คนคือภาพสะท้อนของเมือง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเมืองที่มีสภาพแวดล้อมดีๆ จึงทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเมืองเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต คนเมืองจะมีการพัฒนาได้อย่างไร ซึ่งที่ประชุมสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ปี 2019 ที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า การที่มนุษย์เรานั้นมีความคิดหรือความสามารถลดลง อาจเกี่ยวข้องกับ ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ ที่ปนอยู่ในอากาศที่เราใช้หายใจกันอยู่
มีรายงานมากมายที่สร้างความตื่นตัวไปทั่วโลกว่าระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับศตวรรษที่ผ่านมา จนในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นจนทุบสถิติสูงสุด และสอดคล้องกับกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์ที่ได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’
และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกๆ จำนวน 9 ใน 10 ของผู้คนบนโลกนี้ได้หายใจเอาอากาศที่มีสารมลพิษระดับสูงเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทวีปแอฟริกาและเอเชียคือทวีปที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มากที่สุด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การที่เราอาศัยอยู่ในสภาพอากาศแบบนี้ส่งผลให้เกิดอะไรกับชีวิตได้บ้าง จึงนำไปสู่การค้นพบอย่างหนึ่งที่อาจใช้อธิบายศักยภาพที่ลดลงของมนุษย์ในเวลาต่อมา
งานศึกษานี้มีการเผยแพร่ลงในสื่อออนไลน์ชื่อ EarthArXiv โดยจุดเริ่มต้นเกิดจาก คริสโตเฟอร์ คาร์นัสคัส (Kristopher Karnauskas) เชลลี มิลเลอร์ (Shelly Miller) จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด และแอนนา ชาปีโร (Anna Schapiro) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับความสามารถในการคิดของมนุษย์ จากนั้นก็ได้สร้างแบบจำลองเพื่อทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้น นั่นก็คือสิ่งที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ‘มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล’ (Fossil Fuel Pollution) จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ทำให้สมาธิ ความสนใจ ความระมัดระวังตัว และความจำของนักเรียนลดลง ถ้าในส่วนของการทำงาน ก็จะทำให้ความสามารถในการตัดสินใจ การวางกลยุทธ์ และการตอบสนองต่อวิกฤตต่างๆ ลดลง แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีต่อร่างกายแน่ๆ
แม้การศึกษานี้ไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์สาเหตุหรือผลกระทบใดๆ เลยด้วยซ้ำ แต่ก็มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าทำไมระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถทำร้ายสมองของเราได้ ซึ่งความจริงก็เป็นเพราะถุงลมในปอดของเราแลกเปลี่ยนออกซิเจนในอากาศกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในเลือด ถ้าหากในอากาศที่เราหายใจเข้าไปมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมมาก แต่ออกซิเจนน้อย ก็จะทำให้เลือดของเราได้รับปริมาณออกซิเจนไม่เท่ากัน และขณะเดียวกันออกซิเจนเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เซลล์ของเราทำงาน หากเซลล์สมองได้รับออกซิเจนได้ไม่มากพอ จะทำให้การทำงานเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการทำงานในส่วนของความรู้ความเข้าใจ ทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่อง และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
จากการศึกษาเบื้องต้นนี้ นักวิจัยจึงนำข้อมูลมาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสมมติว่าปัจจุบันมีแนวโน้มว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กำลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพแวดล้อมยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งการคาดการณ์นี้ก็พบว่า ภายในปี 2100 ความสามารถในการตัดสินใจขึ้นพื้นฐานของมนุษย์นั้นจะลดลงประมาณ 25% และกระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ที่ซับซ้อนจะลดลงอีก 50% และเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะนั่นมันอีกแค่ 80 ปีที่จะถึงนี้เอง
แม้การกล่าวอ้างนี้จะยังไม่ได้รับการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในเรื่องของตัวเลขและแบบจำลองทั้งหมด แต่รายงานการศึกษานี้ก็ได้เน้นถึงความจริงที่ว่า ‘สภาพแวดล้อม’ สามารถส่งผลกระทบต่อ ‘ความสามารถในการคิด’ ของมนุษย์ได้ เพราะทั้งสองตัวแปรนี้ถูกกำหนดให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่สร้างความประจักษ์ต่อปัญหานี้มากขึ้น นั่นก็คืองานวิจัยที่เผยแพร่ลงใน Proceedings of the National Academy of Sciences ในปี 2018 โดยนักวิจัยของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (IFPRI) ได้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 32,000 คนในประเทศจีน ระหว่างปี 2010-2014 โดยทุกคนได้เผชิญกับมลพิษทางอากาศทั้งระยะยาวและระยะสั้น และพบว่าผลสอบการคิดเลขของพวกเขามีคะแนนลดลง ในขณะที่มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และความสามารถในการพูดของกลุ่มผู้สูงอายุก็ลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมได้
“มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อสมองของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และอาจกระทบไปถึงเศรษฐกิจ เพราะความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานในชีวิตประจำวันของพวกเขา และการค้นพบครั้งนี้ทำให้รู้ว่าสวัสดิการสังคมอาจเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก” จางเสี่ยวโป (Xiaobo Zhang) จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเป็นผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้กล่าว
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสถานการณ์ในตอนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกว่า 97% ต่างก็ยอมรับว่าทั้งหมดนี้มีส่วนมาจาก ‘กิจกรรมของมนุษย์’ ทั้งนั้น ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรืออะไรก็ตามที่เราเรียกกัน
ที่เลวร้ายกว่านั้นคือมีแนวโน้มว่ามนุษย์เราจะเพิกเฉยและไม่ทำอะไรเลยจนกว่าภัยพิบัติต่างๆ จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งปัญหาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าภัยพิบัตินั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อภัยพิบัติที่เรากำลังพูดถึงกำลังส่งผลต่อการรับรู้ของเราเช่นเดียวกัน
หากอยากรู้ว่าอากาศที่ไม่ดีนั้นส่งผลให้สมองของเราทำงานแย่ลงอย่างไร ให้ลองเข้าไปอยู่ในห้องร้อนๆ หรือสวมหน้ากากไว้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง แล้วดูว่าเราจะยังคงใช้สมองหรือมีศักยภาพในการทำงานได้แบบเดิมอยู่อีกหรือไม่ แล้วเราจะพบกับความน่ากลัวของมลภาวะที่เราอาศัยอยู่ในขณะนี้
ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวสักเท่าไรกับประเทศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM2.5 ปะปนอยู่ในอากาศปริมาณมากอย่างประเทศไทย ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะใส่ใจกับสภาพอากาศและมลภาวะกันให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เพื่อพัฒนาการที่ดีของสมองเราเองเท่านั้น แต่เพื่อการเติบโตที่ดีของลูกหลานหรือคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคตด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: