ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจําปีการศึกษา 2559 ให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ใน ‘ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์’ สาขาวิชาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ตามการเสนอของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
โดยมีกำหนดการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เวลา 14.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ขณะที่ เฟซบุ๊ก ‘Sulak Sivaraksa’ ซึ่งเป็นแฟนเพจทางการของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้เผยแพร่จดหมายที่ตอบกลับไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ายังเห็นถึงความปรารถนาดีของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่มีน้ำใจเสนอชื่อให้ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อสนองไมตรีของท่านนั้นๆ ข้าพเจ้าจึงพร้อมที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ณ วันเวลาและสถานที่ที่กำหนดมาในจดหมายของท่าน”
และในโอกาสนี้ โครงการ 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘คนทุกคนจะถูกลืม’ ของ กษิดิศ อนันทนาธร เพื่อเป็นมุทิตาสักการะ โดยเป็นหนังสือรวมบทความ จากเว็บไซต์ the101.world ที่เขาเล่าเรื่องคนสามัญไม่ธรรมดาซึ่งกำลังถูกลืม แต่เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า ให้ข้อคิดที่ดีแก่ชีวิตร่วมสมัย บนสายธารประชาธิปไตยไทย ตั้งแต่ ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์, จำกัด-ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ซิม วีระไวทยะ, วรพุทธิ์ ชัยนาม, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จนมาถึงสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในแง่มุมที่คุณไม่เคยรู้
สำหรับนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เกิดเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2475 เป็นเจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนชาวไทยและนักวิชาการอิสระ เป็นที่รู้จักทั่วไปจนได้รับสมญานามว่า ปัญญาชนสยาม มีชื่อเสียงอย่างมากในการวิจารณ์อย่างไม่เกรงใจใคร ไม่เกรงอำนาจผู้ใด จนได้รับรางวัล Alternative Nobel หรือ รางวัลสัมมาอาชีวะ ในปี พ.ศ. 2538 สุลักษณ์ ยังได้รับรางวัลศรีบูรพาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันอีกด้วย มีผลงานการเขียนมากมายครอบคลุมหลายด้าน เช่น พุทธศาสนา, สังคม, การเมือง, รูปแบบการปกครอง
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรและนักเขียนชื่อดัง เคยกล่าวถึง ส.ศิวรักษ์ ไว้ตอนหนึ่งในบทความ ‘อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ผมรู้จัก’ ว่า
“หนังสือเล่มใหญ่ที่ศึกษาเท่าไรก็ไม่หมด ที่ชื่อ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ต่างหากที่เปลี่ยนชีวิตผมอย่างไม่อาจย้อนกลับไปเป็นแบบเดิมได้อีก และก็ใช่แต่ชีวิตผม ผมคิดว่าอาจารย์สุลักษณ์ได้เปลี่ยนสังคมไทยในหลากหลายมิติอย่างกว้างขวางลึกซึ้งเรื่อยมา ตลอดระยะเวลาที่สังคมไทยได้สัมผัสกับหนังสือเล่มนี้ ด้วยความคมคาย ครบเครื่อง ท้าทาย และเร่าร้อน”
อ้างอิง: