เวลาได้ดูหนังดีระดับโลก ผมมักเกิดแรงบันดาลใจในระดับหนึ่ง เพราะมักคิดไปว่าผู้กำกับที่มีชื่อเสียงพวกนั้นเขาอยู่คนละโลกกับผม พวกเขาคิดอะไร ทำอะไร แก้ปัญหาแบบไหน ถึงผลิตงานพีกๆ ออกมาได้ ผิดกับเวลาได้ดูงานของคนใกล้ตัว การที่เรารู้จักตัวตนของคนทำ รู้ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง เมาท์เรื่องอะไร กินข้าวกับอะไร ถึงสร้างงานจี๊ดๆ ออกมาได้ ยิ่งพอเราพยายามสืบค้นหาเคล็ดลับของพวกเขา ซึ่งในท้ายที่สุดมันไม่เคยมีอยู่จริงหรอก จะมีก็แต่การดิ้นรน คิดค้น ปลุกปั้นชิ้นงานอย่างอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้กลางทางเท่านั้นเอง ซึ่งพอได้รู้ว่าพวกเขาก็ลำบากฉิบหายไม่ต่างจากเรานี่หว่า ผมว่านี่แหละ แรงบันดาลใจของจริง
การเวิร์กช็อปสารคดีในหัวข้อ Speaking Truth to Power ทาง UnionDocs ได้เชิญ หนานฟู หวัง (Nanfu Wang) ผู้กำกับชาวจีน มาเล่าประสบการณ์การทำหนังสารคดีเรื่องแรกให้ฟัง เหตุที่ผมเกริ่นเรื่องแรงบันดาลใจจากคนใกล้ตัว ไม่ใช่แค่เพราะผมได้นั่งติดกับเธอตอนฟังบรรยาย แต่เพราะผลงานที่กวาดรางวัลจากเทศกาลหนังสารคดีทั่วโลกเรื่องนี้เป็นผลงานธีสิสปริญญาโทของเธอเอง ซึ่งสำหรับผมที่กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นเดียวกัน โรงเรียนก็อยู่ในละแวกใกล้เคียงกันอีก จะไม่บันดาลใจยังไงไหว
สารคดีของเธอมีชื่อว่า Hooligan Sparrow หรือ เจ้านกกระจอกคลั่ง
หนังเล่าเรื่องนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนชื่อดังในจีนชื่อ เย่ ไห่เหยียน (Ye Haiyan) เจ้าของฉายา ‘เจ้านกกระจอกคลั่ง’ เธอเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่โด่งดังจากการยอมมีเซ็กซ์ฟรีๆ กับแรงงานอพยพเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีให้กับผู้หญิงขายบริการ แคมเปญนี้สร้างกระแสในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง เธอกลายเป็นนักกิจกรรมที่รัฐบาลจีนเพ่งเล็งอย่างหนัก หนังโฟกัสช่วงที่เธอกับเพื่อนๆ รวมตัวกันประท้วงเรื่องคดีข่มขืนเด็กประถมบนเกาะไหหนาน โดยจำเลยคือผู้อำนวยการโรงเรียนและเจ้าหน้าที่รัฐ (สโลแกนในการประท้วงของเธอคือ ‘อย่าไปเอาเด็ก มาเอากับฉันแทนดีกว่า’) แต่คอร์รัปชันในจีนยังคงหนักหน่วง คดีนี้จึงถูกปิดเงียบสนิท แน่นอนว่าไห่เหยียนและครอบครัวถูกคุกคามอย่างหนัก เท่านั้นยังไม่พอ.. หนานฟู ผู้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดก็โดนตามล่าไปด้วย!
ตลอดเรื่อง เราจะได้เห็นความฉิบหายของสิทธิมนุษยชนในจีน นักกิจกรรม ทนาย และคนทำหนังโดนทั้งตำรวจและนักเลงคุกคามกลางวันแสกๆ โดนยัดข้อหาเอาไปขังคุก โดนไล่ออกจากบ้านเช่า โดนไล่ลงจากรถประจำทาง ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามไปทุกแห่ง ซึ่งก็คงพอจะเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาบ้าง แต่หนังเรื่องนี้ถ่ายให้เราเห็นแบบจะจะ ทั้งการคุกคามอย่างป่าเถื่อนแบบระยะประชิดจนกล้องแทบจะโดนตบคว่ำ หัวใจเราเต้นตูมตามไปพร้อมกับหนานฟูที่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ชะตากรรมตัวเองว่าต้องหนีไปทางไหน จะซ่อนฟุตเทจที่ถ่ายมายังไง เสียงร้องโหยหวนของนักกิจกรรมที่โดนตำรวจลากไปต่อหน้าต่อตายังดังก้องอยู่ในบันไดวนที่หนานฟูซ่อนตัวอยู่ เสียงสะอื้นเหล่านั้นเป็นของจริง เราต่างรู้ดีว่าการท้าทายรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลและควบคุมประชาชนแบบถึงลูกถึงคนอย่างจีนไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
หนังเรื่องนี้จึงเป็นบทบันทึกระยะประชิดของนักกิจกรรมและคนทำหนังที่ยืนหยัดท้าทายอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจมืดใดๆ และที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่หนังของผู้กำกับสุดเก๋าที่มีค่ายหนังใหญ่ยักษ์ออกทุนทำให้ แต่เป็นหนังธีสิสของนักศึกษาปริญญาโทที่ถ่ายทำด้วยตัวคนเดียวทั้งเรื่อง
กระบวนการทำหนังสารคดีทุกเรื่องมักมีเบื้องหลังที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่หนังที่โดดเด้ง จุดเริ่มต้นกับปลายทางแทบจะเป็นหนังคนละม้วน ซึ่งธรรมดามาก เพราะคนทำหนังมักตั้งต้นด้วยการวางแผนคิดหนังจากจินตนาการและข้อมูลที่ตนมีผ่านการค้นคว้า แต่เมื่อเอาตัวเข้าไปคลุกคลีกับ subject จริงๆ ถ้าคนทำหนังไม่มัวปิดใจ ยึดมั่นแต่กับความคิดตัวเอง เขาหรือเธอมักค้นพบเรื่องราวที่พีกเหนือความคาดหมายเสมอ
สตีฟ เจมส์ (Steve James) ผู้กำกับสารคดีในตำนานเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าผมคิดเรื่องได้ดีกว่าเรื่องจริงตรงหน้า ผมคงไปเป็นคนเขียนบทหนังแทนแล้วโว้ย”
หนานฟูตั้งต้นโปรเจกต์ด้วยความคาดหวังว่าจะได้บันทึกชีวิตของนักกิจกรรมผู้เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงขายบริการ หลังจากคุยกันทางโทรศัพท์ หนานฟูก็ตีตั๋วบินข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมา เมื่อมาถึงจีน เธอรีบติดต่อไห่เหยียนเพื่อขอนัดเจอ แต่ไห่เหยียนกลับปฏิเสธ เธอบอกว่า
“ฉันไม่ได้กลับบ้านมาเป็นเดือนแล้ว และอาจจะไม่ได้กลับไปอีกเลย”
หนานฟูไม่ละความพยายาม “อย่างน้อยก็บอกหน่อยได้ไหมว่าตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน”
“เมืองกวางโจว”
หนานฟูใช้ไหวพริบตอบทันท่วงที “อ้าว! พอดีเลย ฉันก็อยู่กวางโจวเหมือนกัน เรานัดกินกาแฟกันได้ไหม” เธอตั้งใจโกหกทั้งๆ ที่เมืองกวางโจวนั้นอยู่ห่างออกไป 600 กว่ากิโลฯ เมื่อปลายสายตอบตกลง หนานฟูจึงรีบตีตั๋วรถบัสข้ามคืนเพื่อไปรอพบไห่เหยียนในวันรุ่งขึ้น แต่ไห่เหยียนกลับเทด้วยการส่ง sms มาสั้นๆ ว่า “ขอโทษ”
ว่ากันตามตรง เป็นผมคงล้มโปรเจกต์ไปแล้ว เพราะนาทีนั้นไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า subject คนนี้จะเชื่อใจได้ แต่หนานฟูไม่ยอมแพ้ เธอเฝ้ารออยู่ในเมืองกวางโจวถึง 3 วันจนไห่เหยียนติดต่อกลับมาว่าให้ไปพบกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องต่อรถบัสไปอีก 2 ชั่วโมง หนานฟูเล่าว่านาทีที่ไห่เหยียนเปิดประตูห้องประชุมโรงแรม เธอก็มั่นใจทันทีว่าหนังเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงขายบริการอีกต่อไป เพราะในห้องนั้นเต็มไปด้วยเหล่านักกิจกรรมและทนายสิทธิมนุษยชนที่ทางการจีนต้องการตัวมากที่สุด พวกเขากำลังประชุมเรื่องคดีข่มขืนเด็กนักเรียนหญิงบนเกาะไหหนาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการถ่ายทำ
‘ความเชื่อใจ’ นับเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างงานสารคดีในลักษณะการตามติดชีวิตเพื่อเฝ้าสังเกตความเป็นไป แต่ในกรณีที่ subject มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทำร้าย ‘ความปลอดภัย’ ก็น่าจะสำคัญไม่แพ้กัน ในกรณีของหนานฟู เธอสามารถเข้าหากลุ่มนักกิจกรรมได้อย่างทั่วถึง เพราะไห่เหยียนไว้ใจ เมื่อตัวแม่โอเค ทุกคนก็วางใจอนุญาตให้รับฟังความลับและเรื่องส่วนตัวได้เต็มที่ ส่วนในแง่ความปลอดภัย ผู้หญิงตัวเล็กๆ กับกล้อง DSLR ตัวเดียว ดูไม่น่าจะปกป้องใครจากเงื้อมมือของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ แต่หนานฟูกลับมองว่า
“ทางเดียวที่จะปกป้องทุกคนได้ก็คือการเล่าเรื่องราวของพวกเขานี่แหละ”
ซึ่งนั่นหมายรวมถึงตัวเธอเองด้วย
ในหนังทั่วๆ ไปมักมีซีนแนะนำตัวละครพร้อมยศฐาบรรดาศักดิ์เท่ๆ อะไรก็ว่ากันไป แต่ใน Hooligan Sparrow นั้น subject กลับแนะนำตัวด้วยวิดีโอสั่งเสีย แต่ละคนมองกล้อง พูดชื่อนามสกุล พร้อมบอกว่าถ้าการประท้วงครั้งนี้จะทำให้พวกเขา ‘หายไป’ วิดีโอนี้จะเป็นหลักฐานว่าพวกเขาไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย และหากมันเกิดขึ้น นั่นเป็นฝีมือของรัฐบาล ซึ่งแน่นอน… หนานฟูก็สั่งเสียไว้ด้วย
“หนังทุกเรื่องที่ฉันทำคือประสบการณ์ส่วนตัวของฉัน มันเปลี่ยนมุมมองที่ฉันมีต่อโลก และทำให้ฉันกลายเป็นนักกิจกรรม เพราะชีวิตฉันได้รับผลกระทบโดยตรง”
หลังจากวันที่เธอตัดสินใจยัดฮาร์ดดิสก์ใส่ในถุงเท้าคู่ที่เหม็นที่สุดในกระเป๋าเพื่อหวังจะหลบเลี่ยงการตรวจค้นที่สนามบิน เธอก็ไม่ได้กลับไปเหยียบแผ่นดินจีนอีกเลย เพื่อนที่ทำงานให้กับรัฐบาลแอบกระซิบมาว่า หนานฟูถูกขึ้นบัญชีดำ ครอบครัวของเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐขอร้องแกมข่มขู่ให้ช่วยปรามไม่ให้หนานฟูสัมภาษณ์สื่อใดๆ ในอเมริกา รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับหนังของเธอ เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่องที่ถูกแบน หรือกระทั่งถูกถอดออกจากเสิร์ชเอ็นจิน
เมื่อไม่มีข้อมูลให้ค้นหา คนก็เลิกตั้งคำถาม เลิกสงสัย
แต่ผมนี่เองที่ยังคาใจ หลังจบคลาส ทุกคนต่างไปห้อมล้อมหนานฟู ดูจะเป็นการคุยแบบทดเวลาที่นานกว่าคลาสอื่นๆ ตลอดเวิร์กช็อป 3 วันมานี้ พอคนเริ่มซาได้จังหวะ ผมจึงเดินดุ่มเข้าไปถาม
“อะไรทำให้คุณตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามันจะทำให้คุณกลับประเทศไม่ได้อีกเลย”
เอาจริงๆ คำตอบของเธอคงเดาได้ไม่ยาก เราอาจจะเคยอ่านเจอจากบทความของคนทำหนังในตำนานสักคน แต่การได้นั่งอยู่ตรงหน้า ได้ยินคำพูดจากปากของนักศึกษารุ่นราวคราวเดียวกันนี่มันทรงพลัง สะท้านยิ่งกว่าประโยคคมๆ หรือสโลแกนปลุกใจของศิลปินคนไหนๆ หนานฟูบอกว่า เธอไม่รู้หรอกว่าจะได้กลับไหม อยากกลับ แต่ก็กลัวมาก แต่ยังไงก็ตาม..
“เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องถูกเล่า และเพื่อประเทศของฉัน ฉันคิดว่ามันคุ้มที่จะเสี่ยง”
Hooligan Sparrow [Trailer]
ในช่วงที่ไห่เหยียนถูกคุกคามอย่างหนัก เธอเคยถูกไล่ลงจากรถประจำทางตอนเช้ามืด ข้าวของทุกอย่างถูกกองไว้ริมถนนอย่างไร้เยื่อใย อ้ายเว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินชาวจีนชื่อดังเลยเอาสัมภาระของเธอในวันนั้นมาจัดแสดงในงานชื่อ According to What? ณ พิพิธภัณฑ์บรูกลิน arthag.typepad.com
หนานฟู เรียนที่ NYU School of Journalism สาขา News and Documentary ซึ่งมีกฎเหล็กคือความยาวธีสิสต้องไม่เกิน 30 นาทีโดยไม่มีข้อยกเว้น หนานฟูพยายามตัดต่อให้สั้นที่สุดยังไงก็ได้ 60 นาที เธอเลยนำฟุตเทจไปให้หัวหน้าภาควิชาดู ซึ่งก็ไฟเขียวอย่างไม่ต้องสงสัย journalism.nyu.edu