×

สรุปประเด็นผลกระทบต่อไทย กรณีเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ ค่าระวางเรือจ่อพุ่ง สินค้าเกษตรอาจเสียหายหนัก

28.03.2021
  • LOADING...
สรุปประเด็นผลกระทบต่อไทย กรณีเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ ค่าระวางเรือจ่อพุ่ง สินค้าเกษตรอาจเสียหายหนัก

อีกไม่กี่วันก็จะครบ 1 สัปดาห์เต็มที่เรือขนส่งสินค้า Ever Given ของบริษัท เอเวอร์กรีน มารีน เสียการทรงตัวขึ้นเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ทำให้การเดินเรือผ่านเส้นทางนั้น ณ เวลานี้ชะงักโดยสิ้นเชิง 

 

คลองสุเอซนอกจากเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่เป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปกับเอเชีย โดยไม่ต้องไปอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางลงได้ถึง 6 พันกิโลเมตร หรือประมาณ 10-15 วัน เส้นทางนี้ยังถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญเส้นทางหนึ่งของโลกด้วย โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ราวๆ 12% ซึ่งในปี 2020 คลองสุเอซมีเรือคาร์โกสินค้าขนผ่านประมาณ 19,000 ลำ หรือเฉลี่ยต่อวันที่ 52 ลำ

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า คลองสุเอซถือเป็นเส้นทางขนส่งจากเอเชียไปยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดถึง 40% และคลองสุเอซยังเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงแก๊สธรรมชาติและน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนราว 5-10% ของการขนส่งทั้งโลก หากอ้อมไปทางแอฟริกาก็ต้องใช้เวลาขนส่งนานขึ้นกว่า 7 วัน

 

สำหรับผลกระทบในภาพรวมประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับผลกระทบโดยราคาปรับเพิ่มขึ้นเพราะการขนส่งที่หยุดชะงักทำให้อุปทานน้ำมันดิบลดลง เช่นเดียวกับการขนส่งอาหารสดที่จะได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงสินค้าเกษตรต่างๆ ที่อาจเน่าเสีย 

 

นอกจากนี้ราคาค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเดิมจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งที่ทำให้ค่าบริการภายในประเทศ และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มปรับตัวขึ้นในอัตราสูง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% และสายเดินเรือที่ไปสหรัฐฯ ปรับขึ้นมากกว่า 3 เท่า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยโดยเฉพาะเกษตรและอาหาร 

 

ผลกระทบการส่งสินค้าไทยไปยังแอฟริกา กลุ่มอาหารแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์หนัก

การส่งออกไปแอฟริกาโดยเฉพาะอียิปต์ที่เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ ในแอฟริกาเหนือและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เบื้องต้นน่าจะกระทบกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการส่งมอบในเดือนมีนาคม 2564 ที่เกิดการติดขัดและล่าช้า โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของการส่งออกของไทยไปอียิปต์

 

ส่วนการส่งออกเดือนเมษายนน่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ซื้ออาจชะลอคำสั่งซื้อออกไปก่อน เพื่อรอดูผลการเริ่มใช้งานระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (Advance Cargo Information System: ACI) ที่รัฐบาลอียิปต์ประกาศเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่จะถึงนี้ เพราะหลายฝ่ายยังไม่แน่ใจเกี่ยวแนวทางการปฏิบัติและวิธีในการส่งเอกสาร ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ส่งออก/ชิปปิ้งไทยที่จะต้องส่งเอกสารผ่านระบบบล็อกเชนแทนการส่งผ่าน Courier Service ในรูปแบบเดิมๆ

 

ผลกระทบสินค้าไปยังยุโรป สินค้าเกษตรสัดส่วน 13% จ่อเสียหายจากการเน่าเสีย

ทางด้านการส่งออกไปทวีปยุโรปในปี 2564 ไทยส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปราว 20.53 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 8.96% ของการส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นสินค้าเกษตรราว 13.15% สินค้าอุตสาหกรรม 86.85% 

 

ในส่วนของสินค้าเกษตรที่ส่งออกไป ที่ส่งออกไปมาก เช่น เครื่องในไก่ อาหารสัตว์ ข้าว ซอสปรุงรส เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ปลาทูน่าชิ้น กุ้งแช่แข็ง ผักและผลไม้ เป็นต้น จึงคาดว่าสินค้าเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงการเน่าเสียได้

 

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศ รอบส่งเดือนมีนาคมการส่งมอบอาจล่าช้า ส่วนรอบเดือนเมษายน คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งมอบที่ล่าช้าเช่นกัน แต่มีแนวโน้มว่าผู้ส่งสินค้าอาจเปลี่ยนเส้นทางขนส่งโดยอ้อมแหลมกู๊ดโฮป

 

สำหรับข้อเสนอแนะ ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ผู้ส่งออกที่มี Shipment ที่จะต้องผ่านคลองสุเอซในช่วงนี้ เร่งประสานผู้นำเข้า/ชิปปิ้งปลายทางเพื่อแจ้งสถานการณ์และประเมินแผนรองรับสำหรับสินค้าที่จะต้องส่งมอบล่าช้าออกไป เพื่อร่วมหาแนวทางรองรับกับผู้นำเข้า

 

นอกจากนี้แม้ว่าในที่สุดจะเคลื่อนย้ายเรือที่ขวางอยู่ออกไปได้ แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการเคลียร์สินค้าที่ตกค้างอยู่ปริมาณมากในช่วงที่ไม่สามารถขนส่งได้ปกติ ดังนั้นการขนส่งหลังจากช่วงนี้ผู้ส่งออกจำเป็นต้องหารือกับสายเรือถึงเส้นทางที่มีความเป็นไปได้เพื่อเลี่ยงการขนส่งผ่านคลองสุเอซที่ยังคงต้องเร่งเคลียร์ปริมาณเรือสินค้าที่ตกค้างอยู่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X