให้กลับมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ผู้เพาะพันธุ์แมวหลายกลุ่มพยายามร่วมมือกันขยายพันธุ์ ในส่วนของ ‘บ้านแมวไทยบางรัก’ ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์ให้มีลักษณะตรงตามตำรา และเพิ่งเพาะพันธุ์ออกมาได้เพียง 3 รุ่น แต่เราต้องการอีกอย่างน้อย 5 รุ่น เพื่อยืนยันความเป็นแมวไทยพันธุ์แท้ขององค์กรแมวโลก

“แมวศุภลักษณ์ลักษณะตรงตามตำรา มีน้ำตาลทองแดง หรือ สีช็อกโกแลต สีเดียวตลอดทั้งตัว ไม่มีหน้ากาก หางเรียวยาว อุ้งเท้าและจมูกสีชมพู”

     แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กับคนไทยมาช้านาน แต่คนรักแมวหรือแม้แต่ทาสแมวตัวยงจำนวนไม่น้อยก็อาจจะยังไม่รู้ว่า มีแมวไทยที่ปรากฏอยู่ใน ‘ตำราแมวสมุดข่อย’ บันทึกเก่าแก่เกี่ยวกับแมวไทย ซึ่งกล่าวถึงลักษณะและการให้คุณของแมวไทยแต่ละพันธุ์เอาไว้ทั้งหมดจำนวนมากถึง 23 สายพันธุ์ แต่ในปัจจุบันนี้เรากลับพบว่ามีแมวไทยหลงเหลืออยู่แค่เพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้น คือวิเชียรมาศ (Siamese Cat) โกนจา (หรือโกญจา) โคราช ขาวมณี และสุดท้ายคือ แมวศุภลักษณ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นเคยเข้าใจกันว่าเจ้าเหมียวศุภลักษณ์นั้นได้สูญพันธ์ุไปแล้ว แต่เพิ่งมีการค้นพบและพยายามพัฒนาสายพันธุ์ให้กลับมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง น่าเสียดายว่า แมวไทย 4 ใน 5 สายพันธุ์ดังกล่าวนั้นถูกขึ้นทะเบียนไปแล้วโดยชาวต่างชาติ เช่น แมววิเชียรมาศนั้น จดทะเบียนโดยคนอังกฤษ แมวขาวมณีโดยคนอเมริกัน จนเหลือก็เพียงแค่แมวศุภลักษณ์ซึ่งเป็นสายพันธุ์สุดท้าย

     และหนทางในการลงทะเบียนเจ้าเหมียวศุภลักษณ์ให้เป็นแมวไทยพันธุ์แท้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์กรแมวโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

 

 

ทำไมต้องขึ้นทะเบียนเจ้าเหมียวศุภลักษณ์?

     มีความพยายามจากกลุ่มผู้เลี้ยงแมวหลายกลุ่มของไทยในปัจจุบัน ที่จะขึ้นทะเบียนสายพันธุ์แมวไทยศุภลักษณ์ แต่ด้วยข้อกำหนดขององค์กรแมวโลกแต่ละแห่งที่กำหนดไว้แตกต่างกัน เช่น CFA (หนึ่งใน 9 องค์กรแมวโลก The Cat Fanciers Association: www.cfa.org) ที่กำหนดว่า ต้องมีจำนวนแมวมากกว่า 200 ตัว และต้องมีการสืบสายตระกูลได้มากกว่า  5 รุ่น ทำให้ยังเป็นอุปสรรคอยู่

     ในกรณีนี้ คุณปรีชา วัฒนา แห่ง ‘บ้านแมวไทยบางรัก’ ผู้เพาะเลี้ยงแมวไทยและส่งเสริมการอนุรักษ์แมวไทยพันธุ์แท้ ต้องใช้ความพยายามและใช้เวลาทดลองอยู่นานหลายปี ในการเสาะหาพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุแมวศุภลักษณ์มาจากทั่วประเทศ กว่าจะสามารถเพาะแมวศุภลักษณ์พันธุ์แท้ซึ่งมีลักษณะถูกต้องตรงตามตำราออกมาได้

     “ความพยายามที่จะฟื้นฟูแมวศุภลักษณ์ของบ้านเรามีมานานแล้ว โดยผู้เพาะพันธุ์แมวหลายคน หลายกลุ่ม นั้นได้มีการร่วมมือช่วยเหลือกันตามโอกาส ในส่วนของบ้านแมวไทยบางรักของเรา เพิ่งประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์ให้มีลักษณะตรงตามตำรามาได้ไม่นาน คือมีน้ำตาลทองแดง ที่ผมเรียกเองว่า สีช็อกโกแลต สีเดียวตลอดทั้งตัว ไม่มีหน้ากาก หางเรียวยาว อุ้งเท้าและจมูกสีชมพู แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ได้เนื่องจากยังมีจำนวนไม่มากพอ และเพิ่งเพาะพันธุ์ออกมาได้เพียง 3 รุ่น แต่เราต้องการอีกอย่างน้อย 5 รุ่น เพื่อยืนยันความเป็นแมวไทยพันธุ์แท้แก่องค์กรแมวโลก

     “การลงทะเบียนแมวไทยพันธุ์แท้นั้นช่วงแรกทำโดยชาวต่างชาติ เพราะในบ้านเราสมัยก่อนไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของการขึ้นทะเบียนแมวเลย จึงทำให้เราเสียโอกาสที่จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานและคุณลักษณะ (เพ็ดดีกรี) ว่าแมวไทยพันธุ์แท้ควรจะเป็นอย่างไรไปอย่างน่าเสียดาย เพราะทำให้แมวไทยสูญเสียลักษณะตามสายพันธุ์ที่แท้จริงไป”

     อย่างตอนนี้หากไปดูลักษณะแมวสยามมีสแคท ตามมาตรฐานที่ CFA ใช้สำหรับการประกวด จะเห็นได้เลยว่ามีความแตกต่างไปจากลักษณะของแมววิเชียรมาศตามตำราของบ้านเรามาก เนื่องจากถูกปรับปรุงสายพันธ์ุให้ตรงตามความนิยมของต่างชาติที่ชิงขึ้นทะเบียนก่อน ความพยายามที่จะขึ้นทะเบียนแมวศุภลักษณ์โดยคนไทยจึงถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่คนไทยจะได้เป็นผู้กำหนดลักษณะแมวไทยสายพันธ์ุแท้ของเราเอาไว้

 

 

     “ตอนนี้บ้านแมวไทยบางรักได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการตรวจสอบและบันทึกดีเอ็นเอของแมวศุภลักษณ์เอาไว้ เพื่อให้การคัดเลือกพ่อพันธ์ุแม่พันธุ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของเราพบว่าในปัจจุบันมีแมวไทยศุภลักษณ์อยู่เพียงประมาณ 50 ตัวเท่านั้น

     “สิ่งที่ผมหวังอีกอย่างคือ อยากได้พาร์ตเนอร์ที่จะมาช่วยเลี้ยงและขยายพันธุ์แมวศุภลักษณ์ มาเลือกรับแมวจากบ้านแมวไทยบางรัก หรือจากผู้เพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพ รับแมวศุภลักษณ์ที่มีประวัติการสืบสายพันธุ์ชัดเจนไปเลี้ยง เมื่อแมวพร้อมก็นำมาผสมพันธ์ุกับพ่อพันธ์ุต่างครอกที่เรามี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวน และช่วยให้การลงทะเบียนแมวศุภลักษณ์เป็นแมวไทยพันธุ์แท้ไปถึงจุดหมายได้เร็วยิ่งขึ้น​”

     หนทางหนึ่งที่เราจะมีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์สายพันธ์ุแมวศุภลักษณ์เอาไว้ คือ หากคิดว่าแมวในครอบครองของเราเป็นแมวที่มีลักษณะตรงตามตำรา ก็สามารถติดต่อไปทาง TIMBA สมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ (www.timba.org) หรือ แมวไทย.com เพื่อส่งรูปและรายละเอียดของเจ้าเหมียวให้พิจารณา หากตรวจสอบแล้วพบว่าแมวในครอบครองของเราเป็นแมวศุภลักษณ์จริง ก็สามารถลงทะเบียนกับทางสมาคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงการขึ้นทะเบียนแมวศุภลักษณ์ได้ รวมทั้งสามารถสมัครให้ท่านเจ้านายในความดูแลของเรา เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธ์ุแมวเพื่อช่วยในการเพิ่มจำนวนและพัฒนาสายพันธุ์ได้อีกด้วย

 

 

คนไทยกับการเลี้ยงแมว

     “ตอนนี้คนไทยเลี้ยงสัตว์เป็นกันมากขึ้น เลี้ยงสัตว์เป็นในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแค่เอากลับบ้านแล้วให้ข้าว 3 มื้อ แต่รู้จักหาข้อมูล ทำความเข้าใจกับธรรมชาติและความต้องการของสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น สำหรับเจ้าของที่อยากเป็นคนเลี้ยงแมวที่ดี สิ่งที่ต้องรู้คือ เลี้ยงอย่างไรให้สุขภาพแมวแข็งแรง สิ่งแรกก็คือต้องฉีดวัคซีนให้ครบ อย่างที่สองคือควรจะเลี้ยงในระบบปิด เพราะจะช่วยลดโอกาสที่จะติดโรค ติดเห็บหมัด เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายต่างๆ แก่แมว รวมทั้งเพื่อไม่ให้แมวออกไปรบกวนเพื่อนบ้าน จำกัดบริเวณในกรงหรือในห้องแมวเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน เพื่อลดโอกาสที่เขาจะไปซุกซนทำข้าวของเสียหายและบาดเจ็บ รวมทั้งต้องพิจารณาพื้นที่กับจำนวนแมวให้สมดุลกัน ไม่แออัดจนเกินไปด้วย

     “และสำคัญที่สุดคือกำลังทรัพย์และความรับผิดชอบ เพราะยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 250 บาทต่อครั้งต่อตัว มีแมวกี่ตัวก็คูณเข้าไป แล้วยังค่าอาหาร ค่าทรายแมว ของใช้ต่างๆ ที่เจ้าของคิดว่าจำเป็น แมวมีอายุขัยเฉลี่ย 15 ปี เราก็ต้องแน่ใจได้ว่าตลอด 15 ปีนี้เราจะดูแลค่าใช้จ่ายที่จะเกิดทั้งหมดได้ และยังต้องมีเงินสำรองในกรณีที่แมวเกิดเจ็บป่วยอีกด้วย

     “ตามตำราบอกว่า แมวไทยนั้นให้คุณ อย่างแมววิเชียรมาศนั้น “จักนำโภคาพิพัฒน์ สมบัติเพิ่มพูน” หรือถ้าเลี้ยงแมวศุภลักษณ์ก็ว่า “จะมียศฐา เป็นอำมาตย์มนตรี” ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนที่รับแมวจากผมไป ส่งข่าวกลับมาให้รู้บ่อยๆ ว่ามีโชคดีเกิดขึ้นกับเขาจริงๆ ซึ่งอันนั้นก็เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล สำหรับผมเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ และจะตามมาหากเราเลี้ยงแมวอย่างรับผิดชอบคือ แมวมักจะทำให้ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของเปลี่ยนไป เมื่อจิตใจผูกพันเป็นห่วงแมว ไม่อยากให้แมวอยู่ในกรงนานๆ เจ้าของก็มักจะใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น มีความสุขที่จะได้กลับบ้านมากขึ้น มีเรื่องราวรอบแมวพูดคุยกับสมาชิกในบ้านมากขึ้น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวจึงมักจะดีขึ้นตามไปด้วย

     “ซึ่งอันนี้ไม่ต้องดูตำราว่าเป็นแมวนำโชคไหม แต่แมวทุกตัวบันดาลให้เกิดได้แน่ๆ ครับ”​

 

Photo: www.แมวไทย.com และ Pantip Account : pkbeauty503

อ้างอิง:

FYI
  • นอกจากการเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์แมวไทยแล้ว การเลี้ยงแมวยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจ ในต่างประเทศมีงานวิจัยมากมายทั้งที่บอกว่า ผู้เลี้ยงแมวมักมีภูมิต้านทานสูงกว่าคนที่ไม่เลี้ยง และ Siamese Cat หรือ แมววิเชียรมาศ นั้นถูกยกย่องจากนักจิตบำบัดในต่างประเทศให้เป็นอันดับหนึ่งในหมวด Emotional Support Cat แมวที่ช่วยเสริมสร้างความสดใสและสมดุลทางอารมณ์ให้กับผู้เลี้ยง และมักถูกแนะนำให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่มีโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพื่อเป็นตัวช่วยในการบำบัดอาการ
  • ในต่างประเทศ ผู้เลี้ยงสามารถลงทะเบียนแมวให้เป็น Service Cat แมวบำบัดที่จะมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่มีกฎห้ามเลี้ยงสัตว์ได้ รวมถึงสามารถเดินทางพร้อมเจ้าของด้วยบริการขนส่งสาธารณะแทบทุกประเภทได้อีกด้วย
  • การเลี้ยงแมวไทยมีข้อดีคือ ภูมิต้านทานต่อโรคเขตร้อนสูง ขนสั้น จึงไม่ค่อยมีปัญหาเชื้อราจากความชื้น ที่มักจะเกิดกับแมวต่างประเทศที่มีขนยาวสองชั้น ประหยัดค่ากรูมมิ่งเพราะไม่ต้องตัดขน แปรงที่แมวไทยชอบที่สุดคือมือเจ้าของ แค่ขยันลูบตัว เกาคางบ่อยๆ แค่นั้นเจ้าเหมียวก็มีความสุขมากแล้ว
  • สมุดข่อยโบราณ ได้กล่าวถึงแมวไทยไว้ 23 ชนิด ซึ่งเป็นแมวดีให้คุณ 17 ชนิด และแมวร้ายให้โทษ 6 ชนิด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising