×

สรุปสถานการณ์สื่อมวลชนรอบปี 2566 ‘ปีแห่งการปรับตัวของสื่อ’ กับเหตุ คุกคาม-ขู่ฆ่า-ฟ้องปิดปากนักข่าว

โดย THE STANDARD TEAM
29.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (29 ธันวาคม) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2566 ‘ปีแห่งการปรับตัวของสื่อ’ ระบุว่า 

 

สถานการณ์สื่อมวลชนในปี 2566 ยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ ‘ปรับเปลี่ยน: ปรับตัว’ จากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

 

โดยในปีนี้นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรอบ 9 ปี จากรัฐบาล ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ มาเป็นรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ซึ่งเป็นผลจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทำให้สื่อมวลชนหลายสำนักค่อยๆ ปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์และเฉพาะเจาะจงเพื่อเข้าให้ตรงถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งของตัวเองและโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้และความอยู่รอด 

 

แต่ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าสื่อกระแสหลักยังมีจำนวนน้อยที่รายงานข่าวเชิงสืบสวน เพราะแรงกดดันด้านกำลังคนและการอยู่รอดในทางธุรกิจผ่านเรตติ้ง และจำนวนยอดคนดูและชมผ่านช่องทางต่างๆ

 

กฎหมายสื่อยังไม่ใช่ทางออก

 

แม้ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วจะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาล แต่สุดท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ตกไป โดยไม่ผ่านแม้กระทั่งวาระที่ 1 (วาระรับหลักการ) ด้วยเหตุผลในเรื่องขององค์ประชุมและเสียงที่ไม่เห็นด้วย ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนบางส่วนที่เห็นว่ากฎหมายนี้ยังไม่ใช่หนทางที่จะแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน 

 

อีกทั้งยังไม่ไว้วางใจที่กฎหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอโดยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงอาจมีการแฝงการพยายามที่เข้ามาควบคุมสื่อมวลชนหรือไม่ ทำให้ปัญหาการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน จำเป็นที่จะต้องมีการระดมความเห็นหาแนวทางที่เหมาะสมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

 

การแทรกแซง-ลิดรอนการแสดงความเห็นต่าง

 

บรรยากาศการเริ่มต้นหลัง ‘รัฐบาลใหม่’ ได้เข้ามาบริหารประเทศกว่า 3 เดือนเศษ แต่ก็มีสัญญาณการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนจากรัฐบาล โดยมีพฤติการณ์พยายามห้ามผู้มีความเห็นต่างใช้พื้นที่สื่อรัฐออกรายการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล เช่น กรณี สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการเลือกตั้ง ที่ระบุมีบุคคลโทรศัพท์มานัดหมายขอสัมภาษณ์เรื่องการแจกเงินดิจิทัลผ่านสื่อของรัฐ จากนั้นก็มีโทรศัพท์มาขอยกเลิกการสัมภาษณ์โดยให้เหตุผลว่าผู้ใหญ่ในช่องเห็นว่ารัฐบาลถูกวิจารณ์เรื่องนี้มากแล้ว เกรงว่าจะทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น 

 

หรือในกรณีที่ รศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่จะออกรายการ คุยตามข่าว แต่กลับไม่มีการออกอากาศในประเด็น ทักษิณ: ระเบิดเวลารัฐบาล? เพราะได้รับแจ้งจากผู้บริหารช่องสื่อของรัฐพิจารณาแล้วว่าสุ่มเสี่ยง ทำให้รัฐบาลไม่พึงพอใจจึงสั่งงดออกอากาศ ดังนั้นทั้ง 2 กรณีนี้จึงหมิ่นเหม่ต่อการที่รัฐบาลอาจใช้อำนาจแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้

 

ถูกคุกคามทางวาจา-ทำร้ายร่างกายสื่อ

 

ในปี 2566 ยังมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงการจับขั้วรัฐบาล ทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และในบางครั้งผู้ชุมนุมก็มีการคุกคามทำร้ายร่างกายสื่อมวลชนเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักข่าวถูกกักตัวในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ระหว่างลงพื้นที่รายงานข่าว เป็นต้น 

 

หรือในกรณีที่แหล่งข่าวเปิดโต๊ะแถลงข่าวแล้วถูกตั้งคำถามแล้วไม่พอใจ พาลแสดงกิริยาและคำพูดเหยียดหยามนักข่าว ทั้งที่นักข่าวรายนั้นเพียงทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและรอบด้าน ขณะที่ผู้แถลงข่าวก็มีสิทธิในการตอบคำถามหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละฝ่าย แต่การคุกคามทางวาจาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมกระทบต่อเสรีภาพในการแสวงหาข่าวสารและข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน

 

นักข่าวถูกขู่ฆ่าจากการนำเสนอข่าวสาร

 

เหตุการณ์บรรณาธิการข่าว และบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้น ถูกคนร้ายคุกคามข่มขู่ด้วยการส่งพัสดุมาที่บริษัท โดยภายในกล่องพบภาพของครอบครัวบรรณาธิการข่าว พร้อมกระสุนปืนไม่ทราบขนาด ระบุข้อความข่มขู่ และวันถัดมาคนร้ายก็บุกปาวัตถุคล้ายระเบิด 3 ลูกใส่ภายในบ้านบรรณาธิการบริหาร นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดเพชรบุรี ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ทำร้ายร่างกาย ยึดเอากล้องและโทรศัพท์ไปลบข้อมูลทิ้งทั้งหมด พร้อมข่มขู่จะเอาชีวิตถึงบ้าน และขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ในระหว่างทำข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุบ่อดินถล่มทับคนงานเสียชีวิต 

 

หรือเหตุการณ์นักข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์ถูกตีศีรษะบาดเจ็บสาหัส ปมชนวนเหตุจากการลงพื้นที่ตรวจสอบทำข่าวบ่อนพนัน รวมกรณีนายตำรวจยศ พ.ต.อ. ขู่ยิงนักข่าวหลังโทรศัพท์สัมภาษณ์ตำรวจนายนี้เกี่ยวกับคดีตำรวจทางหลวงถูกยิงเสียชีวิตในงานเลี้ยงสังสรรค์บ้านกำนันนก

 

ตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งหมดนี้มีลักษณะการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และประชาชน จากการข่มขู่คุกคามด้วยวิธีนอกกฎหมาย และจงใจกดดันข่มขู่อันเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อันเป็นการคุกคามทำให้สื่อมวลชนรู้สึกไม่ปลอดภัยในการนำเสนอข่าวสารโดยตรง แทนที่จะใช้วิธีการทางกฎหมาย

 

ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการปกป้องคุ้มครองประชาชน และการใช้สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน เพราะการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนเท่ากับเป็นการคุกคามเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงของประชาชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานานาชาติ พร้อมเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน

 

ฟ้องปิดปากสื่อมวลชนยังคงเกิดขึ้น

 

นอกจากกรณีที่สื่อมวลชนต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง ถูกทำร้าย ก็ยังพบว่าการฟ้องปิดปากสื่อมวลชนยังเป็นอีกวิธีที่ถูกนำมาใช้คุกคามการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในประเด็นความขัดแย้งบนฐานทรัพยากร โครงการพัฒนา และสิทธิแรงงาน โดยมาในรูปแบบการดำเนินคดีจากการเผยแพร่ข่าวเป็นส่วนใหญ่ เช่น สื่อมวลชนถูกฟ้องหมิ่นประมาท พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แม้ว่าล่าสุดศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ถือเป็นความพยายามในการใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ด้วยการฟ้องร้องคดี และขอให้สื่อมวลชนยุติการเสนอข่าว

 

สื่อมวลชนถูกกล่าวหาว่ารับเงินแลกกับการนำเสนอข่าว

 

จากกรณีนายตำรวจท่านหนึ่งระบุว่าให้เงินกับนักข่าว 4 คน ที่ถูกกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ทำให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนไทย จน 3 สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ เป็นประธาน ดำเนินการตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอยังองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อสาธารณะเพื่อเป็นแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม ตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ 

 

โดยตั้งเป้าจะดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเวลา 90 วัน นับแต่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่มีการนัดประชุมนัดแรกวันที่ 7 ธันวาคม 2566 โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายคนมาให้ข้อมูล ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาและสรุปผล พร้อมข้อเสนอต่อ 3 สภาวิชาชีพต่อไป

 

ยืนหยัดเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนและสังคม

 

แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อมวลชนจะทำหน้าที่ภายใต้ภาวะแห่งความยากลำบาก แต่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังคงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนและสังคมต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวได้อย่างเสรีภายใต้กรอบของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าว

 

ด้วยหลักการทำหน้าที่ที่ต้องพึงตระหนักว่า ‘สื่อมวลชน’ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีมาตรฐานทางวิชาชีพในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และมีความสมดุลบนพื้นฐานของความเป็นจริง ด้วยความรับผิดชอบต่อสิทธิส่วนบุคคล ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และประโยชน์สาธารณะตามที่ระบุในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล         

 

จากสถานการณ์สื่อในปี 2566 ดังกล่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนร่วมวิชาชีพยืนหยัดต่อสู้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ของความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ ที่มีหน้าที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลเพื่อประชาชนส่วนรวม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย และจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างมั่นคงแน่วแน่ต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X