วันนี้ (31 มกราคม) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเรื่อง ‘คนไทยกับวัคซีนโควิด-19’ โดยสำรวจความเห็นประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,570 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 22-29 มกราคม 2564 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นจากกรณีที่ไทยจะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ โดยวัคซีนล็อตแรกคือ AstraZeneca จากสหราชอาณาจักร วัคซีน Sinovac จากจีน และจะมีการผลิตวัคซีนภายในประเทศโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวัคซีนของไทย โดยสรุปผลได้ดังนี้
1. ประชาชนรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อบริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ใดบ้าง
อันดับ 1 Pfizer- BioNTech 64.27%
อันดับ 2 Oxford-AstraZeneca 52.55%
อันดับ 3 Sinovac-Biotech 51.66%
อันดับ 4 Johnson & Johnson 35.10%
อันดับ 5 Moderna 28.28%
2. ประชาชนมีความกังวลเรื่องใดบ้างในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทย
อันดับ 1 ผลข้างเคียงของวัคซีน 82.71%
อันดับ 2 ประสิทธิภาพของวัคซีน 71.96%
อันดับ 3 ความเพียงพอของวัคซีนสำหรับประชาชนทุกคน 54.67%
อันดับ 4 ราคาต่อเข็มของวัคซีนกรณีที่ประชาชนต้องจ่าย 44.17%
อันดับ 5 ยี่ห้อของวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อ 38.60%
3. ประชาชนต้องการจะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่
อันดับ 1 ต้องการฉีด แต่ขอรอดูผลข้างเคียงก่อน 65.99%
อันดับ 2 ต้องการฉีด และพร้อมฉีดได้เลย 20.70%
อันดับ 3 ไม่ต้องการฉีด 13.31%
4. ประชาชนเชื่อมั่นว่าวัคซีนจะป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่
อันดับ 1 ค่อนข้างเชื่อมั่น 63.88%
อันดับ 2 ไม่เชื่อมั่น 19.30%
อันดับ 3 เชื่อมั่น 16.82%
5. เมื่อมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยแล้ว การดูแลสุขภาพของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
อันดับ 1 ดูแลเหมือนเดิม 60.83%
อันดับ 2 ดูแลมากขึ้น 35.54%
อันดับ 3 ดูแลน้อยลง 3.63%
พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 เป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาล เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของหลายประเทศก็ต่างมีความคืบหน้าอย่างมากในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจทั้งในเรื่องยี่ห้อวัคซีน ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง กระบวนการจัดซื้อ ความล่าช้า ราคา และความโปร่งใส นับว่าเรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่งในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน
ดร.วิทวัส รัตนถาวร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่าจากผลสำรวจในเรื่อง ‘คนไทยกับวัคซีนโควิด-19’ บ่งชี้ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งในด้านของประสิทธิภาพ ราคา และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังจากการได้รับวัคซีน
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับความเชื่อมั่นของประชาชนในด้านความปลอดภัยของวัคซีน โดยสะท้อนจากผลสำรวจที่พบว่าประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนมากถึง 82.71% ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางภาครัฐที่ต้องดำเนินการเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบริษัท
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์