×

ข้อตกลง RCEP, กรอบฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19: สรุปผลลัพธ์การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37

16.11.2020
  • LOADING...
ข้อตกลง RCEP

HIGHLIGHTS

  • หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ คือการลงนามข้อตกลง RCEP ระหว่าง 10 ชาติอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 
  • ความตกลงนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ห่วงโซ่มูลค่าในเอเชียเกิดขึ้น โดยผู้ประกอบการได้แต้มต่อ ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า และจากงานวิจัยจำนวนมาก การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเหล่านี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ไทยต้องการมากที่สุดในขณะนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2020 โดยมีเวียดนามเป็นประธาน แต่การประชุมเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ผ่านระบบการประชุมทางไกล ประเด็นผลลัพธ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นกับประชาคมอาเซียน ประชาคมของประชากร 655 ล้านคน ใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความสัมพันธ์ในทุกมิติและในทุกระดับ และประเทศไทยของเราเองก็เล่นบทบาทนำในเวทีนี้มาโดยตลอด 

 

ผลลัพธ์ที่เราต้องจับตาจากการประชุมครั้งนี้ ที่จะกำหนดทิศทางการเดินหน้าประชาคมอาเซียนต่อไป คือ

 

  1. การลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ อาเซียน+6 ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ในขณะนี้ยังคงไม่มีอินเดียที่เข้ามาร่วมลงนาม) 

 

ท่ามกลางพายุสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อไป รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกันมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยอาเซียนก็ยังมีข่าวดี นั่นคือ การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีของเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในมิติประชากร และมิติขนาดเศรษฐกิจ ที่ไทยเป็นผู้ผลักดันอย่างหนักตลอดทั้งปีที่แล้ว จนสามารถหาข้อสรุปได้ ในนาม RCEP 

 

ความตกลงนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ห่วงโซ่มูลค่าในเอเชียเกิดขึ้น โดยผู้ประกอบการได้แต้มต่อ ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า และจากงานวิจัยจำนวนมาก การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเหล่านี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ไทยต้องการมากที่สุดในขณะนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

 

แต่เท่านั้นยังไม่พอ RCEP จะเป็นข้อตกลงแรกที่เป็นข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ ซึ่งมีความครอบคลุมและมีมาตรฐานสูงที่ไทยและหลายๆ ประเทศในอาเซียนลงนามและมีผลบังคับใช้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นสนามทดลองให้ไทยและสมาชิกอาเซียนทำความคุ้นเคย และมีโอกาสปรับตัวให้เท่าทันกับรูปแบบการเจรจาการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งมาตรฐานในเรื่องใหม่ๆ อีกหลากหลายมิติ

 

  1. ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (Ha Noi Declaration on the ASEAN Community’s Post-2025 Vision) ผู้นำอาเซียนเริ่มต้นกระบวนการให้ ASEAN Coordinating Council (ACC) ไปเริ่มกระบวนการตั้ง High-Level Task Force (HLTF) เพื่อเริ่มกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียน 2040 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลงานของประเทศไทยที่ได้เป็นผู้ว่าจ้างให้ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) จัดทำงานวิจัยในหัวข้อ ASEAN Vision 2040: Towards a Bolder and Stronger ASEAN Community ไปแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2017-2019 และได้ส่งมอบให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศไปแล้วเมื่อปี 2019 ในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียน โดยศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำงานวิจัยดังกล่าวร่วมกับ ERIA

 

  1. กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) อาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกันวางกรอบความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในมิติสาธารณสุข และมิติเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแบ่งความร่วมมือออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ สาธารณสุข ความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมการค้าและตลาดอาเซียน ดิจิทัล และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง บทบาทของอาเซียนในการสร้างความร่วมมือกันเพื่อบริหาร จัดการ บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในมิติผลกระทบทางสาธารณสุข และผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือเพื่อผลิต และกระจายวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการสร้างแผนรับมือหากมีการระบาดของโรคร้ายเกิดขึ้นในอนาคต โดยบทบาทของกองทุน COVID-19 ASEAN Response Fund จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดย ณ ปัจจุบันกองทุนนี้มีขนาด 300,000 ดอลลาร์สหรัฐจากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับเงินสมทบพิเศษจากประเทศไทย และสิงคโปร์ อีกประเทศละ 100,000 ดอลลาร์ และจากจีนอีก 1 ล้านดอลลาร์กองทุนนี้ได้ถูกใช้ไปบ้างแล้วเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการระบาด และในอนาคตเชื่อว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตและกระจายวัคซีนระหว่างประเทศสมาชิก

 

อีกเรื่องที่ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 คือการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อทำให้สินค้าเวชภัณฑ์ ยา เครื่องมือแพทย์ และอาหาร สามารถเคลื่อนย้ายข้ามชายแดนระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวก โดยไม่มีอุปสรรค ซึ่งจากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะต้องมีการทำ MOU ระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าในสินค้าประมาณ 150 รายการสินค้า

 

  1. ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021-2025) (Ha Noi Declaration on the Adoption of the Initiative for ASEAN Integration Work Plan IV (2021-2025)) 

 

  1. แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (2021-2025) (Initiative for ASEAN Integration (IAI) Work Plan IV (2021-2025))

 

ข้อ 3 และ ข้อ 4 เกิดขึ้นเนื่องจากสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนไม่พร้อมกัน โดย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 ตามมาด้วย บรูไน ในปี 1984 ซึ่งถือเป็นช่วงก่อนการเกิดขึ้นของ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement: AFTA) ซึ่งถือเป็นหนึ่งก้าวสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในอาเซียน หลังจากนั้น ประเทศที่ถือว่ามีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำกว่าสมาชิกรุ่นก่อตั้ง ก็เริ่มทยอยเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เริ่มจากเวียดนามในปี 1996 สปป.ลาว และเมียนมา ในปี 1997 และ กัมพูชาในปี 1999 เรานิยมเรียกสมาชิกกลุ่มนี้ว่า CLMV ซึ่งเคยมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสมาชิกเดิม และมีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำกว่า ดังนั้น สมาชิกเดิมจึงให้แต้มต่อ ให้ความช่วยเหลือ และให้สิทธิพิเศษบางประการ เพื่ออำนวยให้การบูรณาการเอา CLMV เข้ามาเป็นสมาชิกของอาเซียนเกิดการลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิก และนั่นทำให้เกิดแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน หรือ Initiative for ASEAN Integration (IAI) ซึ่งจะมีแผนการทำงานที่ชัดเจนว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือ ให้สิทธิพิเศษใดบ้างเป็นคราวๆ คราวละ 5 ปี ซึ่งในระยะหลังก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเพิ่มขึ้นต่อกรณีของเวียดนามว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้แต้มต่ออีกหรือไม่ เนื่องจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะหลังก็มีการก้าวกระโดดขึ้นอย่างมาก

 

  1. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนากรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน (ASEAN Declaration on the Development of a Framework ASEAN Travel Corridor Arrangement) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายคนในภาคธุรกิจที่ต้องเดินทางไปทำงานระหว่างประเทศสมาชิกมีความสะดวกยิ่งขึ้น

 

  1. ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานสังคมสงเคราะห์เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง (Ha Noi Declaration on Strengthening Social Work towards Cohesive and Responsive ASEAN Community) หนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของเสาหลักประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) คือการพัฒนาคน โดยเฉพาะในมิติสวัสดิการสังคม สิทธิ ความรับผิดชอบ และความเป็นธรรมทางสังคม ดังนั้นความร่วมมือในเรื่องการสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศสมาชิกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเจ้าภาพเวียดนามในปีนี้ก็สานงานต่อจากที่ประเทศไทยเคยผลักดันไว้ในคราวที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 ซึ่งในปีที่แล้วไทยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Training Centre for Social Work and Social Welfare: ATCSW) ขึ้นไว้แล้วเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในด้านสังคมสงเคราะห์

 

  1. เอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (Narrative of ASEAN Identity) อีกหนึ่งมิติของการพัฒนาคนในเสาหลัก ASCC คือการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ดังนั้นเอกสาร Narrative of ASEAN Identitiy จะมีสาระสำคัญในการให้คำจำกัดความของ ‘อัตลักษณ์อาเซียน’ ซึ่งจะทำให้กลไกสำคัญในการสร้าง ASEAN Society ที่จะทำให้คนอาเซียนรู้สึกได้ถึงการมีประโยชน์และการมีตัวตนของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดย Narrative of ASEAN Identity จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ 1) ค่านิยมที่สืบทอดกันมา (inherited Values) ได้แก่ ความเป็นเอกภาพ ความเป็นเครือญาติ ความอดทน อดกลั้น ระบบการจัดการองค์กร และเอกภาพบนความหลากหลาย และ 2) คุณค่าที่สร้างขึ้น (Constructed Values) อาทิ เพลงประจำอาเซียน กฎบัตรอาเซียน และวิสัยทัศน์อาเซียน

 

  1. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล (ASEAN Declaration on Digital Tourism) การท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของทุกประเทศสมาชิก และอาเซียนเองก็เป็นหนึ่งในจุดหมายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แม้จะมีอุปสรรคในช่วงโควิด-19 แต่เชื่อว่าในอนาคตหลังการระบาด การท่องเที่ยวก็จะกลับมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป และการอัปเกรดภาคการท่องเที่ยวให้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างยิ่ง

 

  1. ความตกลง และความร่วมมือในมิติต่างๆ กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และกับประเทศภาคีในกรอบความร่วมมือต่างๆ
    • แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ปี 2021-2025) (Plan of Action to Implement the ASEAN-China Strategic Partnership for Peace and Prosperity (2021-2025) อาเซียนมีจุดยืนชัดเจน คือการไม่เข้าไปยุ่ง หรือแทรกแซงเรื่องภายในของประเทศสมาชิก ดังนั้นอาเซียนไม่ต้องการยกระดับให้ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอาเซียนกับจีน (แม้ว่าจะมีมหาอำนาจภายนอกพยายามยุยงก็ตาม) ดังนั้นแม้เวียดนาม (เจ้าภาพ) จะมีปัญหากับจีน แต่ในระดับภูมิภาคอาเซียน เรายังคงสามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับมหาอำนาจอย่างจีนได้
    • แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 8 (Joint Statement on Human Capital Development at the 8th ASEAN-U.S. Summit) แม้จะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในสหรัฐฯ แต่ประเด็นการเชื่อมโยง People-to-People Connectivity โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาคน ยังคงเป็นผลประโยชน์ร่วมของทั้งอาเซียน และสหรัฐฯ
    • แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 23 ว่าด้วยความร่วมมือต่อเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (Joint Statement of the 23rd ASEAN-Japan Summit on Cooperation on ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2019 ผลักดันจนสามารถสรุปเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกได้สำเร็จ เพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนต่อความร่วมมือและความขัดแย้งในระดับภูมิภาค มหาอำนาจขั้วหนึ่งพยายามขยายอิทธิพลของตนเอง ในขณะที่มหาอำนาจอีกขั้วพยายามจะปิดล้อมจำกัดเขต โดยมีมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกที่อาเซียนตั้งอยู่ตรงกลางเป็นสนามปะลองกำลัง ดังนั้นอาเซียนต้องแสวงหาพันธมิตร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของอาเซียนที่สามารถเกิดขึ้นได้ร่วมกับประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะประเทศที่เป็นนักลงทุนหลักในพื้นที่นี้อย่างญี่ปุ่น
    • แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียรอบสองปี ครั้งที่ 2 (Joint Statement of the Second ASEAN-Australia Biennial Summit)
    • แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระดับผู้นำอาเซียน-นิวซีแลนด์ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-นิวซีแลนด์: สืบทอดความเป็นหุ้นส่วน ก้าวร่วมสู่อนาคต (Joint ASEAN-New Zealand Leader’s Vision Statement on the 45th Anniversary of ASEAN-New Zealand Dialogue Relations: A Legacy of Partnership, A Future Together)
    • แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนบวกสามเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ (ASEAN Plus Three Leader’s Statement on Strengthening ASEAN Plus Three Cooperation for Economic and Financial Resilience in Face of Emerging Challenges)
    • ปฏิญญากรุงฮานอยในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของการประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก (Ha Noi Declaration on the Fifteenth Anniversary of the East Asia Summit)
    • แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเล (East Asia Summit Leader’s Statement on Marine Sustainability) นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นการต่อยอดจากการผลักดันของประเทศไทยในเวทีอาเซียนตลอดปี 2019 ที่ไทยเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยเฉพาะจากแนวทางการปฏิบัติของอาเซียนต่อปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลในท้องทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) ซึ่งนำไปสู่การลงนามใน Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region และในรอบนี้ก็เป็นการขยายความร่วมมือต่อในระดับ ASEAN+6
    • แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจภูมิภาค (East Asia Summit Leader’s Statement on Cooperation to Promote Steady Growth of Regional Economy)
    • แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกันในการป้องกันและรับมือกับโรคระบาด (East Asia Summit Leader’s Statement on Strengthening Collective Capacity in Epidemics Prevention and Response)
    • แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Draft East Asia Summit Leader’s Statement on Women Peace and Security)
    • ตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Draft Instrument of Extension of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) กับสาธารณรัฐโคลอมเบีย
    • ตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Draft Instrument of Extension of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

โดย 2 ตราสารสุดท้ายนี้เป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้กับเวทีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นคือ (ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ASEAN Regional Forum: ARF) ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มในปี 1995 เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป รวมถึงผู้สังเกตการณ์ (Observers) ของอาเซียน ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และประเทศอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต บังคลาเทศ และศรีลังกา มีเวทีที่จะปรึกษา หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงภัยความมั่นคงในระดับภูมิภาค

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X