นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่อาจใกล้ถึงจุดสูงสุดหรือสิ้นสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งอาจเกิดช่วงเว้นว่างก่อนที่แต่ละประเทศจะปรับไปใช้นโยบายการเงินคลายตัว หรือก็คือการกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้ง
หลังเกิดสัญญาณแรกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ในขณะนี้ และผลพวงจากความตึงเครียดในตลาดการเงินที่ยืดเยื้อ เกิดการทำนายว่า Fed อาจประกาศหยุดการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวหลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจทำให้เห็นการพลิกตัวของเศรษฐกิจที่มีความก้าวร้าวที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’
- คาด Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้มองเห็นความผิดปกติในตลาดได้ชัดเจน
ธนาคารกลางยุโรปและประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงอาจขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่อื่นและอาจถึงขั้นต้องการคงการใช้นโยบายที่เข้มงวด อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จะเป็นสัญญาณสำคัญที่สุดต่อนโยบายการเงินทั่วโลก
ในบราซิลหรืออินโดนีเซีย แนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจเริ่มต้นภายในปีนี้ มีการคาดการณ์ว่าทางการอย่างน้อย 20 แห่งจากทั้งหมด 23 แห่งที่ติดตามโดย Bloomberg จะลดต้นทุนการกู้ยืมในปี 2024
จากการคำนวณของ Bloomberg Economics คาดว่าจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 6% ในไตรมาสที่ 3 และภายในสิ้นปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงเหลือ 4.9%
จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นอาจโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ภายใต้ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่อย่าง คาซุโอะ อุเอดะ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก และคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงปีหน้า
กลุ่มประเทศ G7
สหรัฐฯ: Fed น่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในภายหลังแม้จะมีความตึงเครียดจากภาคธนาคารเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยที่ชะลอการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมเช่นกัน โดย Fed คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะถึงจุดพีคที่ 5.1% ในปีนี้ หมายความว่าจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ภายในปี 2023
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 5.25%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 4.25%
ยุโรป: ECB กำลังส่งสัญญาณว่าช่วงเวลาของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่รุนแรงที่สุดอาจใกล้จะถึงบทสรุปแล้ว แม้จะมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่บ้าง เพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ทำลายสถิติใหม่อีกครั้งในเดือนมีนาคม แต่ระดับราคาที่กำลังกลับสู่เป้าหมาย ณ 2% อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3.5% นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมสิ้นสุดลง
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 3.5%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 2.5%
ญี่ปุ่น: จนถึงตอนนี้ คาซุโอะ อุเอดะ ยังคงมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามตลาดกำลังจับตามองว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนของ BOJ หรือไม่และเมื่อใด ซึ่ง Bloomberg ยังคงมองว่า “เป็นการยากที่ BOJ จะปรับเปลี่ยนนโยบายในปีนี้”
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ -0.1%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 0%
อังกฤษ: อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึงทำให้นักวิเคราะห์เสียงแตกกันว่าธนาคารกลางอังกฤษจะดำเนินมาตรการคุมเข้มทางการเงินต่อไปหรือไม่ ตลาดคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 จุด ในไตรมาสสุดท้ายเป็น 4.5% นั้นมีแนวโน้มมากกว่าภายในกลางปี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายรายไม่เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอีกแล้วในปีนี้
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 4.25%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 3.5%
แคนาดา: ธนาคารกลางของแคนาดาประกาศในเดือนมกราคมว่ามีแผนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.5% สำหรับปีนี้ และอาจมีการหยุดชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเหลือ 3% ภายในกลางปีนี้ และตั้งเป้ากลับสู่เป้าหมาย 2%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 4.5%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 3%
กลุ่มประเทศ BRICS
จีน: เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวหลังการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และทางการจีนยังส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แทนที่จะใช้เครื่องมือทางอัตราดอกเบี้ย PBOC กำลังใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น อัตราส่วนสำรองขั้นต่ำซึ่งลดลงในเดือนมีนาคม เพื่อช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อและการเติบโตของเศรษฐกิจ ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีนอย่าง อี้กัง ระบุว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความเหมาะสม และธนาคารกลางจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ท่วมระบบจนเกินไป
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 2.55%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 2.45%
อินเดีย: ธนาคารกลางอินเดียร่วมกับธนาคารกลางบางแห่งในภูมิภาคนี้ เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ในการหยุดการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และเมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานทางการเงินยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อประเมินผลกระทบสะสมของการขึ้น 250 bps ในต้นทุนการกู้ยืม ตราบใดที่การเติบโตของประเทศยังชะลอตัวและความท้าทายใหม่ๆ สำหรับเศรษฐกิจโลก
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 6.5%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 5.5%
บราซิล: ปัจจุบันธนาคารกลางบราซิลยังไม่ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันแรงกดดันทางการเมืองที่รุนแรงสำหรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ในขณะที่หลายฝ่ายประท้วงว่าต้นทุนการกู้ยืมกำลังกลืนกินบราซิลอย่างเห็นได้ชัด ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 13.75% ตลอดการประชุม 5 ครั้งล่าสุด แผนการสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลอาจช่วยให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสเสียก่อน
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 12%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 9%
รัสเซีย: ธนาคารกลางรัสเซียมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกันยายนไว้ที่ 7.5% แต่ก็มีแนวโน้มปรับขึ้นหากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเริ่มปรากฏ ความเสี่ยงของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นสร้างความไม่แน่นอนต่อการคาดการณ์ของตลาด แม้ว่าหลายฝ่ายแนะนำว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงเดิมในไตรมาสนี้ แต่ธนาคารหลายแห่งรวมถึง UBS และ Goldman Sachs เห็นว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 7.5%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 7.5%
แอฟริกาใต้: ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องในเดือนมีนาคม ธนาคารกลางแอฟริกาใต้อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยหลักไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับไปอยู่ที่ 4.5% ได้เร็วแค่ไหน โดยธนาคารกลางปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เป็น 6% จาก 5.4%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 7.25%
- คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 ที่ 6.75%
อ้างอิง: