×

คลังสรุปผลการประชุมคลัง-ธนาคารกลางอาเซียน+3 เร่งพหุภาคีเชียงใหม่-ตลาดพันธบัตรเอเชีย

03.05.2021
  • LOADING...
กระทรวงการคลัง

กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 24 (ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564) ในระบบประชุมทางไกล มีข้อสรุป 4 ข้อ ดังนี้

1. มุมมองของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มองว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปี 2564 เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ทั้ง 3 องค์กรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในทิศทางเดียวกัน คือ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ทุกประเทศสมาชิกควรมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม มีเสถียรภาพ และยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น สร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงโดยเร็ว สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) สนับสนุนการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ (Domestic Resources) ปรับปรุงระบบภาษีและความร่วมมือทางภาษี และส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาระบบการเงินระหว่างภูมิภาค เป็นต้น

 

2. มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) โดยความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF (De-linked Portion) เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 30% เป็น 40% ของวงเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือสูงสุด ทั้งนี้ประเทศสมาชิกยังสามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นสมทบเงินใน CMIM ได้

 

3. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อส่งเสริมตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานผ่านการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่ประเทศสมาชิก ได้แก่ 

  • การดำเนินการของหน่วยงานการค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน+3 (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) 
  • การใช้ตราสารหนี้เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

4. ด้านกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาความเป็นไปได้ของมาตรการริเริ่มใหม่ๆ เช่น การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 

 

ทั้งนี้เพื่อขยายความร่วมมือทางการเงินให้ครอบคลุม ส่งเสริมความเจริญเติบโตของภูมิภาคอาเซียน+3 และสอดคล้องกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

อย่างไรก็ตามการประชุม AFMGM+3 สะท้อนถึงแนวคิดการพัฒนาและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

 



พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising