วันนี้ (15 เมษายน) กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 6 (107/2566) มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 15-16 เมษายน 2566 ระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว
คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกและทะเลจีนใต้ในวันนี้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 15-16 เมษายน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกัน ระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 15 เมษายน 2566
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดอุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, อำนาจเจริญ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
– ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, จันทบุรี และตราด
วันที่ 16 เมษายน 2566
– ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, อุตรดิตถ์, ตาก, กำแพงเพชร, พิจิตร, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย, หนองบัวลำภู, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, นครราชสีมา และบุรีรัมย์
– ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
– ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด