×

สรุปประชุมผู้นำอาเซียน ชูแผนวิสัยทัศน์ 2045 กับบทบาทลดความขัดแย้งในวิกฤตเมียนมา-ทะเลจีนใต้

11.10.2024
  • LOADING...

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44-45 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม มีขึ้นท่ามกลางการจับตามองถึง ‘ผลลัพธ์’ และ ‘ทิศทาง’ ในการขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียน

 

โดยปีนี้วิกฤตขัดแย้งในเมียนมาและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กลายเป็นประเด็นใหญ่ของที่ประชุม ซึ่งอาเซียนวางบทบาทของตนเองไว้ชัดเจนในฐานะ ‘ผู้รักษาเสถียรภาพ’ ในความขัดแย้งต่างๆ

 

ขณะที่ภารกิจสำคัญสำหรับอนาคตของภูมิภาค คือการเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 (ASEAN Community Vision 2045) ซึ่งจะกำหนดทิศทางของอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

และนี่คือสรุปสาระสำคัญของการประชุมผู้นำอาเซียน ที่จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความตึงเครียด

 

วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045

 

ในปฏิญญาผู้นำอาเซียน ว่าด้วยการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 เน้นย้ำความสำคัญในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเสาหลักทั้ง 3 ของประชาคมอาเซียน คือ

 

  • ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community: APSC)
  • ประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community: AEC)
  • ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

 

ขณะที่ยังมุ่งเน้นความเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 จะเป็นประโยชน์ และเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนในอาเซียน โดยยึดแนวคิดหลักคือ ‘ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ มีพลวัต และมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง’

 

ในการนำเอาวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 ไปปฏิบัติอย่างเห็นผลนั้น ที่ประชุมอาเซียนเห็นพ้องให้มีการตั้งคณะทำงานถึง 4 กลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วม ได้แก่

 

  • คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2025 (ASEAN Community’s Post-2025 Vision: HLTF-ACV)
  • คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจอาเซียน (High-Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF-EI)
  • คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2025 (Ad Hoc Working Group on Development of ASCC Post-2025 Strategic Plan)
  • คณะกรรมาธิการประสานงานการเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity Coordinating Committee: ACCC)

 

โดยคณะทำงานทั้ง 4 กลุ่ม จะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าแผนยุทธศาสตร์สู่วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 จะถูกนำไปปฏิบัติได้ทัน ก่อนที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 46 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ในปี 2025

 

คงแผนฉันทมติ 5 ข้อ แก้วิกฤตเมียนมา

 

วิกฤตขัดแย้งและการสู้รบในเมียนมายังคงเป็นประเด็นหลักของการหารือในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ โดยยังเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลทหารเมียนมาส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ ออง จอ โม (Aung Kyaw Moe) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม

 

ในระหว่างการประชุม ผู้นำหลายชาติสมาชิกอาเซียนได้แสดงท่าทีกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสู้รบที่ยืดเยื้อ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021

 

ขณะที่ปฏิญญาร่วมเกี่ยวกับการพิจารณาและดำเนินการตามแผนฉันทมติ 5 ข้อ เพื่อยุติความขัดแย้งในเมียนมา แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมาที่ตึงเครียดมากขึ้น

 

โดยผู้นำอาเซียนได้แสดงท่าทีประณามความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นว่า ‘ไม่เพียงพออย่างมาก’ พร้อมทั้งประณามการโจมตีพลเรือน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ‘ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อยุติความรุนแรงอย่างไม่เลือกปฏิบัติในทันที’

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมอาเซียนยังเห็นพ้องให้ ‘คงแผนฉันทมติ 5 ข้อ ไว้เป็นแนวทางหลักในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา’ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ‘การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยครอบคลุมและยั่งยืน’

 

เนื้อหาของแผนฉันทมติ 5 ข้อ ที่กำหนดขึ้นตั้งแต่การประชุมวาระพิเศษที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน 2021 เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการเจรจาที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึง ‘ทุกฝ่าย’ ในความขัดแย้งของเมียนมา

 

อย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหานั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ยอมรับว่า แม้อาเซียนจะมีแผนฉันทมติ 5 ข้อ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขวิกฤตขัดแย้งในเมียนมาได้จริง

 

สำหรับไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ก็มีความพยายามแสดงบทบาทและท่าทีต่อวิกฤตขัดแย้งในเมียนมาระหว่างการประชุมอาเซียนครั้งนี้

 

โดย มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยระหว่างการประชุมว่า ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องเมียนมา (Extended Informal Consultation) ในช่วงกลางเดือนธันวาคมของปีนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน

 

ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในการร่วมประชุมระดับผู้นำว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากสปป.ลาว และประเทศสมาชิก ที่มองว่าเป็นข้อริเริ่มที่ดี โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานใกล้ชิดเกี่ยวกับรายละเอียดในการจัดการประชุม

 

ผลักดันเจรจาข้อพิพาททะเลจีนใต้

 

การประชุมอาเซียนครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ที่ตึงเครียดมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเรือของจีนและฟิลิปปินส์หลายครั้ง

 

ระหว่างการประชุมมีการแสดงท่าทีจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ที่เรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนและ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ที่ไปร่วมการประชุม ให้เร่งจัดการเจรจาเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ขณะที่ย้ำข้อกล่าวหาต่อจีนว่ามีท่าทีคุกคามและข่มขู่ฟิลิปปินส์

 

“เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สถานการณ์โดยรวมในทะเลจีนใต้ยังคงตึงเครียดและไม่เปลี่ยนแปลง เรายังคงถูกคุกคามและข่มขู่ต่อไป” มาร์กอสกล่าว

 

ขณะที่หลี่แถลงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ นอกเหนือจากประเทศในอาเซียน ให้เคารพและสนับสนุนความพยายามสร้างสันติภาพของจีนในทะเลจีนใต้ และมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ไม่มีการระบุชื่อประเทศใดอย่างชัดเจน

 

ด้าน เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน กล่าวว่า อาเซียนกำลังผลักดันให้มีการเจรจาและใช้ช่องทางการทูตในการแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ขณะที่ยืนยันบทบาทของอาเซียนในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพ

 

การแข่งขันจีน-สหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน แอนโทนี บลิงเคน ที่เดินทางไปร่วมการประชุมอาเซียน-เอเชียตะวันออก แสดงความกังวลต่อท่าทีที่เป็นอันตรายและขัดต่อกฎหมายของจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก พร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ สนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและเสรีภาพในการบินเหนือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

 

ทางด้านหลี่เฉียงกล่าวโดยอ้อมถึงสหรัฐฯ ในการประชุมผู้นำอาเซียนบวกสามวานนี้ (10 ตุลาคม) ว่า “ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแทรกแซงของต่างชาติ ที่ถึงกับพยายามนำการเผชิญหน้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาในเอเชีย

 

“เอเชียได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคมและการรุกรานในยุคสมัยใหม่ แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาภูมิภาคของเรายังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะประเทศในเอเชียได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีต และพยายามที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” เขากล่าว

 

ภาพ: Athit Perawongmetha / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising