×

‘โจ ไบเดน’ ขึ้นเวที Summit of the Americas โชว์วิสัยทัศน์ วางแผนร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หวังตอบโต้อิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้น

10.06.2022
  • LOADING...
โจ ไบเดน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ประกาศเปิดงาน Summit of the Americas การประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นที่ลาสเวกัส ด้วยการประกาศความร่วมมือทางเศรษฐกิจครั้งใหม่กับลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน

 

งานนี้ผู้นำสหรัฐฯ พยายามสร้างความมั่นใจให้บรรดาผู้นำที่รวมตัวกันเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนถึงความเจ้ากี้เจ้าการของสหรัฐฯ ที่พยายามจะบงการประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ที่ยากจนกว่า

 

เว็บไซต์ข่าว Al Jazeera รายงานว่า บรรยากาศการประชุมครั้งนี้ร้อนระอุตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เพราะรายชื่อผู้มาเยือนของรัฐและรัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมลดลงเหลือ 21 คน หลังประธานาธิบดีไบเดนกีดกันคิวบา เวเนซุเอลา และนิการากัว ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ของเม็กซิโก และผู้นำคนอื่นๆ อีกหลายคนประท้วงด้วยการเว้นระยะห่างกับผู้นำสหรัฐฯ

 

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในพิธีเปิดงานกาล่าดินเนอร์ว่า “ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอเมริกาต้องดำเนินการลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าการค้าของภูมิภาคแห่งนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ปลอดภัย และยั่งยืนมากขึ้น” ก่อนใช้โอกาสนี้กล่าวถึงแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจฉบับใหม่ของภูมิภาค อย่าง Americas Partnership for Economic Prosperity

 

แผนความร่วมมือของอเมริกาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตจากล่างขึ้นบน และกระจายออกจากส่วนกลาง ไม่ใช่จากบนลงล่าง และกล่าวว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับประเทศอื่นๆ ภายในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าประธานาธิบดีไบเดนกำลังพยายามนำเสนอประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนด้วยทางเลือกอื่นนอกเหนือจากจีน ท่ามกลางข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาคอเมริกา รวมถึงการลงทุนที่มากขึ้น และการสร้างข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นครอบคลุมมากขึ้น

 

ทั้งนี้รายงานยังพบว่า ในกรณีของความร่วมมือและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐฯ เหมือนจะตามหลังจีนที่มีข้อตกลงทางการค้ากับทางลาตินอเมริกา ขณะที่ข้อมูลการค้าของสหประชาชาติระหว่างปี 2015-2021 แสดงให้เห็นว่านอกเม็กซิโก ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ จีนได้แซงหน้ารัฐบาลกรุงวอชิงตันในหลายประเทศทั่วลาตินอเมริกา และเพิ่มความได้เปรียบในปีที่ 2021

 

อย่างไรก็ตาม การเป็นหุ้นส่วนของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ได้ยุติการเสนอมาตรการลดภาษีศุลกากร และในขั้นต้นจะเน้นไปที่ ‘พันธมิตรที่มีใจเดียวกัน’ ที่มีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว

 

นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ยังวางแผนหารือในประเด็นด้านแรงงาน การโยกย้ายถิ่นฐาน และอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนประเด็นร้อนด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน โดยรายงานระบุว่า โครงการอื่นๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ คาดว่าจะเปิดตัวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้แก่ โครงการริเริ่มด้านการเงินด้านความมั่นคงด้านอาหารมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์, ความร่วมมือครั้งใหม่เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศในทะเลแคริบเบียน ที่จะช่วยให้ประเทศแคริบเบียนเข้าถึงแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ และโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 500,000 คนในทวีปอเมริกาในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ไบรอัน นิโคลส์ (Brian Nichols) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ระบุว่า ประเด็นหารือความร่วมมือเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ต่างต้องทำอยู่แล้ว ดังนั้นแทนที่จะให้แต่ละประเทศพยายามแยกแยะและคิดหาโซลูชันกันเอง ก็ให้จับมือกับสหรัฐฯ มาร่วมกันสร้างกรอบการทำงานที่สอดคล้องกันร่วมกัน เพื่อทำให้สถานการณ์นี้มีมนุษยธรรมและสามารถจัดการได้มากขึ้น

 

ขณะเดียวกันทางด้านสถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่พบว่า มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิของครัวเรือนและองค์กรไม่แสวงหากำไรในอเมริกาลดลง 0.5 ล้านล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 149.3 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ สวนทางกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อช่วงกลางปี ​​​​2020 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากราคาบ้านและราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้น

 

รายงานของ Fed ระบุว่า ความมั่งคั่งที่ลดลงในไตรมาสแรกสะท้อนให้เห็นถึงภาวะซบเซาในตลาดหุ้นเมื่อต้นปี โดยความซบเซาดังกล่าวทำมูลค่าตลาดลดไป 3 ล้านล้านดอลลาร์จากมูลค่าของหุ้นบริษัทที่ถือครองทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมูลค่ารวมของการถือครองเหล่านี้อยู่ที่ 46.3 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของครัวเรือนชาวอเมริกัน

 

ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2022 ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones และดัชนี S&P 500 ปรับตัวร่วงลงเกือบ 5% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงเกือบ 9% นับเป็นผลประกอบการรายไตรมาสที่แย่ที่สุดของตลาดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

สำหรับความเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยคึกคักของตลาดในปีนี้เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนอยู่ในภาวะที่ต้องประเมินปัจจัยรอบด้านอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น, อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น, การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และความกังวลเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโควิดอย่างต่อเนื่อง

 

กระนั้น Fed พบว่าการลดลงของมูลค่าหุ้นถูกชดเชยบางส่วนด้วยมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ และอัตราการออมส่วนบุคคลที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยครัวเรือนและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรถือครองทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 44.1 ล้านล้านดอลลาร์

 

ขณะที่อัตราส่วนของมูลค่าสุทธิของครัวเรือนต่อรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) ยังคงอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดไวรัสโควิดระบาดในปี 2019 อย่างมาก ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนขยายตัวที่ 8.3% ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อผู้บริโภค

 

โดยราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้หนี้จำนองเพิ่มขึ้น 8.6% และชาวอเมริกันยังกู้ยืมเงินจากบัตรเครดิตมากขึ้น และออกสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น ทำให้สินเชื่อผู้บริโภคพุ่งขึ้น 8.7%

 

ในส่วนของสถานการณ์การจ้างงาน รายงานตัวเลขฉบับล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ พบว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งใหม่เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่จำนวนชาวอเมริกันว่างงานโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 52 ปี

 

รายงานระบุว่า จำนวนการขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 27,000 ราย ทำให้ยอดโดยรวมเพิ่มเป็น 229,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งถือได้ว่าสูงที่สุดสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนขอรับสวัสดิการการว่างงานโดยเฉลี่ยในรอบ 4 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 8,000 รายจากการรายงานฉบับก่อนหน้า ทำให้ยอดรวมขอรับสวัสดิการการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 215,000 ราย

 

ด้านจำนวนชาวอเมริกันที่รับสวัสดิการว่างงานสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 พฤษภาคม ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1,306,000 คน ถือได้ว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 1970

 

ดันเต เดออันโตนิโอ (Dante DeAntonio) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Moody’s Analytics ในเวสต์เชสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย แสดงความเห็นว่า ความยากลำบากในการว่าจ้างพนักงานส่วนใหญ่ยังคงขัดขวางไม่ให้ธุรกิจเลิกจ้างพนักงาน แต่จุดอ่อนได้เกิดขึ้นในหมู่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและผู้ค้าปลีก ที่รู้สึกถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายของผู้บริโภค ตั้งแต่สินค้าไปจนถึงการบริการ

 

ข้อมูลขอรับสวัสดิการการว่างงานมีขึ้นในขณะที่คนงานชาวอเมริกันมีความมั่นคงในการทำงานที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากวิกฤตโควิดในช่วงกว่า 2 ปี ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะตกต่ำในระยะสั้น ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง

 

ทั้งนี้การขอรับเงินช่วยเหลือการว่างงานรายสัปดาห์นั้นต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดระบาดที่ 225,000 คน แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะหดตัวลงในไตรมาสแรก และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ก็ตาม

 

ข้อมูลขอรับสวัสดิการว่างงานฉบับใหม่ยังมีขึ้นท่ามกลางรายงานของบริษัทต่างๆ ที่ระงับการจ้างงานหรือพิจารณาเลิกจ้างงาน จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอยในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ความต้องการแรงงานโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง โดยมีตำแหน่งงานว่าง 11.4 ล้านตำแหน่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X