วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ที่สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร รับการยื่น 70,500 รายชื่อประชาชน จากคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำโดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รศ.สมชัยกล่าวว่า ทั้ง 70,500 รายชื่อ เป็นรายชื่อที่ประชาชนร่วมลงรายชื่อเข้ามาเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาตรา 272 นี้ได้บัญญัติอยู่ในบทเฉพาะกาล โดยให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
รศ.สมชัยกล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้ ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องต่อการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ
ดังนั้นบทบัญญัติดังกล่าว ณ ปัจจุบันจะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้ว ดังนั้นจึงควรกลับสู่หลักการสากลเดิม คณะรณรงค์จึงเปิดให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อผ่านเว็บไซต์ www.nosenatevote.net โดยคาดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นี้จะสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
รศ.สมชัยกล่าวด้วยว่า แม้จะส่ง 70,500 รายชื่อให้สภาแล้วก็ตาม แต่ทางคณะรณรงค์จะยังคงเปิดให้ประชาชนร่วมลงรายชื่อต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่รัฐสภาพิจารณาประชุมในเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจของประชาชนในการขอตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันหวังว่าการเลือกตั้งในครั้งถัดไป และในวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นในที่ประชุมของ ส.ส. เท่านั้น
ด้านผ่องศรีกล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความสำคัญต่อการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในภาคประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นความตื่นตัวของพลเมืองและเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายที่ภาคประชาชนร่วมกันเสนอรายชื่อเข้ามาในสมัยของชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 60 ฉบับ ซึ่งในส่วนการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 4
ผ่องศรีกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางสภาจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 16 คือการตรวจสอบรายชื่อและหลักฐานของประชาชนที่ร่วมกันเสนอกฎหมายว่าถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และจากนั้นจะส่งรายชื่อไปยังกรมการปกครองว่าเป็นรายชื่อที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือไม่