×

กมธ. ไม่ปัดตก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมภาคประชาชน แม้แพ้โหวตในเว็บไซต์ อยู่ที่สภาจะหยิบมาพิจารณาหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
13.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (13 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ถึงความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ต้องการให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมควรเป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ

 

โดย รศ.ดร.ยุทธพรระบุว่า เราเคยเสนอเป็นตัวแบบสองทางเลือก คือ

 

  1. ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ
  2. ให้ประธานสภาผู้แทนเป็นประธานคณะกรรมการฯ และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ

 

แต่ กมธ.วิสามัญฯ ก็มีความเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุดเราจึงมีการปรับเปลี่ยนและให้น้ำหนักยังคงเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักในการมีบทบาทนำ โดยให้ประธานสภาเป็นประธานคณะกรรมการฯ และนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ

 

โดยมีเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเป็นอำนาจที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพราะมาจากการเลือกตั้ง 2. อำนาจนิติบัญญัติประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่หลากหลายในสภา จึงมีความเป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าฝ่ายบริหาร และ 3. กลไกการตรวจสอบและติดตามกระบวนการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ

 

สำหรับกรณีเว็บไซต์ของรัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า กมธ. จะปัดตกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวว่า ทั้งร่างของประชาชนและร่างของพรรคการเมืองเป็นเอกสิทธิ์ของสภา ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปปัดตกใดๆ ทั้งสิ้น

 

แต่หาก กมธ.วิสามัญฯ มีข้อเสนอก็จะถูกหยิบไปเสนอต่อสภา ซึ่งสภาก็มีเอกสิทธิ์ที่จะฟังข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ จะฟังทั้งหมดหรือจะฟังแค่เพียงบางส่วนไปใช้เพื่อไปผนวกกับร่างกฎหมายก็ได้ โดยร่างทั้งหมดที่ถูกเสนอเข้าสภาขณะนี้ สภาก็มีเอกสิทธิ์ที่จะนำร่างทั้งหมดมารวมกันทั้งหมด หรือจะไม่เอาร่างกฎหมายใดมาเลย แล้วยกร่างทั้งฉบับก็ได้

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ และไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด เนื่องจากคนมักจะหยิบโยงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองว่าจะไปช่วยคนนั้นคนนี้เป็นพิเศษ หรือยกเว้นความผิด

 

เคาะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง

 

จากนั้นภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศ.วุฒิสาร ตันไชย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมได้ข้อยุติว่า ในการนิรโทษกรรมคราวนี้จำเป็นต้องมีกลไกของคณะกรรมการกลั่นกรอง

 

ศ.วุฒิสารชี้แจงความจำเป็นของการมีคณะกรรมการดังกล่าวว่า ขอบเขตระยะเวลาในการนิรโทษกรรมค่อนข้างยาว ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระทำของบุคคลที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมก็มีความหลากหลาย อีกทั้งในอดีตฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมก็เพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต ผู้ที่เข้าข่ายก็อาจมีหลายความผิดและหลายคดี ซึ่งมีฐานมาจากกฎหมายหลายประเภท และในช่วงโควิดก็มีกฎหมายพิเศษเข้ามาอีก

 

ด้วยเหตุนี้ การที่จะนิรโทษกรรมไปเลยโดยไม่มีการกลั่นกรอง อาจทำให้ความยุติธรรมไม่สมบูรณ์ จึงมีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ช่วยพิจารณาข้อเท็จจริง และรับคำอุทธรณ์ของผู้ที่ไม่เข้าข่ายรับการนิรโทษกรรมด้วย ส่วนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา ซึ่งคิดว่าเรื่ององค์ประกอบน่าจะตามมาภายหลังบทบาทของคณะกรรมการชัดเจนแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าร่างกฎหมายจะเห็นด้วยตามนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X