- วันนี้ (4 มิถุนายน) พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีคดีภาษีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ณ ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา
- พงษ์เดชระบุว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติมาพบกันในวันนี้ จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการสอบสวนเกี่ยวกับคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อข้าราชการและอดีตข้าราชการตุลาการผู้ใหญ่ว่าอาจมีส่วนพัวพันธ์กับเรื่องนี้ด้วยนั้น
- คดีที่มีการอ้างถึงเป็นคดีที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา มีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ฟ้องคดีแรกวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้แยกฟ้อง โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 10 มิถุนายน 2559
- มีการสืบพยานต่อสู้คดีกันเป็นระยะเวลาปีเศษ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำพิพากษาทุกคดีในวันที่ 29 กันยายน 2560 พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดทางภาษีอากร
- จำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับคดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 และต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐ โจทก์จึงยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา โดยศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
- ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หากยื่นคำแก้ฎีกาแล้วศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
- คดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดี เพียงพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาเมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
- คดีนี้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยและยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้ โดยพิจารณาเพียงว่าปัญหาที่ยื่นฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ ยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด
- คดีนี้เป็นคดีภาษีอากร ซึ่งเป็นคดีชำนัญพิเศษ ในการพิจารณาพิพากษาจะมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากรตลอดทั้งสายตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนกระทั่งถึงศาลฎีกา โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีการวางระบบการทำงานในรูปแบบการประชุมคดีที่เข้มข้นขององค์คณะนับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการเป็นต้นมา โดยองค์คณะจะร่วมกันพิจารณาคดี มีผู้ช่วยผู้พิพากษาทำหน้าที่เลขานุการคณะในการทำเอกสารสรุปข้อเท็จจริงประเด็นข้อพิพาทในคดีและข้อกฎหมาย
- เมื่อประชุมแล้วผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนก็จะยกร่างคำพิพากษาตามมติการประชุม แล้วจึงส่งร่างคำพิพากษานั้นให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือผู้ช่วยเล็ก หลังจากผู้ช่วยเล็กตรวจสำนวนแล้วจะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อผู้พิพากษาประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือเรียกว่าผู้ช่วยใหญ่ เพื่อตรวจร่างคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตรวจแล้วจะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อรองประธาน เมื่อเห็นว่าเป็นคดีสำคัญจึงส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือประธานศาลฎีกาแล้วแต่กรณีพิจารณา
- หากเห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญก็จะสั่งให้นำปัญหานั้นเข้าสู่การพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกท่านในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีประมาณ 70 ท่าน ส่วนศาลฎีกามี 176 ท่าน เมื่อร่างคำพิพากษาผ่านที่ประชุมแล้วจึงจัดทำคำพิพากษาเพื่อส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังต่อไป
- ในส่วนของการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกานั้น แม้จะเป็นเพียงชั้นขออนุญาตฎีกาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็กำหนดจำนวนองค์คณะไว้อย่างน้อย 4 คน โดยหนึ่งในนั้นต้องเป็นรองประธานศาลฎีกาด้วย สำหรับคดีภาษีอากรนั้น คำร้องขออนุญาตฎีกาก็จะถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่อยู่ในแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกาเป็นองค์คณะ ภายหลังจากองค์คณะพิจารณาแล้ว ในคดีนี้ได้นำเข้าประชุมแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา เพื่อให้ผู้พิพากษาในแผนกทุกคนได้ร่วมกันพิจารณาและลงมติก่อนที่จะมีการส่งมาให้ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในแต่ละชั้นศาลนั้นเป็นไปอย่างมีระบบ โปร่งใส มีการปรึกษาคดีและตรวจทานความถูกต้องในทุกขั้นตอน ยากที่จะมีการแทรกแซงหรือกระทำการใดที่จะก่อให้เกิดผลตามที่ใครต้องการได้
- อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมั่นใจในระบบ แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าอาจมีการกระทำที่แทรกแซงกระบวนการจนถึงขั้นอาจมีการเสนอให้สินบนขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
- สำนักงานศาลยุติธรรมจึงไม่นิ่งนอนใจ นับตั้งแต่มีการรายงานข่าวจึงได้ดำเนินการส่งหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศอย่างที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว
- เมื่อในเนื้อหาข่าวปรากฏชื่อบุคคลในศาลยุติธรรมขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลโดยที่มีพงษ์เดชเป็นประธานคณะทำงานด้วยตัวเอง
- คณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ติดตามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ซึ่งได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศแล้ว ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท โตโยต้า อเมริกา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงส่งอีเมลติดต่อไปยังนักข่าวที่เขียนรายงานข่าวอันเป็นต้นทางของเรื่องนี้ และจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาด้วย
- ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง’ 4 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย ให้เสร็จโดยเร็ว
- ให้กรรมการชุดนี้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน
- คณะทำงานติดตามข้อมูลที่มีเลขาธิการศาลยุติธรรมเป็นประธาน จะทำงานสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต้องการให้ความกระจ่างปรากฏต่อสาธารณชนโดยเร็ว และหากพบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการต่อไปอย่างเด็ดขาด
- หากพี่น้องประชาชน สื่อมวลชน หรือหน่วยงานใด มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้เรื่องนี้กระจ่างชัด สามารถส่งข้อมูลมายังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตลอดเวลา โดยคณะทำงานติดตามข้อมูลจะดำเนินการทุกวิถีทางให้เร็วที่สุด และสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอผลความคืบหน้าของการทำงานต่อพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นระยะ
- พงษ์เดชระบุว่า การพบปะสื่อมวลชนในวันนี้ นอกจากจะยืนยันการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจังแล้ว ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและสังคมว่าหากคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คู่ความจะได้รับความเป็นธรรมทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน องค์คณะในศาลฎีกาจะพิจารณาคดีอย่างไม่หวั่นไหว
- ส่วนการให้สินบนตามข่าวหากมีจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและดำเนินคดีต่อไป