วันนี้ (25 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส. สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน แถลงข่าวด่วนถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานของบริษัท ปตท. กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
ประเด็นนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch) และกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดเมียนมา (Blood Money Campaign Myanmar) ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทเครือ ปตท. กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา อ้างว่ารัฐบาลไทยกับบริษัท ปตท. อาจมีส่วนสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อนำเงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในการปราบปรามประชาชน
ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนฉบับดังกล่าวระบุไว้ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเมียนมา ส่วนใหญ่มาจากก๊าซที่ ปตท. ซื้อโครงการก๊าซนอกชายฝั่งยาดานาที่ดำเนินการโดย ปตท.สผ. โดยผู้ร่วมทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติอย่างโททาลและเชฟรอน ต่างถอนตัวออกจากโครงการแท่นขุดเจาะยาดานาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การประชุมของคณะกรรมาธิการกิจการฯ แบ่งเป็น 3 ครั้ง ครั้งแรกเชิญกระทรวงกลาโหม, กระทรวงพลังงาน, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ เข้ามาร่วมด้วย
“แต่กระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำกับนโยบายเข้ามาชี้แจงเพียงแค่การประชุมคณะกรรมาธิการครั้งแรกเท่านั้น และไม่เข้ามาชี้แจงต่อในห้องอนุกรรมาธิการที่จัดขึ้นในวันเดียวกัน ด้วยเวลาการประชุมที่จำกัดจึงทำให้คณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถหาคำตอบที่แน่ชัดเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน และมาตรการในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการนำรายได้จากการซื้อพลังงานของไทยที่อาจถูกนำไปใช้เป็นเงินสนับสนุนการซื้อยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลเมียนมา และได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานในเมียนมาเท่านั้น”
ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้มาเข้าร่วมเพื่อให้ข้อมูล จึงนัดประชุมครั้งที่ 3 เพื่อหาทางออกร่วมกัน แม้เข้าใจดีว่าแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบมากมาย จึงพยายามหาข้อสรุปจากฝ่ายนิติบัญญัติไปถึงฝ่ายรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทในการจัดหาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุด อนุกรรมาธิการได้เชิญนายกรัฐมนตรี, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ปตท. และ ปตท.สผ. แต่ผู้ชี้แจงมีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น
พนิดากล่าวต่อไปว่า สถานการณ์รัฐประหาร 3 ปีในเมียนมาเข่นฆ่าชีวิตผู้คนไปมากมาย กระทบกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในไทยด้วย จึงจำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชนว่าฝ่ายนิติบัญญัติให้ความสำคัญ อยากให้มีข้อสรุปและแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่ามีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ จะส่งหนังสือไปถามกับ ปตท. ว่าจะสะดวกเข้ามาชี้แจงเมื่อไร หรือหากยังไม่สามารถประสานได้ก็ต้องถามไปยัง ครม. ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สดถามจุดยืนของประเทศไทยต่อสถานการณ์เมียนมา แต่นายกฯ มอบหมายให้ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาตอบแทน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ และไม่ได้มากไปกว่าผู้ที่มาชี้แจงในคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ รัฐบาลยังไม่สามารถตอบคำถามและพิสูจน์ได้ว่าค่าไฟของคนไทยกำลังฆ่าประชาชนชาวเมียนมาอยู่หรือไม่ และเราเป็นเส้นทางการเงินให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาในการเข่นฆ่าประชาชนหรือไม่