×

กลัวความจริง หรือความจริงน่ากลัว ส.ศิวรักษ์ กับโลกธรรมของชีวิต

01.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • สุลักษณ์มองย้อนทวนกลับไปตลอด 7 รอบชีวิต เขาบอกว่า “ขอพูดแบบไม่เกรงใจ” สังคมไทยเรากำลังทรุดลงเรื่อยๆ… ปัจจุบันความกลัวเข้ามาครอบงำและมีบทบาทต่อมนุษย์อย่างมาก
  • การได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ตามการเสนอของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับว่าเป็นครั้งแรกของสุลักษณ์ที่ตัดสินใจรับเกียรติยศนี้สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มอบให้แก่เขา

 

 

“เขาจะสวมหมวก สะพายย่าม และนุ่งชุดต่างๆ ตามโอกาส พิเศษสุดก็ต้องนุ่งโจงกระเบน บางวันก็ลอยชาย บางทีนุ่งกางเกงแพร เดินถนนทีไรชวนให้คนสงสัยไปต่างๆ ว่านี่เป็นพม่า เป็นเขมร เป็นทิเบต หรือเป็นแขกก็มี”

 

“มีลักษณะคล้ายซานตาคลอสอยู่ประการหนึ่งคือเขาชอบสะพายย่ามสีแดง (ย่ามนี้ได้มาจากพระที่ส่งมาให้) แล้วพกหนังสือหรือวารสารที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ปาจารยสาร และ จุลสารป๋วย ใส่ย่ามไว้ เวลาไปไหนมาไหน พบปะใครๆ ที่เข้ามาทักทายก็จะหยิบหนังสือเหล่านี้ออกจากย่ามมอบให้เสมอๆ”

 

สองข้อความข้างต้นคัดมาจากข้อเขียนของกษิดิศ อนันทนาธร ผู้ออกตัวว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของชายผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งมีนามว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ที่ใครๆ ต่างรู้จักเขาในสมญา ‘ปัญญาชนสยาม’ ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน www.the101.world เมื่อ 27 มีนาคม 2560 ในวาระที่ ส.ศิวรักษ์ มีอายุอานามย่างเข้าสู่ปีที่ 84

 

แต่ในวัย 84 ปีของ ส.ศิวรักษ์ ผู้ผ่านโลกมาแล้วถึง 7 รอบชีวิตก็ยังมีเรื่องน่าตื่นเต้นและชวนค้นหา ล่าสุดเขาตอบรับที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติมอบให้ โดยมีกำหนดการเข้ารับพระราชทานในวันนี้ (1 ธ.ค.)

 

เรื่องที่ชวนให้สงสัยตามมาก็คือ ก่อนหน้านี้สุลักษณ์เคยประกาศว่าจะไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ที่ทางราชการไทยมอบให้ แต่ครั้งนี้อะไรคือเหตุผล?

 

 

เพราะเข้าใจโลกธรรม จึงรับน้ำใจจากธรรมศาสตร์

ในจดหมายตอบรับที่สุลักษณ์เขียนถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้อธิบายเหตุผลว่า เขาได้เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้แต่ในวัยฉกรรจ์ว่าจะไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ที่ทางราชการไทยมอบให้ หากแต่บัดนี้เข้าสู่วัยชรา อายุเกิน 7 รอบนักษัตรแล้ว จึงเข้าใจโลกธรรมได้ชัดเจนว่าลาภกับเสื่อมลาภ ยศกับอัปยศ สุขกับทุกข์ สรรเสริญกับนินทา เป็นของคู่กัน

 

บัณฑิตพึงรับทราบถึงโลกธรรมดังกล่าวทั้งในแง่บวกและแง่ลบด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา

 

“ข้าพเจ้ายังเห็นถึงความปรารถนาดีของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีน้ำใจเสนอชื่อให้ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อสนองไมตรีของท่านนั้นๆ ข้าพเจ้าจึงพร้อมที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ณ วันเวลาและสถานที่ที่กำหนดมาในจดหมายของท่าน”

 

เขาย้ำกับ THE STANDARD ว่านั่นคือเหตุผลทางการที่เขาได้ประกาศต่อสาธารณชนไปก่อนหน้านี้ “คุณลองไปอ่านดูได้” แต่สุลักษณ์ได้ช่วยขยายความของเหตุผลเพิ่มเติมว่า นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ตัดสินใจรับเกียรติยศนี้ โดยก่อนหน้านี้เคยมีหลายมหาวิทยาลัยเสนอสิ่งเดียวกันนี้ให้ แต่เขาได้ปฏิเสธมาทุกครั้ง

 

 

“ผมเป็นตัวตั้งตัวตีทำงานเพื่อประกาศคุณงามความดีของอาจารย์ป๋วยเมื่อครบ 100 ปี อาจารย์ป๋วย ผมทำมา 3-4 ปีล่วงหน้า และผมก็ดีใจมากเมื่อธรรมศาสตร์เขารับไม้ต่อทำงานนี้ รู้สึกขอบใจธรรมศาสตร์ และอีกหนึ่งก็คือเมื่อโครงการบัณฑิตอาสาสมัครของอาจารย์ป๋วยได้กลายมาเป็นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อเขาขอให้ผมรับสิ่งนี้ ผมก็ไม่อยากให้เขาเสียใจ แม้ผมจะไม่ยินดียินร้ายก็ตาม

 

“ก่อนหน้านี้ผมปฏิเสธมาโดยตลอด มิได้รับจากต่างประเทศมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้งแตกต่างกันไป”

 

สุลักษณ์​บอกว่าเขากับธรรมศาสตร์มีความเกี่ยวพันกันคือ ในแง่ส่วนตัว หลังกลับจากการเรียนหนังสือที่อังกฤษ เขาได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่นี่เป็นแห่งแรก ขณะเดียวกันในทางอุดมการณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และท่านต้องการปลุกมโนธรรมสำนึกให้คนเห็นว่า มนุษย์เราเมื่อได้รับปริญญาแล้วควรจะต้องออกมารับใช้ประชาชน จะต้องอยู่ฝ่ายความยุติธรรมในสังคม และโดยส่วนตัวเขาก็มีความสนิทสนมและให้ความเคารพกับอาจารย์ป๋วยเป็นอย่างยิ่ง

 

“ผมถือว่าอาจารย์ปรีดีและอาจารย์ป๋วยเป็นสองวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตผม ผมถือว่าการได้รับปริญญาเช่นนี้เป็นการเดินตามรอยของปูชนียบุคคลทั้งสองที่ผมเคารพนับถือมาก”

 

 

ทำไมสังคมไทยจึงกลัว ‘ความจริง’

สุลักษณ์ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนสยามที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในหลายวาระ และหลายครั้งความจริงใจต่อการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านั้นนำมาซึ่งชะตากรรมที่ทำให้เขาต้องอยู่ในวังวนของการต่อสู้กับฝ่ายผู้มีอำนาจ

 

“ความจริงเป็นสิ่งที่ทุกสังคมกลัว ยิ่งโดยเฉพาะสังคมที่เป็นเผด็จการ” สุลักษณ์อธิบาย

 

เมื่อถามว่าทำไมการพูดความจริงจึงทำให้มีชะตากรรมแบบนั้น สุลักษณ์บอกว่า ประเทศใดที่มีเผด็จการปกครอง การพูดความจริงย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่อยากได้ยิน การศึกษาที่เป็นเรื่องอิสรเสรี การวิพากษ์ตามหลักวิชาการนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมที่เห็นได้ชัดว่า การให้เหตุผลหรือการวิพากษ์ทางวิชาการไม่ได้เป็นเรื่องปกติที่กระทำกันได้ในสังคมแบบนี้

 

 

“เผด็จการทุกแห่งมีปัญหาเรื่องความจริง สิงคโปร์ไม่มีใครพูดเรื่องสัจจะความจริงได้ จีนก็มีปัญหาเดียวกัน

 

“ช่วงประชาธิปไตย อย่างน้อยเมื่อบ้านเมืองมีขื่อแปก็ยังมีคนกล้าพูดมากกว่าเวลานี้ กฎหมายหลายอย่างเป็นเครื่องมือที่ใช้รังแกคนเล็กคนน้อย กฎหมายถูกตีความให้มีปัญหาเพื่อบังคับใช้ในทางการเมืองมากกว่าเป็นเครื่องมือเพื่อความยุติธรรม เราไม่ได้นับถือกฎหมายเป็นใหญ่ แต่เราเอาอำนาจนำ เมื่อนั้นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมจึงกลายเป็นปัญหาตามมา”

 

สุลักษณ์มองย้อนทวนกลับไปตลอด 7 รอบชีวิต เขาบอกว่า “ขอพูดแบบไม่เกรงใจ” สังคมไทยเรากำลังทรุดลงเรื่อยๆ เพราะเมื่ออาจารย์ปรีดีตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่นี่มีความกล้าหาญมาก คุณเตียง ศิริขันธ์ เป็นครูประชาบาล ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้สู้เพื่อพวกเขา สุดท้ายก็ถูกสังหาร แต่ปัจจุบันความกลัวเข้ามาครอบงำและมีบทบาทต่อมนุษย์อย่างมาก

 

 

“ความกลัวเป็นสิ่งซึ่งทำลายมนุษย์มากที่สุด เมื่อมีคนกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้าความจริงบางอย่างโดยไม่เกรงกลัว ก็จะถูกเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่นำมาใช้เพื่อทำลายพวกเขา

 

“คนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญก็มีมาก แต่ว่าสังคมส่วนรวมนั้นรับเขาไม่ได้ มหาวิทยาลัยเองก็เป็นสิ่งที่ครอบเด็กไว้บางส่วนไม่ให้เขาพูดความจริง ไม่ให้พื้นที่เขาทำในสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มองว่านั่นเป็นปัญหา แม้ใครจะยืนอยู่ฝ่ายอธรรม แต่วันหนึ่งธรรมะจะต้องชนะอธรรมอยู่วันยังค่ำ”

 

 

มองสุลักษณ์ และคนทุกคนจะถูกลืม

การได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ตามการเสนอของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับว่าเป็นครั้งแรกของสุลักษณ์ที่ตัดสินใจรับเกียรติยศนี้สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มอบให้แก่เขา

 

ภาพของชายสูงวัยที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อนในวันนี้คือ เขาสวมชุดสีขาวและประดับครุยวิทยฐานะในสาขาที่เขาได้รับ แต่ในมือยังคงหนักแน่นด้วยการถือไม้ตะพดที่เขาบอกว่าตกทอดมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งทรงสิ้นพระชนม์ในวันนี้เมื่อ พ.ศ. 2486

 

 

สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ที่มาร่วมแสดงความยินดีในวันนี้บอกกับ THE STANDARD ว่า สำหรับสุลักษณ์นั้น เมื่อคนมองเห็นท่าน หากมองแบบสุดโต่ง แบบดำคือดำ หรือขาวบริสุทธิ์ทั้งหมดก็คงจะเป็นเรื่องประหลาดนัก เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีจุดอ่อน-จุดแข็ง บางคนบอกว่าสุลักษณ์เป็นคนดุ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้เรียนรู้จากความคิดของสุลักษณ์ไปพร้อมกันด้วย

 

“สุลักษณ์เป็นผู้ทวนกระแสสังคม กล้าที่จะบอกความจริง กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างที่บอกว่าสังคมไทยไม่อยากรับฟังความจริง แต่กัลยาณมิตรที่ดีคือผู้ที่ตักเตือนด้วยความจริงอย่างตรงไปตรงมา มิใช่การมานั่งอวย ยกชูกันไปทั้งหมด ด้วยเหตุที่ทวนกระแสแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมมาโดยตลอด”

 

 

และในโอกาสนี้ โครงการ 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘คนทุกคนจะถูกลืม’ ของกษิดิศ อนันทนาธร เพื่อเป็นมุทิตาสักการะ โดยเป็นหนังสือรวมบทความ จาก www.the101.world ที่เขาเล่าเรื่องคนสามัญไม่ธรรมดาซึ่งกำลังถูกลืม แต่เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า ให้ข้อคิดที่ดีแก่ชีวิตร่วมสมัยบนสายธารประชาธิปไตยไทย ตั้งแต่ ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์, จำกัด-ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ซิม วีระไวทยะ, วรพุทธิ์ ชัยนาม, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จนมาถึงสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในแง่มุมที่คุณไม่เคยรู้

 

ในคำนำ กษิดิศเขียนไว้ว่า ‘คนทุกคนจะถูกลืม’ เป็นการเจริญรอยตามสุลักษณ์ อาจารย์ของเขา ที่พยายามจะเล่าประวัติของบุคคลเก่าๆ ที่สังคมเลือนไป และหยิบยกคุณค่าของเขาและเธอมาให้คนร่วมสมัยได้เห็นว่า สมัยหนึ่งสังคมมีคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีจุดยืนและอุดมคติให้เป็นบทเรียนแก่พวกเรา

 

 

สุลักษณ์บอกกับ THE STANDARD ว่า ผมอยากจะเตือนทุกคนผ่านถ้อยคำที่บอกว่า ‘คนทุกคนจะถูกลืม’ ก็คือไม่มีใครยิ่งใหญ่ตลอดไป ไม่มีใครเป็นอมตะ มันเป็นของปลอมทั้งนั้น พระพุทธเจ้าสอนเราเรื่องอนัตตภาวะ พรุ่งนี้วันนี้ผมตาย ผมก็ปลาสนาการไปแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อผมตาย ผมสั่งเอาไว้ว่าไม่ต้องตั้งมูลนิธิในชื่อผม ไม่ต้องเอาชื่อผมไปสร้างตึก สร้างห้องประชุมที่ไหน ไม่ต้องสร้างอนุสาวรีย์อะไรทั้งสิ้น เพราะคิดว่าการติดยึดในสิ่งเหล่านี้เป็นของปลอมทั้งนั้น ไม่มีประโยชน์ เราต้องติดยึดในของจริง คือความเป็นอนัตตภาวะ คือความไม่มีตัวตน

FYI
  • กษิดิศเขียนไว้ในข้อที่ 79 บทความ ‘ส.ศิวรักษ์ 84’ ในหนังสือ คนทุกคนจะถูกลืม ว่า แม้ในยามชราก็ไม่วายที่สุลักษณ์จะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา มาตรา 112 อีกครั้ง ล่าสุดถูกแจ้งข้อหา ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากที่เขาอภิปรายเรื่องการทำยุทธหัตถีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2557 โดยวันที่ 7 ธันวาคม 2560 อัยการศาลทหารจะพิจารณาว่าสั่งฟ้องหรือไม่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X