ร้าน Thanwaa ซอยลาดพร้าว 94 จัดมินิคอนเสิร์ต R.I.P. & Repeat Talk และ R.I.P. & Repeat Mini Concert ระหว่างวันที่ 11-26 ธันวาคม โดยทางร้านระบุว่าจะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากค่าบัตรเข้าชมไปสมทบศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน Thai Lawyers for Human Rights (TLHR) สำหรับงานวันแรก (11 ธันวาคม) นอกจากมีมินิคอนเสิร์ตแล้ว ยังมีการเสวนาหัวข้อ ‘นักโทษทางความคิด’ วิทยากรประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, อินทิรา เจริญปุระ และ ธัชพงศ์ แกดำ ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์
– นักสู้ ไม่ใช่ นักโทษ
ณัฐวุฒิกล่าวถึงประสบการณ์ในเรือนจำว่า ได้ทำแฮตทริกติดคุกมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว เจอกับขบวนการนักต่อสู้รุ่นปัจจุบันเกือบ 20 คน นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งในกลุ่มนี้มีไผ่คนเดียวที่เคยติดคุกมาก่อน ระหว่างช่วยดูแลเรื่องอาหารในเรือนจำก็พบว่าบางคนในกลุ่มเริ่มซึมลง เห็นอาการนักต่อสู้เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้วมีผลกระทบทางจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก เมื่อมีโอกาสได้คุยจังหวะหนึ่งจึงบอกพวกเขาว่า ที่พวกเขามาเรือนจำวันนี้ไม่ใช่นักโทษ แต่เป็นนักสู้ ฉะนั้นต้องยืดอกขึ้น ต้องเชิดหน้าขึ้น การถูกขังในฐานะนักสู้ หมายถึงการได้แบกเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนข้างนอกเข้ามาด้วย มันหมายถึงการต้องแสดงให้คนในนี้ได้เห็นว่า คนที่ปากกล้าอยู่ข้างนอก เมื่อถูกขังก็ยังคงทรนงองอาจ ไม่อย่างนั้นจะถูกปรามาสว่า มวลชนที่อยู่ข้างนอกแท้จริงแล้วได้เดินตามขบวนแกนนำที่เข่าอ่อนทุกคนเวลาอยู่หลังลูกกรงในห้องขัง
ได้บอกเขาว่าในเรือนจำ ถ้าหัวใจพร้อม ร่างกายก็ต้องแกร่งด้วย ดังนั้นถ้าใครเริ่มอ่อนเพลียไม่สบายต้องออกกำลัง อย่าอ่อนแอให้ใครเห็น แล้วพวกเขาก็ผ่านไปได้ ไม่ได้เข้มแข็งเพราะสิ่งที่ไปพูดกับเขา แต่เขาเข้มแข็งตั้งแต่ต้นที่ออกมาสู้ เพียงแต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ถูกยัดเยียดให้นักสู้กลายเป็นนักโทษ
“ผมจึงบอกนักต่อสู้ทางการเมืองทุกคน คุณอย่าไปรับสถานะนักโทษจากอำนาจรัฐอยุติธรรมและความฉ้อฉลในกระบวนการแบบนี้เด็ดขาด คุณต้องยืนหยัดทรนงองอาจว่าเป็นนักสู้ จะไล่ฆ่าก็สู้ จะขังก็สู้ จะไม่ปล่อยก็สู้ และปล่อยออกมาก็ยังสู้ เพราะคุณเป็นนักสู้ไม่ใช่นักโทษ
ทีนี้คำว่า ความคิด เป็นคำที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ ในการที่จะผลักดันมนุษย์ให้ออกมาทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ให้ออกมายืนหยัดหรือเพิกเฉยต่อสิ่งใดก็ได้ มันเกิดจากความคิด แต่ในระดับของความคิด มันจะไม่มีความแรงกล้าแหลมคมมากพอที่จะเผชิญอะไรหนักยิ่งขึ้น ถ้าหากคำว่าความคิดนั้นมันไม่ได้หยั่งรากลึกไปถึงอุดมการณ์ ไปถึงจิตวิญญาณ การที่ขังคนหนุ่มสาวทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความคิดเติบกล้ากลายเป็นจิตวิญญาณ ผมเชื่อว่าหลายคนทั้งที่อยู่ข้างในและอยู่ข้างนอก ไปถึงตรงนั้นแล้ว”
ณัฐวุฒิกล่าวว่า รัฐใดก็ตามที่มีปฏิบัติการไล่จับไล่ขังคนวัยหนุ่มสาวที่แสดงออกถึงความคิดของตัวเอง เรียกร้องสังคมที่ตัวเองอยากเห็น และอนาคตที่ตัวเองต้องการ โดยรัฐไม่เกิดการเรียนรู้ทำความเข้าใจ รัฐนั้นกำลังเดินสู่กับดักของอันตราย อันตรายทั้งกับประชาชนและผู้มีอำนาจ
สภาพรัฐวันนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่วันหนึ่งอาจใช้กำลังปราบปรามประชาชน สิ่งที่เป็นอยู่วันนี้ไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าจะไม่ไปถึงจุดที่จะมีการใช้กำลังแบบนั้น ในทางกลับกัน เป็นกับดักอันตรายของฝ่ายผู้มีอำนาจด้วย เพราะว่าอำนาจรัฐที่ตึงตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่รับความเปลี่ยนแปลงปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง และใช้ทุกสรรพกำลัง ทุกทรัพยากรที่มีเพื่อเผชิญหน้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกรากแหลมคมนี้ นานไปยากที่จะต้านทานไหว
ตั้งแต่ออกจากคุกมารอบนี้ สังเกตความคิดคนที่ได้คุยรุ่นอายุ 18-20 ปี ทั้งอยู่ในขบวนการต่อสู้และไม่ได้ออกมาเดินถนนชูสามนิ้ว พบว่าพวกเขาคิดไปในทางเดียวกันมีเพดานความคิดที่ขยับเป็นจังหวะเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ แล้วอันนี้ใครก็ไปขวางไม่ได้ ใครก็ไปแจ้งข้อหาไม่ได้ ไปจับขังไม่ได้เพราะเป็นเพดานความคิด ไม่มีอำนาจไหนที่จะขัดขวางเพดานความคิดคน
“เราปฏิเสธคำว่านักโทษ เพราะเราคือนักสู้ ส่วนคำว่าความคิด ทรนงองอาจไว้ เขาไม่มีปัญญาขังความคิดได้”
– สิ่งที่คิดไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ต้อง Self Censor
อินทิรากล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างนอกเหนือจากสิ่งที่ณัฐวุฒิบอกเรื่องการใช้กำลังปราบปรามประชาชน ส่วนตัวมองว่าอีกเรื่องคือ Self Censor คือเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดมันผิดหรือไม่ มาถูกทางหรือไม่ ทำไมเหมือนการที่เราเป็นเรามันผิดมาก วงการบันเทิงไม่รู้ประเทศอื่นเป็นขนาดไหน แต่การที่เราเป็นเรามาตลอด โดนตั้งคำถามบ่อยจนเหมือนว่า การเป็นนักแสดงที่เราเป็น คนให้ความสำคัญกับฝีมือการแสดงน้อยกว่าวิธีคิดว่าเราถูกต้องตามที่เขาต้องการหรือเปล่า เมื่อไปถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องบอกตัวเองว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้อง Self Censor สิ่งที่เราคิดไม่ได้เป็นภัยถึงขนาดแค่พูดก็ไม่ได้ แค่คิดก็ไม่ได้ มาเอาผิดเอาโทษอย่างรุนแรงเป็นเรื่องไม่ปกติ
หลายครั้งที่เห็นน้องๆ รวมถึงตัวเองไปนั่งอยู่ใต้ถุนศาลก็คิดว่า เราไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนเราไม่ได้อยู่ดี เพียงแต่เป็นเรื่องจุกจิกกวนใจทำให้ไม่สบายใจเท่านั้น ไม่ว่าจะแสดงออกอย่างไรความคิดแบบนี้เริ่มขึ้นมาแล้ว ใครที่รู้สึกต้อง Self Censor ตัวเอง ไม่มีที่ให้พูด จริงๆ ก็ไม่เป็นไรที่จะไม่มีคนพูดด้วย แต่ขอให้เชื่อว่ามีคนคิดแบบนี้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ
มนุษย์ไม่ได้เกิดมาด้วยความคิดเดียว แต่ถูกประกอบจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด การ Self Censor เป็นสิ่งที่ไม่ควร แม้บางคนพยายามไปผูกกับเรื่องมารยาทว่า พูดแบบนี้ไม่น่ารัก แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นคนละเรื่องกับมารยาท เพราะแต่ละคนมีสไตล์แตกต่างกัน ไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ละคนมีวิธีแสดงออกทางความคิดของตัวเอง ไม่อยากให้รู้สึกว่าสิ่งที่คิดเป็นเรื่องผิด เราไม่เชื่อว่าโลกจะฝืนธรรมชาติไปได้ วันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงต้องเกิด ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว สำหรับน้องบางคนรู้สึกว่าช้า ก็อยากให้มองย้อนกลับไปปี 2553 วันที่มีการ Big Cleaning Day สังคมพร้อมจะลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลืมว่ามีคนตาย วันนั้นไม่มีทางเชื่อว่า ต่อมาจะมีคนพูดถึงคนเสื้อแดง พูดถึงบทกวีณัฐวุฒิ แต่วันนี้เหตุการณ์ปี 2553 ได้รับการพูดถึง นี่คือกระแสความคิดที่ต้องยอมรับ
– นักโทษทางความคิด ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย
ธัชพงศ์กล่าวว่า นักโทษทางความคิดเพียงแต่คิดต่าง ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้บอกให้ไปฆ่าใครตาย รัฐไม่มีสิทธิจะจับกุม ไม่มีสิทธิเอากฎหมายมาบังคับ โดยหลักสากลต้องปล่อยตัวทันที ไม่มีเงื่อนไข แต่รัฐพยายามบอกว่าพวกเราเป็นนักโทษทางการเมือง โดยบอกว่าพวกเรายุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ เขาจึงพยายามทำให้เราเป็นนักโทษทางการเมืองแล้วถูกขัง แต่เราต้องเรียกร้องให้การดำเนินคดีเป็นธรรม ไม่ใช่เรามีสิทธิประกันแต่ไม่ให้สิทธิประกัน เราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรม
เราไม่ได้บอกว่าต้องฆ่าคนคิดต่าง แต่มีคนอีกกลุ่มที่พยายามจะบอกว่าคนคิดต่างสมควรตาย พวกเราถูกกระทำมาโดยตลอด บางคนบอกว่าพวกเราเวลาติดคุกแล้วเป็นอภิสิทธิ์ชน เรื่องนี้อยากสะท้อนว่า นักโทษทางความคิดในเรือนจำทำงานทางความคิด ช่วยเหลือนักโทษคดีอื่นๆ ด้านสวัสดิการ เราแบ่งของกินให้ และเรียกร้องสวัสดิการให้นักโทษคนอื่นๆ รัฐบาลพยายามบอกว่าพวกเราคือนักโทษทางการเมือง
ธัชพงศ์กล่าวด้วยว่า ทุกการต่อสู้ของเราที่อยู่ในเรือนจำ เป็นการต่อสู้ทางความคิด แค่คิดต่าง เหตุที่เราต้องเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อน เพราะโดยหลักการแล้วไม่ควรมีนักโทษทางความคิดในประเทศนี้ที่บอกว่าเป็นประเทศเจริญแล้ว สังคมไทยถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ่าน เราไม่ผิดที่จะคิดเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดี แต่คนที่กำลังสูญเสียพื้นที่ในประเทศนี้ คนที่กำลังจะสูญเสียการผูกขาด เขารับไม่ได้ ซึ่งเวลาจะลงโทษเขาเอง ถ้าไม่โดนเวลาลงโทษ ก็จะถูกเวลาทอดทิ้ง
ระหว่างติดคุก เวลาได้ข่าวว่ามีกิจกรรมยืน หยุด ขัง ที่คนข้างนอกจัดกิจกรรมนี้ขึ้น ก็เป็นกำลังใจให้คนในคุกได้มาก อุ่นใจทุกครั้งที่ได้ยิน ดังนั้นทุกวิธีการต่อสู้มีความหมาย มีคุณค่าต่อการไปถึงเป้าหมาย ต้องเคารพทุกกลุ่มที่มีวิธีการแตกต่างกัน
– เรือนจำหลักสี่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกยกเลิกในรัฐบาลประยุทธ์
ณัฐวุฒิกล่าวว่า ในการต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมจะมีปรากฏการณ์นักโทษทางความคิดหรือนักโทษการเมืองเต็มคุกอยู่เสมอ คุกจะมีไว้ขังคนที่คิดไม่เหมือนรัฐในห้วงเวลาที่สังคมอยู่ในโค้งสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่เราจะเพิกเฉยไม่ได้ ในห้วงเวลาแบบนี้ รัฐที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับประชาชนจะปฏิบัติกับประชาชนผู้ถูกจำขังด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองแบบหนึ่ง แต่รัฐที่อยู่ตรงข้ามกับประชาชนจะปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง
ยกตัวอย่างในรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการออกคำสั่งโดยกระทรวงยุติธรรมให้มีการจัดตั้งที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังในคดีที่เกิดจากเหตุจูงใจทางการเมือง นั่นก็คือ เรือนจำหลักสี่ เขาเอาผู้ต้องขังที่ถูกจำขังจากคดีความทางการเมืองทั่วประเทศมารวมกันไว้ที่นั่น มีผู้คุมจากราชทัณฑ์ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากำกับดูแล ญาติสามารถเยี่ยมติดต่อธุระตรงนั้น ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากเรือนจำทั่วไป ไม่ใช่ว่าอยู่สะดวกสบาย แต่คนที่มีความคิดทางการเมืองได้มาอยู่รวมกัน ไม่ไปปะปนกับนักโทษคดีอาญาอื่น แล้วการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติเสมือนหนึ่งว่า คนเหล่านี้ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง แม้บางรายจะต้องคำพิพากษาศาลลงมาแล้วก็ตาม แต่เป็นคดีที่เกิดจากเหตุจูงใจทางการเมือง
หลังการรัฐประหาร 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีคำสั่งยกเลิกเรือนจำหลักสี่ดังกล่าว แล้วหลังจากนั้นผู้ต้องขังที่ถูกจำขังจากเหตุจูงใจทางการเมืองจึงถูกเอาไปไว้ในเรือนจำปกติอีกครั้ง ทั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เกิดคดีความ มีการปฏิบัติเหมือนกับนักโทษคดีอาญาทั่วไป
“ผมในฐานะที่ผ่านการติดคุก ไม่ได้เรียกร้องอภิสิทธิ์ให้ผู้ต้องขังทางการเมือง เหตุเพราะถ้าเราไปดูสภาพความเป็นอยู่ผู้ต้องขังในคดีอื่นก็หนักหนาและน่าเห็นใจ เป็นแต่เพียงว่า คนที่ถูกจับเข้าไป คนเหล่านี้ศาลยังไม่พิพากษา และคนเหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลย ไม่ได้ลัก วิ่ง ชิง ปล้น เข่นฆ่า ไม่ได้มีคดีอาญาอื่นนอกเหนือจากการแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมือง การแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมือง ที่สำคัญคือไม่เหมือนกับที่รัฐต้องการ ดังนั้น แม้ว่าเราจะเรียกร้องใดๆ ก็ตาม ก็เป็นเรื่องต้องทำ แต่ขอให้เข้าใจว่า ยากเหลือเกินที่จะได้รับการตอบสนอง
การจับกุมคุมขังการปฏิบัติกับผู้ต้องขังทางการเมืองที่แม้ว่าคดียังไม่ถึงที่สุดก็ยังจะคงเป็นเช่นนี้ ดังนั้น ผมจึงอยากเสนอความเห็นให้ปลดปล่อยความคิดตัวเองให้มีอิสระเสรีในบ้านเมืองที่เสรีภาพของประชาชนมีจำกัด
แต่การกระทำหรือการปฏิบัติต้องผ่านการคัดกรอง เพราะสถานการณ์แบบนี้คิดได้เต็มที่ แต่อย่าไปทำเท่าคิด เหตุผลเพราะถ้าเป็นแบบนั้น เราจะทำอยู่ไม่ได้นาน เขาจะเป็นฝ่ายกระทำต่อเราตามที่เขาคิด รักษาความคิดเสรีไว้แล้วให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างรัดกุมตรงกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และยึดหลักความปลอดภัยของตัวเองกับมวลชน
เราออกมาสู้ เราอยากจะชนะพรุ่งนี้ บางคนเถียงว่าอยากจะชนะเดี๋ยวนี้ เรารู้สึกแบบนี้ได้ แต่อย่าเอาความรู้สึกแบบนี้มามีอิทธิพลเหนือความคิดแล้วไปทำในสิ่งที่เข้าเหลี่ยมที่เขาต้องการ วันนี้ถ้าทำอะไรให้เขาขังเพิ่ม เขาก็จะขังเพิ่ม ไม่ได้หมายความว่ามีเสียงเรียกร้องให้ปล่อย มีการทวงถามเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วเขาจะสะดุ้ง เพราะเขาขังได้เขาจะขังอีก ไม่ได้บอกว่าน้องๆ ที่อยู่ข้างในไปทำให้เขาขังง่ายๆ แต่น้องๆ ทำเยอะจนเขาคิดว่าเขาปล่อยยาก
วิธีคิดวันนี้ต้องเชื่อให้ได้ว่านี่คือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร บางคนบอกมาราธอนแต่สับเท้าเหมือนร้อยเมตร ถ้าสับร้อยเมตรในที่สุดจะล้มลงกลางทาง ดังนั้น การอดทนรอคอย การมีสมาธิรักษาความมุ่งมั่นกับการต่อสู้จะเป็นการพิสูจน์เช่นกัน
ณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า ในฐานะคนเสื้อแดงขอขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่ยังสู้อยู่และเรียกหาคนเสื้อแดง แสดงออกว่าเข้าใจคนเสื้อแดง เห็นใจคนเสื้อแดง ส่วนตัวรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณการต่อสู้ของคนรุ่นนี้ เพราะเป็นแกนนำที่ไม่มีปัญญาเอาเกียรติยศมาให้คนเสื้อแดงเหมือนที่คนรุ่นใหม่หยิบยื่นให้ เราผ่านความเจ็บปวดเหล่านี้มา ไม่อยากเห็นคนรุ่นนี้เจ็บเหมือนที่เราเจ็บ เราอยากเห็นคนรุ่นนี้เดินต่อสู้ไปอย่างงดงาม ประสบชัยชนะที่เราไม่เคยไปถึง และปลอดภัยสมบูรณ์แบบอย่างที่เราไม่เคยเป็น
“ขอขอบคุณจากใจอีกครั้ง ในฐานะคนเสื้อแดง ผมไม่สามารถประกาศยกโทษอะไรให้ใครในนามคนเสื้อแดงได้ เพราะผมไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่ผมพูดขอบคุณน้องๆ แทนคนเสื้อแดงได้ ผมเชื่อว่ามีความชอบธรรมพอที่ผมจะพูด ขอบคุณมากครับ”
ปกป้องกล่าวว่า ขอบคุณคนเสื้อแดงเช่นกันที่ได้ขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตยมาก่อนหน้าพวกเรา นอกจากเป็นการวิ่งมาราธอนแล้วยังเป็นการวิ่งผลัดด้วย เพราะคนเสื้อแดงได้ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดมา และปัจจุบันนี้ก็ยังต่อสู้ร่วมกันอยู่ เป็นการวิ่งไปด้วยกัน