ผ่านไปแล้วสำหรับปี 2563 ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ผันผวนค่อนข้างมาก ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบคงจะหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี จนทำให้ SET ร่วงลงอย่างหนัก จากจุดสูงสุดของปี เมื่อ 3 มกราคม 2563 ที่ระดับ 1,604.43 จุด ไปทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 9 ปี ที่ระดับ 969.08 จุด ลดลงไป 635.35 จุด หรือ -39.6% ภายในเวลาเพียงประมาณ 3 เดือน
จากจุดต่ำสุด SET ใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน ฟื้นตัวขึ้นมาแตะระดับ 1,454.95 จุด หรือ +50% ก่อนที่ดัชนีจะค่อยๆ ซึมลงอีกครั้ง กลับไปแตะระดับ 1,187.49 จุด เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ดัชนีจะได้แรงหนุนจากการกลับเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท และปัจจัยบวกจากความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน ทำให้ดัชนี SET ฟื้นกลับมาปิดที่ระดับ 1,449.35 จุด ลดลงจากปีก่อนเพียง 130.49 จุด หรือ 8.26%
มองไปในปี 2564 จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ 10 ราย จาก 10 บริษัทหลักทรัพย์ ต่างเชื่อว่าดัชนี SET มีโอกาส ‘ฟื้นตัว’ ต่อได้ โดยดัชนีเป้าหมายต่ำสุดที่ประเมินไว้คือ 1,470 จุด และสูงสุดที่ 1,670 จุด ปัจจัยหนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียน ในปี 2564 มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมาได้
‘Fund Flow’ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุน SET ขึ้นต่อได้
วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2564 น่าจะเติบโต 52% จากฐานต่ำในปี 2563 รวมถึงแรงหนุนจาก Fund Flow ที่น่าจะไหลเข้าต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2564 หลังจาก 7-8 ปีที่ผ่านมา เป็นภาพของการขายหุ้นไทยต่อเนื่อง
ทั้งนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็วกกว่าเศรษฐกิจในไทย ทำให้กลุ่มหุ้นที่น่าจะโดดเด่นในปี 2564 คือ
- ปิโตรเคมี ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน มอง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นหุ้นเด่น
- ธนาคาร หลังจากโดนกดดันไปมากพอสมควร หากเศรษฐกิจฟื้นกลับ การตั้งสำรองจะลดลง ทำให้ตัวเลขกำไรจะดีขึ้น จากการตั้งสำรองลดลงและคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น มองหุ้น บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) เป็นหุ้นที่กำไรจะฟื้นแรงจากการตั้งสำรองที่ลดลง
- กลุ่มไฟแนนซ์ เป็นหุ้นที่โมเมนตัมของกำไรไม่ได้ฟื้นตัวจากฐานต่ำ บางตัวกำไรทำจุดสูงสุดใหม่ได้แล้ว แต่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อได้ ด้วยภาวะดอกเบี้ยที่ยังต่ำ ทำให้ต้นทุนของกลุ่มนี้น่าจะยังต่ำไปอีกอย่างน้อย 1 ปี มอง บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เป็นหุ้นเด่น
ขณะที่ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ มองว่าในเชิงพื้นฐาน ประเมินดัชนี SET ปี 2564 ที่ระดับ 1,500 จุด แต่ด้วยความคาดหวังเรื่องวัคซีนและ Fund Flow อาจหนุนให้ดัชนีไปถึง 1,650 จุด ทั้งนี้ต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 2 หากทำได้ดี Fund Flow น่าจะยังไหลเข้าต่อเนื่อง
สำหรับ 3 หุ้นกลุ่มหลัก ซึ่งกำไรของกลุ่มน่าจะกลับไปสูงเท่ากับปี 2562 (ช่วงก่อนโควิด-19) ได้แก่ 1. กลุ่มพลังงาน 2. กลุ่มปิโตรเคมี และ 3. กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยส่วนใหญ่กำไรจะยังฟื้นตัวกลับไปไม่เท่ากับปี 2562
ปี 2564 ‘ครึ่งปีหลัง’ อาจเด่นกว่าครึ่งปีแรก
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประเมินภาพตลาดหุ้นไทยแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ สำหรับ ‘ครึ่งปีแรก’ การกระจายวัคซีนจะยังทำได้น้อย และมีการแพร่กระจายของโควิด-19 ทำให้หุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) และกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากโควิด-19 ยังคงน่าสนใจ
ทั้งนี้ประเมินเป้าหมายดัชนีครึ่งปีแรกที่ 1,500-1,550 จุด โดยมีหุ้น 3 กลุ่มเด่น คือ 1. หุ้นเวชภัณฑ์และถุงมือยาง 2. หุ้นส่งออก เช่น อาหารและเกษตร และ 3. หุ้นไฟแนนซ์
สำหรับ ‘ครึ่งปีหลัง’ ธีมการลงทุนจะเปลี่ยนไป หลังจากการเปิดประเทศเริ่มทำได้ในวงกว้างมากขึ้นจากการกระจายวัคซีน ทำให้หุ้นกลุ่มวัฏจักรและหุ้นขนาดใหญ่จะเริ่มน่าสนใจ โดย 3 กลุ่มเด่น คือ 1. พลังงานและปิโตรเคมี 2. ธนาคาร และ 3. ท่องเที่ยว ทั้งนี้ประเมินกรอบดัชนีครึ่งปีหลังที่ 1,550-1,600 จุด
เช่นเดียวกับ สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ซึ่งมองว่าธีมการลงทุนปีหน้าคือ ‘Value Play หรือ Vaccine Play’ ทำให้หุ้นที่จะโดดเด่นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มธนาคาร ซึ่งราคาหุ้นส่วนใหญ่ยังคง Laggard มอง บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) เป็นหุ้นเด่น หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรมาเป็นเอกชนเต็มตัว และการลงทุนด้านไอทีมากขึ้น
- กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน จากราคาน้ำมันที่น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากการกระจายวัคซีน มองหุ้นเด่นคือ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ตามค่าการกลั่นที่ฟื้นตัวหลังเริ่มมีการเปิดประเทศ
- กลุ่มท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้า และน่าจะฟื้นเด่นในปี 2564 โดย บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) น่าจะฟื้นตัวได้เร็วสุด เพราะมีธุรกิจโรงแรมในยุโรปราว 50% ซึ่งยุโรปสามารถกระจายวัคซีนได้เร็วกว่าในไทย
นักวิเคราะห์ 8 จาก 10 ราย ชูหุ้น ‘กลุ่มธนาคาร’
จากการสำรวจมุมมองนักวิเคราะห์ในครั้งนี้ 8 จาก 10 ราย มองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในปีหน้า แม้ว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 กลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวได้เด่นกว่าตลาด โดยเพิ่มขึ้นราว 35-40% เทียบกับ SET ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ประกอบกับมูลค่าหุ้นในกลุ่มนี้ที่ยังค่อนข้างต่ำ ด้วยราคาที่ยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value)
ส่วนกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เป็นอีกกลุ่มหุ้นที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นเช่นเดียวกัน
การฟื้นตัวในตลาดหุ้นอาจจะเป็นแบบ K-Shaped
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพของเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นในปี 2564 อาจจะต้องมองแยกกัน และทั้งสองส่วนนี้อาจจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นคือ ‘สภาพคล่อง’
ในปี 2564 เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ซึ่งน่าจะไหลเข้ามาลงทุนในไทย หลังจากที่สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติซึ่งเคยอยู่ในระดับประมาณ 36% ลดลงมาอยู่ที่ 28.6%
โดยเราคาดหวังว่าจะเห็นการหมุนเวียน (rotation) ครั้งใหญ่ จากการลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth) มาสู่หุ้นคุณค่า (Value) อิงจากวิกฤตในอดีตหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อวิกฤตจบลงแล้ว จะเกิดการพักฐานของหุ้นกลุ่มเติบโต อย่าง กลุ่มเทคโนโลยี และเงินลงทุนจะไหลเข้าสู่กลุ่มการเงิน
จากสถิติเมื่อปี 2533 หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาด (Outperform) 12 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนปี 2543 Outperform 13 ไตรมาสติดต่อกัน และเมื่อปี 2551 Outperform 2 ไตรมาสติดต่อกัน และในครั้งนี้ จะเห็นว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารก็เริ่มปรับตัวได้โดดเด่นกว่าภาพรวมตลาดเช่นกัน
“หากธีมการลงทุนเป็นลักษณะของ Value play นักลงทุนก็จะมองหาประเทศที่มีกลุ่มหุ้น Value ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเช่นอินโดนีเซีย, ไทย, สิงคโปร์ มีสัดส่วนหุ้น Value สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินในรอบนี้”
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของกลุ่มหุ้นในปีนี้จะเห็นหุ้นอย่างธนาคาร ขนส่ง โรงแรม ฟื้นตัวได้ดี สวนทางกับหุ้นกลุ่มสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และโรงไฟฟ้า ซึ่งจะ Underperform ตลาด หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่รุนแรงขึ้นอีก แต่หากการระบาดยังคงรุนแรง ภาพจะกลับกันคือ หุ้นในกลุ่ม Growth จะยังคง Outperform ได้ต่อไป
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล