×

ย้อนที่มาวาทกรรม ประชาชนโง่ จากข้อสรุปทางวิชาการสู่นิทานการเมืองโง่ จน เจ็บ

19.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • คำว่า ประชาชนโง่ ไม่เพียงแต่หลุดลงไปในหนังสือราชการในยุคไทยแลนด์  4.0 แต่มันคือผลผลิตที่หมุนเวียนใช้อธิบายการเมืองไทยมาตั้งแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519
  • นิทานการเมือง โง่ จน เจ็บ มีที่มาจากข้อสรุปทางวิชาการของนักวิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ที่มักตัดทอนส่วนสำคัญในทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ออกไป
  • นิทานการเมืองเรื่องใหม่ที่ชื่อว่า ‘คนเราเท่ากัน’ เพิ่งถูกผลิตและเผยแพร่ออกไปได้ไม่นาน

ภารกิจ ‘ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่’ คือหัวข้อหลักในหนังสือเชิญประชุม หน่วยงานราชการท้องถิ่น ศึกษาธิการ และสาธารณสุข เพื่อเตรียมการต้อนรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดขอนแก่น

 

หนังสือดังกล่าวลงนามโดย นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น แต่ทันทีที่หนังสือฉบับนี้เผยแพร่ไปในในโลกออนไลน์ ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่น จนผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมทีมรองผู้ว่าฯ และคนร่างหนังสือระดับหัวหน้าฝ่าย ต้องออกมาพนมมือไหว้แถลงข่าวขอโทษประชาชน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจดูถูกดูแคลน แต่เกิดจากความผิดพลาด และได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามระเบียบแล้ว

 

‘คนเราไม่เท่าเทียมกัน’ คือแนวคิดครอบงำสังคมไทย

คำว่า ประชาชนโง่ ไม่เพียงแต่หลุดลงไปในหนังสือราชการในยุคนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่หากสืบสาวที่มาจะพบวาทกรรมประชาชนโง่หมุนเวียนอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และผ่านการผลิตซ้ำส่งต่อกันมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งงานวิชาการ เรื่องเล่า คำปราศรัย และสื่อมวลชน

ย้อนไปเมื่อปี 2557 ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวปาฐกถาในวาระครบรอบ 82 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 หัวข้อ ‘การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย’

 

ประจักษ์อธิบายว่า แนวคิดที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานานคือ ‘คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน’ โดยมีปัญญาชนอนุรักษนิยม 3 ท่าน คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลิตแนวคิดนี้ ก่อนจะถูกต่อยอด อ้างอิง และผลิตซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยหลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสังคมไทยปรับตัวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ การเลือกตั้งเริ่มถูกนำมาใช้เป็นวิถีทางขึ้นสู่อำนาจอย่างต่อเนื่องมากขึ้น แนวคิดคนไม่เท่ากันจึงถูกนำมาดัดแปลงและผลิตซ้ำจนกลายมาเป็นวาทกรรมเรื่อง ‘โง่ จน เจ็บ’

 

โง่ จน เจ็บ จากข้อสรุปทางวิชาการสู่นิทานการเมือง

ย้อนไปช่วงปี 2551 ประจักษ์เคยเขียนบทความนําเสนอในที่สัมมนาการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 ฉายภาพนิทานการเมือง โง่ จน เจ็บ ของคนชนบท

 

ซึ่งมีโครงเรื่องคือ ผู้ร้ายของเรื่องได้แก่ คนชนบทที่โง่และจน ร่วมกับนักการเมืองในการก่ออาชญากรรมท่ีเรียกว่าการ ซื้อสิทธิขายเสียง ทําให้การเมืองไทยเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและไร้ซึ่งศีลธรรม

 

แม้โครงเรื่องของนิทานนี้จะชัดเจน แต่ที่มาที่ไปกลับสืบสาวหาได้ยากเย็น แต่จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ประจักษ์ระบุว่า ที่มาของนิทานเรื่องนี้มีต้นตอมาจากนักรัฐศาสตร์เอง

 

ประจักษ์อธิบายว่า การศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทยแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็จะวนเวียนอยู่กับทฤษฎีและกรอบการวิเคราะห์เดิมๆ ซึ่งมักจะมุ่งไปที่การศึกษาในเชิงการสํารวจทัศนคติของผู้เลือกต้ัง เพื่อทํานายผลทางการเมือง หรือเป็นการศึกษา พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของประชาชน (behavioralism) ที่ใช้เครื่องมือหลักคือการออกแบบสอบถามและการหาค่าตัวแปรด้วยเทคนิคทางสถิติ แต่ขาดงานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาที่ต้องลงพื้นที่พูดคุยเก็บข้อมูลเชิงลึกของพฤติกรรมเหล่านั้น

 

ที่สำคัญผลสรุปของการศึกษาแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยข้อสรุปจากงานวิจัยจํานวนมากต่างเน้นย้ำความแตกต่างระหว่างผู้เลือกต้ังในชนบทกับในเมือง

และสรุปว่าผู้เลือกตั้งชาวชนบทขาดความรู้ท่ีถูกต้องเก่ียวกับความสําคัญของการเลือกต้ัง และไม่เข้าใจประชาธิปไตย ไม่รู้จักพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง เน้นแต่คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร ประกอบกับการท่ีมีฐานะอันยากจน ทําให้ผู้เลือกต้ังในชนบทตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

 

นอกจากนี้ประจักษ์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า งานวิจัยจำนวนมากมักอ้างอิงทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่กลับตัดมิติทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจออกเหลือ แต่เพียงมิติทางศีลธรรม

 

และที่สำคัญทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยกลับมีทัศนคติต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวชนบทดีกว่างานวิจัยจํานวนมากที่อ้างอิงงานชิ้นนี้ ตัวอย่างที่มักถูกตัดทอนออกไป เช่น

 

“การลงคะแนนเสียงของชาวชนบท ซึ่งเรียกคลุมๆ ว่าการซื้อขายเสียงน้ัน ไม่ได้เป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม อย่างที่ชนชั้นกลางหรือคนในเมืองเข้าใจ หากมีธาตุของการประเมินผลงานในอดีตของผู้สมัคร และผลประโยชน์ท่ีคาดว่าผู้สมัครจะนํามาให้แก่ชุมชนเช่นกัน จริงอยู่ นับวันเงินจะเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ แต่เงินก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพียงพอท่ีจะดลบันดาลให้ใครคนใดคนหน่ึงได้รับการเลือกตั้งเสมอไป…

 

“สรุปว่าชาวบ้านส่วนใหญ่คํานึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว มากกว่าการรับอามิสสินจ้างในช่วงหาเสียง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่รับเงิน”

 

(สองนคราประชาธิปไตย, เอนก เหล่าธรรมทัศน์)

 

นิทานเรื่องนี้สอนคนไทยให้ไม่เอาประชาธิปไตย

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา คอลัมนิสต์ เคยวิเคราะห์นิทาน โง่ จน เจ็บ นี้ไว้ว่า ทำให้ชนชั้นกลางไทยเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะที่จะเลือกผู้แทนของตนเอง และกลับไปสู่การเลือกคนดี มีศีลธรรม แม้จะเป็นเสียงของคนข้างน้อยก็ตาม ท้ายที่สุดมันนำสังคมไทยมาสู่วันนี้ ที่ทำให้ชนชั้นกลางในเมืองหันหลังให้ประชาธิปไตย

 

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันมีนักวิชาการรุ่นใหม่ได้ทำการสำรวจวิจัยการเมืองไทยสมัยใหม่ จนได้ข้อสรุปที่แน่ชัดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาว่า สังคมชนบทได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

 

การพัฒนาทางเศรษฐกิจตลอดช่วงอายุคนที่ผ่านมาส่งผลให้คนชนบทมีการศึกษาสูงขึ้น ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เกิดชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีอิสระทางความคิดมากขึ้น

 

และการซื้อเสียงแม้จะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่เคยเป็นปัจจัยสำคัญชี้ขาดผลแพ้-ชนะการเลือกตั้ง แต่ปัจจัยที่มีผลสำคัญที่สุดคือนโยบายของพรรคการเมืองนั้นๆ

 

คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่านิทานเรื่องใหม่ที่ชื่อว่า ‘คนเราเท่ากัน’ จะแพร่หลายแทนที่นิทาน ‘โง่ จน เจ็บ’

 

แต่นิทานเรื่องใหม่ได้ถูกเริ่มเล่าขึ้นแล้ว และกำลังถูกบอกส่งต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X