×

สุดารัตน์ขอทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็ก ขอรัฐเร่งช่วย SMEs ก่อนหมดลมหายใจ

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2020
  • LOADING...
สุดารัตน์ขอทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็ก ขอรัฐเร่งช่วย SMEs ก่อนหมดลมหายใจ

วันนี้ (5 ตุลาคม) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขอทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็ก พร้อมระบุว่า “ดิฉันได้มีโอกาสประชุมหารือกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากสภาเอสเอ็มอีทั้งในกรุงเทพฯ และระดับภูมิภาคหลายครั้ง จึงขอทำหน้าที่สะท้อนความทุกข์ และขอร้องให้รัฐบาลเร่งลงมือช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี รวมทั้งกลุ่มที่กำลังจะต้องทยอยปิดตัวลงจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังซื้อหดหาย เงินทุนหมุนเวียนกำลังจะหมด โดยกลุ่มธุรกิจของคนตัวเล็กเหล่านี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ”

 

คุณหญิงสุดารัตน์ระบุอีกว่า ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเหล่านี้มีการจ้างแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนมากถึง 13.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 85.47% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ดังนั้นถ้าปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดตัวลงไปจะมีคนตกงานเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของไทยให้ทรุดหนักลงไปอีก

 

โดยที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของคนไทย ตามรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2561 มีจำนวน 3,077,822 ราย จำนวน 99.79% เป็นรายเล็ก (SE) ถึง 3,063,651 ราย และรายกลาง (ME) มีอยู่เพียง 14,171 ราย 

 

ขณะที่มาตรการของรัฐบาลในปัจจุบันอย่างซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เอสเอ็มอีกว่า 90% เข้าไม่ถึงด้วยกฎเกณฑ์ที่ต้องปล่อยกู้ให้เฉพาะลูกหนี้เดิมของธนาคารและไม่เป็น NPL จำกัดวงเงินไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง และไม่เกิน 500 ล้านบาท

 

โดยขณะนี้มีเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 4.68 แสนราย (ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) แต่เป็น NPL ไปแล้วกว่า 1 แสนราย

 

คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ขอให้รัฐบาลเร่งดูแลธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเหล่านี้ ก่อนที่คนตัวเล็กที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยเหล่านี้จะ ‘หมดลมหายใจที่จะสู้ต่อ’ โดยขอเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

 

1. ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธุรกิจที่เดินต่อได้แต่ขาดสภาพคล่องเป็นเวลา 2 ปี

 

2. ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

 

2.1 ลดเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามปกติ และกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมในกรณีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินเพิ่มให้กับเอสเอ็มอีที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มวงเงินแล้ว

 

2.2 ให้ บสย. ขยายสัดส่วนการค้ำประกันเป็น 50-75% เพื่อลดภาระความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ยอมปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่กำลังขาดสภาพคล่อง

 

3. ออกกองทุนเอสเอ็มอีโดยให้เอกชนอย่างสภาเอสเอ็มอีเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อตัดปัญหากลไกและกระบวนการภาครัฐไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ กองทุนนี้ควรเริ่มต้นในวงเงิน 3 แสนล้านบาท จากวงเงินซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทที่ปล่อยกู้ไปได้เพียง 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นกลไกพิเศษที่จะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X