วันนี้ (20 กันยายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในสัปดาห์หน้าว่า จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา โดยจะมีการแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น ความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ ตนคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน
เมื่อถามว่า การแก้ไขนี้เพื่อให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ใช่หรือไม่ ชูศักดิ์กล่าวว่า “ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว. ในนั้นไม่เห็นด้วย ส่วน สว. ชุดปัจจุบันนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ว่าในอนาคต”
ขณะเดียวกันก็จะดูการแก้เรื่องยุบพรรค การครอบงำพรรค ว่าจำกัดไว้อย่างไรให้เหมาะสม โดยเรื่องการยุบพรรคเราจะเน้นเฉพาะไปที่เรื่องการล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ควรถูกยุบพรรค ส่วนเรื่องการครอบงำจะปรับว่าทำอย่างไรให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่เรื่องอะไรๆ ก็ครอบงำหมด
ส่วนกังวลข้อหาว่าการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองนั้น ชูศักดิ์ระบุว่า เราทำกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมพอสมควร คนที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาท้ายที่สุดเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ เป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามาตั้งคำถามว่าแก้เพื่อตัวเอง อย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ตั้งคำถามได้หมด
ชูศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันจะยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในบางประเด็น กรณีมีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช. สั่งไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิซึ่งเคยยื่นมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงจึงต้องนำกลับมาแก้
รวมถึงจะแก้ไขเรื่องอื่นๆ ไปด้วย เช่น อำนาจการฟ้องเองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง การตั้งกรรมการร่วมกันก็บอกว่าไม่ฟ้อง มองว่า ป.ป.ช. จะทำหน้าที่สอบสวนฟ้องร้องได้เองหมด ทำให้ขัดต่อหลักการคานอำนาจ ส่วนกรณีคดีที่เกิดขึ้นมานานแล้วควรกำหนดขอบเขตระยะเวลาในการรับเรื่อง ไต่สวน เพื่อทำให้ชัดเจน ไม่ใช่สอบไปเรื่อยๆ 10-20 ปี บางทีชี้มูลไปแล้วตอนเกษียณ โดยอาจจะกำหนดไว้ 5 ปีก็ได้