×

สิงคโปร์มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงถึง 476 คนในปี 2022 สูงสุดในรอบ 20 ปี

07.07.2023
  • LOADING...
การฆ่าตัวตาย

องค์กร Samaritans of Singapore (SOS) ที่เฝ้าติดตามเหตุฆ่าตัวตายในประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ประชากรในสิงคโปร์จำนวน 476 คน ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงในปี 2022 นับเป็นตัวเลขสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี โดยเพิ่มขึ้นถึง 25.9% จากจำนวน 378 คนในปี 2021 

 

โดยผู้ที่ติดต่อขอความช่วยเหลือกับองค์กร SOS มักกำลังประสบกับปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงินและการจ้างงาน รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์คู่รัก ส่งผลให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายของชาวสิงคโปร์ไต่ระดับขึ้นสูงในเกือบทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ

 

สำหรับชาวสิงคโปร์ที่มีช่วงอายุ 10-29 ปี การฆ่าตัวตายถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในช่วงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยประชากรกลุ่มนี้มากถึง 1 ใน 3 เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ส่วนประชากรที่มีอายุ 70-79 ปี มีสถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งปัญหาที่ผู้สูงอายุขอความช่วยเหลือ 3 อันดับแรก คือ ปัญหาทางการแพทย์ ปัญหาครอบครัว และความเหงา

 

จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 476 คน ในจำนวนนี้ 317 คนเป็นผู้ชาย และอีก 159 คนเป็นผู้หญิง โดยองค์กร SOS ระบุว่า “จากเหตุฆ่าตัวตายทั่วโลก ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยที่เป็นไปได้หลายอย่างที่อาจทำให้ตัวเลขสถิติดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความคาดหวังทางสังคมและการตีตราทางสุขภาพจิต”

 

ดร.จาเร็ด อึง ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ประจำ Connections MindHealth ระบุว่า สถิติการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นี้สะท้อนภาพความทุกข์ทางจิตใจที่มองไม่เห็น ซึ่งแทรกซึมอยู่ในสังคมของชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสังเกตถึงสิ่งที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความเหงาและความโดดเดี่ยวทางสังคม เพื่อตรวจให้พบปัญหาตั้งแต่เบื้องต้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ที่กำลังประสบภาวะยากลำบากกล้าที่จะร้องขอความช่วยเหลือและช่วยเฝ้าระวังซึ่งกันและกันอย่างแข็งขัน 

 

SOS ยังเผยอีกว่า มีผู้ใช้บริการสายด่วนและบริการ CareText ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเพิ่มขึ้นถึง 27% ในปี 2022 ประเทศสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องปรับปรุงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องและจัดเตรียมทักษะความรู้ให้กับผู้เผชิญเหตุ เพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงและเชื่อมโยงพวกเขากับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

 

ขณะที่ แกสเปอร์ ตัน ผู้บริหารระดับสูงของ SOS เล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ดังกล่าวและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเชิงรุกต่อไป เพื่อจัดการกับจำนวนเหตุการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น และให้การสนับสนุนแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้ว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านสุขภาพจิต แรงกดดันทางสังคม และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยความพยายามที่จะร่วมกันจัดการกับสาเหตุพื้นฐานเหล่านี้จะต้องได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ 

 

โดยแกสเปอร์เน้นย้ำว่า การฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ด้วยการจัดเตรียมความช่วยเหลือในภาวะวิกฤต ซึ่ง SOS ทุ่มเทให้กับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ทุกคนรู้สึกว่ามีคุณค่า ได้รับการสนับสนุน และสามารถขอความช่วยเหลือได้เมื่อพวกเขาต้องการ

 

ด้าน ดร.อ่อง เซย์ ฮาว ที่ปรึกษาอาวุโสและหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์พัฒนาการ สถาบันสุขภาพจิต เสริมว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา อาทิ การให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต ที่สำคัญคือการแนะนำเยาวชนว่าพวกเขาควรขอความช่วยเหลือเมื่อไรและที่ไหน 

 

แฟ้มภาพ: Gballgiggsphoto / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising