×

สุชาย ชูเชิด มือกีตาร์และมาสเตอร์มายด์วง BrandNew Sunset อีกหนึ่งนักดนตรีที่ต้องจดจำ

10.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • “บางทีผมก็รู้สึกว่าคนในวงการมองว่าพวกผมหัวแข็ง ขวางโลก อย่างเช่นให้ไปออกรายการเล่าเรื่องอะไรที่มันไม่เกี่ยวกันกับวง มันก็ไม่ใช่หรือเปล่าล่ะ ผมก็จะปฏิเสธ บางทีการที่เราเป็นแบบนี้อาจจะทำให้คนมองเข้ามาแล้วรู้สึกว่าหยิ่งยโส ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่นะ”
  • ในทัศนะส่วนตัวผม BrandNew Sunset เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงออกถึงความตั้งใจบากบั่น และมีจุดยืนที่อยู่บนความไม่โกหกตัวเอง

“พวกผมไม่ใช่ artist พวกผมเป็น musician มากกว่า”

 

สุชาย ชูเชิด มือกีตาร์และมาสเตอร์มายด์แห่ง BrandNew Sunset วงร็อกที่เดินทางมายาวนานบนถนนวงการดนตรีไทย วันนี้ผมนัดหมายกับเขาที่บ้าน ซึ่งใช้เป็นห้องอัดสำหรับอัลบั้มล่าสุดของวง Of Space and Time ด้วยเช่นกัน

 

ชาย หรือสุชาย ต้อนรับด้วยการพาทัวร์บ้านที่พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยการเรียงตัวกันของแผ่นเสียง คำนวณคร่าวๆ ด้วยตาเปล่าน่าจะมีเฉียดพันแผ่น คละเคล้าไปด้วยสไตล์เพลงที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่แนวร็อกเพียงอย่างเดียว

 

สักพักหนึ่งพวกเราก็พาตัวเองมาจบที่ระเบียงชั้นสอง หน้าห้องบันทึกเสียง พร้อมน้ำส้มและเสบียงประกอบการพูดคุยเพื่อสร้างบรรยากาศให้ครึกครื้น

 

 

“เริ่มต้นการเล่นดนตรีได้ยังไง” ผมเริ่มยิงคำถามแรก


“สมัยตอนเด็กๆ จะมีช่วงที่ต้องไปอาศัยอยู่กับยาย เขาจะให้เงินวันละ 100 บาท ผมก็เอาเงินที่ได้ไปซื้อเทปฟังนี่แหละ ยุคนั้นเป็นเทป Peacock ซึ่งผมก็มีเพื่อนเป็นหลานเจ้าของ ฟังกันเพลินเลยทีนี้ ถ้าจะนับจริงๆ ว่าโตมากับยุคไหนก็น่าจะเป็นยุค Gun N’ Roses”

 

“แล้วใครเป็นแรงบันดาลใจ หรือมีใครเป็นไอดอล” ผมต่อคำถามที่สองทันที แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นเอลตัน จอห์น ที่ผมฟังดูแล้วรู้สึกขัดๆ จนสุชายต้องเล่าพร้อมเปิดเพลงประกอบให้ฟังว่า เอลตัน จอห์น มาเล่นคอนเสิร์ตที่เมืองไทยทีไร เขาไปดูทุกครั้ง และน้ำตาไหลทุกครั้ง เปิดเพลงให้ฟังแล้วสุชายยังบรรยายสรรพคุณไปด้วยว่าเพลงนั้นเพลงนี้มีดีอย่างไร เรียกว่าแพสชันนี้ของแท้แน่นอน ไม่มีผงชูรส

 

ต้องย้อนเล่าให้ฟังก่อนว่าผมกับสุชาย เราสองคนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ชอบฟัง ชอบเล่นดนตรีเหมือนกัน สมาชิกบางคนอย่างเช่นมือกลองปัจจุบัน แต่ก่อนก็เป็นเพื่อนที่เคยตามไปดูพวกผมซ้อมสมัยที่มือกลองคนเก่ายังอยู่ พอวันหนึ่งที่มือกลองออกไปก็เลยรับมาเป็นสมาชิก เรียกว่าเพื่อนที่เห็นๆ กันมา ใครเก่งด้านไหนก็มาช่วยกันประมาณนี้

 

“ชอบอัลบั้มชุดไหนของตัวเองที่สุด” ผมกลับเข้าสู่คำถาม


“ถ้าลงตัวที่สุดคือชุดล่าสุดนี้เลย Of Space and Time เพราะมันเป็นอัลบั้มที่วางแผนทำกันเองหมด เป็นคอนเซปต์ที่เราอยากได้ ช่วงอัลบั้มชุดแรกๆ มันจะมีปัญหาที่บางทีพวกเราไม่ค่อยชอบเพลง หรือมีคนบอกว่าควรจะทำแบบนี้แบบนั้น หรือตอนอยู่ค่ายแล้วงบไม่พอ พวกผมก็ไปหาที่อัดกีตาร์กันเอง คือใช้ห้องนอนเพื่อนร่วมวง ลากสายตั้งไมค์กันเอง แล้วลากออกมานอกห้องเพื่อทำเป็นคอนโทรลรูม ส่วนในห้องนอนก็จะมีพวกตู้ต่างๆ ยืมมาบ้าง ของตัวเองบ้าง จนสุดท้ายก็สำเร็จออกมา คืออัลบั้มนี้เราเลือกกลับไปทำแบบตอนที่ยังไม่มีค่าย”

 

 

“แล้วทำไมไม่อยากกลับไปทำกับค่ายเพลง” ผมถามต่อ


“มีคนมาทาบทามนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่นโยบายของค่ายสมัยนี้คือจะไม่แบกความเสี่ยงอะไรเลย ผมเป็นวงที่ชอบออกเป็นอัลบั้ม แต่ค่ายจะยิงเป็นเพลงแล้วรอดูก่อนว่ามาหรือไม่มา คือสมัยนี้งบในการปั๊มซีดีมันถูกกว่าแต่ก่อนมาก แถมเขาขออนุญาตในการขายให้เสร็จ ไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน แต่ค่ายก็ไม่เคยแจงให้รู้ อย่างชุดนี้คนในวงก็ลงขันกันเอง แล้วเราก็คืนทุนตั้งแต่วันแรกที่เปิดอัลบั้ม มันเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ค่ายไม่เคยบอกเรา

 

“สิ่งที่ไม่ชอบอีกอย่างของการอยู่ค่ายคือสมมติจะทำอัลบั้มสักชุดหรือมิวสิกวิดีโอสักตัวก็ต้องหาเรเฟอเรนซ์มาประกอบว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าทำแบบไม่ต้องมีเรเฟอเรนซ์ไม่ได้เหรอวะ คือบางทีผมก็รู้สึกว่าคนในวงการจะมองว่าพวกผมหัวแข็ง ขวางโลก อย่างเช่นให้ไปออกรายการเล่าเรื่องอะไรที่มันไม่เกี่ยวกันกับวง มันก็ไม่ใช่หรือเปล่าล่ะ ผมก็จะปฏิเสธ บางทีการที่เราเป็นแบบนี้อาจจะทำให้คนมองเข้ามาแล้วรู้สึกว่าหยิ่งยโส ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่นะ

 

“พวกผมมองตัวเองว่าไม่ใช่ artist นะ พวกผมเป็น musician มากกว่า บางทีให้ไปทำอะไรที่มันไม่ใช่ตัวเราก็ไม่รู้จะฝืนทำไปเพื่ออะไร อย่างเรื่องค่ายที่มาทาบทาม สุดท้ายคุยไปคุยมาก็จบตรงที่เดิม ก็คือพายเรืออยู่ในอ่าง กลับมาอยู่ในวงจรแบบเดิมๆ มาร์เก็ตติ้งเดิมๆ แล้วเมื่อไรวงการมันจะเดินไปข้างหน้าและพัฒนาขึ้น ถ้ายังคงผูกขาดกันแบบนี้”

 

 

ในยุค 4.0 การสื่อสารระหว่างวงกับคนฟังสะดวกมากขึ้น รวมถึงงานจ้างที่สื่อสารได้โดยตรงเช่นกัน ผมเริ่มคำถามในมุมนี้ “เรื่องงานโชว์ล่ะ”


“มีติดต่อมาเอง หรือบางทีก็ดีลเอง เพราะเดี๋ยวนี้มันมีฟรีแลนซ์ที่ทำด้านนี้เยอะ มันตรงกว่า อย่างปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเวลามีค่ายคือเขาจะขายเบอร์ใหญ่ พอลูกค้าต่อรองราคาก็จะเลือกที่จะไม่ลดราคา แต่จะแถมวงนี้วงนั้นให้ ทำให้มันไม่ตรงกลุ่ม อย่างเคยมีเหมือนกันที่ให้วงผมไปเล่น แต่มารู้อีกทีคือให้เล่นเป็นแนวเรกเก้แล้วไม่แจ้งวงตั้งแต่แรก อย่างนี้ถือว่าไม่ให้เกียรติ

 

“การขายโชว์นั้นสำคัญที่สุด คือคนขายงานมันต้องอินกับเพลงก่อน สำหรับพวกผม เรื่องจำนวนคนดูไม่ใช่ประเด็น เราเล่นที่ไหนก็ได้ แต่ขอแค่คนที่มาดูเขาตั้งใจมาดูเรา ไม่ใช่เอาเราไปเปลี่ยนเป็นแบบอื่นเพื่อสนองนี้ดในสิ่งที่คนดูเองก็ไม่ได้ต้องการ ไม่อย่างนั้นเราจะทำอัลบั้มในแนวทางที่เราอยากทำไปเพื่ออะไร”

 

“แล้วในวงมีทะเลาะกันบ้างไหม”


“เราจะพูดตรงๆ กันเลย ไม่มีเกรงใจ อย่างถ้าใครทำไม่ดีหรือทำไม่ได้อย่างที่เคยทำก็โดนด่าเลย ไม่พูดอ้อมค้อม ส่วนผมก็เปิดรับคำติด้วยเหมือนกัน อย่างตอนอัดร้องอัลบั้มชุดนี้ ตูน (ลักษณ์ โตวัชระกุล) นักร้องนำ ก็โดนเยอะจนร้องไห้เลย คือเขาเคยทำได้ดีกว่านี้ก็ต้องทำให้ได้ แต่เวลานั่งแทร็กกิ้งก็จะมีสมาชิกอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ด้วย คอยช่วยออกไอเดีย ไม่อย่างนั้นมันจะส่วนตัวเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นผมเผด็จการ”

 

 

เริ่มดึก วงสนทนายิ่งร้อน ผมโยนคำถามร้อนๆ ลงไป “มีประสบการณ์แย่ๆ ตอนไปเล่นหรือตอนจ้างงานไหม”


ปกติพวกผมจะไม่เกี่ยงเรื่องเงินเยอะเงินน้อยนะ เล่นหมด แต่บางทีงานช่วยที่เขาขอมา เงินยังไม่พอค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราต้องจ่ายเลย อันนี้คือยังไม่ได้คิดค่าตัวเลยนะ ทั้งที่คนว่าจ้างเขาก็เป็นนักดนตรี ยังไม่เข้าใจ หรือจงใจไม่เข้าใจผมก็ไม่รู้เหมือนกัน บางครั้งไปเล่นคอนเสิร์ตกับวงที่อยู่ค่ายใหญ่ๆ พวกผมก็จะโดนมองว่าไม่เข้าพวก มาได้ยังไง ไม่ได้อยู่ค่ายเดียวกันแบบนี้ ผมก็จะคิดว่ามันจะอีโก้อะไรกันหนักหนา มาเล่นดนตรี ทำไมมันต้องอีโก้ตัวพองกันขนาดนี้”

 

ผมกับชายสนทนาล่วงเลยกันมาค่อนคืนจนน้ำส้มและเสบียงที่เตรียมมาร่อยหรอเต็มที ซึ่งก็สมควรแก่เวลาที่ปาร์ตี้ต้องมีวันเลิกรา แล้วก็เป็นเวลาของคำถามสุดท้ายเช่นกัน

 

“คิดว่าตัวเองมีอีโก้ไหม”


“ทุกคนมันมีอยู่แล้วแหละ แต่ผมพยายามจะมีให้น้อยที่สุด เพราะมันก็มีข้อดี แต่ถ้ามีเยอะไป มันจะส่งผลเสียมากกว่า”

 

 

หลังจากได้ร่วมสนทนากันตามประสาคนที่นิยมชมชอบศิลปะมาจนสุดระยะเวลาที่อำนวยได้ สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากสุชาย ชูเชิด คือความเป็นคนที่ตั้งเป้าชัดเจน มุ่งมั่น และพยายามทำให้สำเร็จ บางทีการที่คนอื่นมองว่าเป็นคนหัวแข็งขวางโลกของวงนี้ แท้ที่จริงแล้วอาจจะเป็นเพียงความกล้าที่จะพูดแบบตรงไปตรงมามากกว่าจะพูดโดยที่ไม่คิดถึงกาลเทศะ

 

หลังจากที่ร่ำลากันพอสังเขป ผมเห็นสุชายก้มลงไปเปิดผ้าพันแผลบริเวณขาของสุนัขที่เลี้ยงไว้เพื่อเช็กอาการบาดเจ็บอย่างทะนุถนอม ทำให้ผมพลันนึกเปรียบเทียบว่าการแสดงออกที่รุนแรงไม่ใช่ตัวตัดสินความสะอาดของจิตใจผู้เล่นหรือผู้ฟังเสมอไป

 

ในทัศนะส่วนตัวผม BrandNew Sunset เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงออกถึงความตั้งใจ บากบั่น และมีจุดยืนที่อยู่บนความไม่โกหกตัวเอง พวกเขาไม่ได้เล่นดนตรีที่ยากเกินตัว แต่ก็ไม่ใช่ดนตรีหน่อมแน้มเกินกว่าที่จะยอมให้ใครสักคนมาจูงจมูกบอกว่าดนตรีที่พวกเอ็งเล่นมันไม่มีวันขายได้หรอก แล้วล้มเลิกความตั้งใจ

 

ถ้าระยะทางเป็นเครื่องพิสูจน์ม้าและกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คนนั้นจริงอย่างที่มีคนได้นิยามเอาไว้ BrandNew Sunset ก็เป็นวงร็อกเชื้อสายไทยที่ผ่านการทดสอบนี้ไปแล้วอย่างขาวสะอาดอีกวงหนึ่งเลยจริงๆ

 

FYI

BrandNew Sunset (2546-ปัจจุบัน)

  • สมาชิกปัจจุบัน: ตูน-ลักษณ์ โตวัชระกุล (ร้องนำ), ก้อง-ธนัช คงเกรียงไกร (กีตาร์, ร้อง), ชาย-สุชาย ชูเชิด (กีตาร์, ร้อง), ยุทธ-กานต์ณัฐ พหลกุล (เบส) และเติร์ก-วรุตม์ หุนตระกูล (กลอง)
  • อดีตสมาชิก: กานต์ เสนีย์ตันติกุล (กีตาร์, ร้อง), วรินทร ศรีนิล (กลอง)

 

ผลงานอัลบั้ม

  • Pick You Up When You’re Falling Down (New Destiny Records / HERE, 2546)
  • Realistic (New Destiny Records / HERE, 2548)
  • BrandNew Sunset (Sony BMG, 2551)
  • Yesterday Today Tomorrow (Sony Music, 2552)
  • Welcome Home (Sony Music, 2553)
  • Of Space and Time (Self Release, 2559)

 

รางวัล

  • ปี 2553 สีสันอะวอร์ดส์: ศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม และอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม อัลบั้ม Welcome Home
  • ปี 2559 สีสันอะวอร์ดส์: ศิลปินร็อกยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม Of Space and Time และเพลงร็อกยอดเยี่ยม จากเพลง Fire (in Our Hearts)
  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising