×

ตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น ขายเกินราคาที่กำหนด ก้าวไกลแนะรัฐทบทวนโครงสร้างราคาค่าโดยสาร

โดย THE STANDARD TEAM
23.02.2024
  • LOADING...

วานนี้ (22 กุมภาพันธ์) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นต่อกรณีตั๋วเครื่องบินแพงหลังการประชุม กมธ.คมนาคม เรื่องพิจารณาศึกษาโครงสร้างราคาบัตรโดยสารเครื่องบิน โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงคือ ปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย 

 

สุรเชษฐ์กล่าวว่า ในภาพใหญ่อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐไม่ได้ให้เงินอุดหนุนและไม่ได้แทรกแซงมากนัก เพราะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันดีพอสมควรอยู่แล้ว และเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการเดินทางของประชาชน นอกเหนือไปจากรถไฟและรถโดยสาร การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นไปตามกลไกตลาดที่รัฐไม่ควรแทรกแซงมาก  

 

อย่างไรก็ดี ตามโครงสร้างราคาในปัจจุบันของประเทศไทย ถือว่ารัฐกำกับดูแลอยู่พอสมควร ด้วยการกำหนดอัตราขั้นสูง (Upper Bound) ของค่าโดยสารตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562) มาตรา 41/130 วรรคสอง “การเก็บค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสาร และค่าระวางของผู้ประกอบการอากาศยานขนส่ง และต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน”

 

เช่น กรุงเทพฯ-ภูเก็ตระยะทาง 698 กิโลเมตร หากเป็นบริการต้นทุนต่ำ (Low Cost) เพดานค่าโดยสารต่อเที่ยวอยู่ที่ 6,561 บาท ถ้าเป็นบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) อยู่ที่ 9,074 บาท หรือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 566 กิโลเมตร ถ้าเป็นบริการต้นทุนต่ำ เพดานค่าโดยสารต่อเที่ยวอยู่ที่ 5,320 บาท ถ้าบริการเต็มรูปแบบอยู่ที่ 7,358 บาท  

 

ทั้งนี้ ปัจจัยกำหนดราคาค่าโดยสารในปัจจุบันเป็นแบบ Dynamic Pricing โดยมี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 

 

  1. อยู่ในช่วงเทศกาลหรือไม่
  2. มีการจองตั๋วเร็ว-ช้าแค่ไหน โดยเป็นไปตามกลไกตลาดคือสายการบินต้องลดราคาในช่วงความต้องการน้อย และเพิ่มราคาในช่วงความต้องการมาก เพื่อรักษาสมดุลรายได้ให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งปี ซึ่งเป็นหลักสากลที่ใช้ทั่วไปในหลายประเทศในอุตสาหกรรมการบิน 

 

ส่วนที่ประชาชนตั้งคำถามว่า ทำไมก่อนหน้านี้ราคาตั๋วถูกกว่านี้ จากคำชี้แจงทราบว่าก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด โครงสร้างราคาไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบัน แต่ราคาตั๋วถูกกว่านี้จริงเพราะแต่ละสายการบินมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง จนเมื่อเกิดโควิดทุกสายการบินประสบปัญหา Demand (อุปสงค์) หายไปเฉียบพลัน แต่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรัฐไม่ได้เข้าไปอุ้มมากนัก  

 

ดังนั้น เมื่อตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย อุปสงค์หรือความต้องการบินกลับมาเร็ว ขณะที่ Supply (อุปทาน) ยังปรับตัวไม่ทัน จึงเป็นช่วงที่มีการเอากำไรเพื่อชดเชยการขาดทุน ซึ่งเข้าใจได้ในทางธุรกิจ แต่ในฐานะรัฐก็ต้องกำกับดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนเกินไป โดยผู้ประกอบการอยู่ได้และมีการแข่งขันที่มากพอ

 

ดังนั้นข้อเสนอแรก ตนคิดว่าสิ่งที่รัฐทำได้เพื่อตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชน คือการทบทวนว่าโครงสร้างหรือเพดานราคาตั๋วเครื่องบินในปัจจุบันมีความสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่ โดยอาจต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ราคาจะเป็นไปตามความคาดหวังของผู้บริโภคที่เคยมีภาพจำต่อการเดินทางด้วยเครื่องบินในช่วงก่อนหน้านี้ และอำนวยความสะดวกต่อการจัดหาอุปทานของผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดดุลยภาพใหม่ของตลาดโดยเร็ว เพื่อให้ค่าตั๋วเครื่องบินไม่สูงเกินไปนักโดยไม่ต้องแทรกแซงมากนัก

 

สุรเชษฐ์กล่าวว่า อีกข้อเสนอซึ่งตนเห็นว่ารัฐควรมีบทบาทมากขึ้น คือการมีมาตรการควบคุมช่องทางการขาย ‘ตั๋วผี’ เนื่องจากปัจจุบันมีบางแอปพลิเคชันที่ซื้อตั๋วจากสายการบินเพื่อขายทางออนไลน์ให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง (Online Travel Agent) และขายในราคาที่สูงกว่าเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยแม้สัดส่วนนี้จะมีน้อย แต่ก็กระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินอย่างเร่งด่วน จึงเห็นว่านอกจากการกำกับดูแลสายการบิน รัฐควรพิจารณาถึงการมีกลไกที่ดีพอในการควบคุมหรือกำจัดตั๋วผีที่ขายเกินราคาเหล่านี้ด้วย

 

“ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยผู้ประกอบการอยู่ได้ในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม” สุรเชษฐ์สรุป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X