×

Studio 54 ตำนานไนต์คลับนิวยอร์กยุค 70s ที่ช่วยหล่อหลอมวัฒนธรรมของเรา

12.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Studio 54 ตั้งอยู่ใจกลางเกาะแมนฮัตตันในนิวยอร์ก ซึ่งในปี 1977 สตีฟ รูเบลล์ และเอียน ชราเกอร์ ตัดสินใจเทกโอเวอร์อาคาร และเปิดคลับเมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 1977
  • สตีฟ รูเบลล์ จะยืนบนเก้าอี้ข้างหน้าทางเข้า และชี้ว่าใครเข้าได้หรือไม่ได้ โดยเขาจะฉลาดในการผสมผสานผู้คนจากหลากหลายอาชีพ รสนิยมทางเพศ และสไตล์ ซึ่งระดับที่คนสู้กันเพื่อถูกเลือกก็มีทั้งจูงหมาเป็นพร็อพหรือขี่ม้ามาด้วย
  • เหล่าดาราคนดังที่ตบเท้าเข้ามาที่คลับนี้ มีทั้งไมเคิล แจ็กสัน, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์, เดวิด โบวี, ซัลบาโด ดาลี, เฟรดดี เมอร์คิวรี, คาร์ล ลาเกอร์เฟล, แจ็กกี้ เคนเนดี และบิอันกา แจ็กเกอร์ ที่สร้างโมเมนต์ตำนานกับการถ่ายภาพขี่ม้าที่งานปาร์ตี้วันเกิดอายุครบ 30 ของเธอ
  • พอมาในช่วงปลายปี 1978 หน่วย IRS ที่จัดเก็บภาษีในสหรัฐอเมริกา ก็ตัดสินใจไปค้นคลับแห่งนี้ และพบว่า มีการโกงเงินไปกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ และมีการเอาเงินสดไปซ่อนอยู่ใต้หลังคาของออฟฟิศ ซึ่งภายหลังเจ้าของทั้งคู่ก็โดนจับข้อหาทุจริตเลี่ยงภาษี และติดคุกเป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่ง โดยทางคลับก็จัดปาร์ตี้ส่งท้ายอย่างยิ่งใหญ่ช่วงต้นปี 1980 พร้อมมีดารามากันล้นหลามเช่นเคย

 

บรรยากาศภายใน Studio 54

 

คนดังที่ Studio 54 ทั้งฮาลส์ตัน, บิอันกา แจ็กเกอร์, แอนดี้ วอร์ฮอล และไลซา มินเนลลี

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีไนต์คลับหรือสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนที่สามารถสร้างความทรงจำต่อมนุษย์ทุกคน และเป็น Snapshot ที่ทุกครั้งเรากลับมานั่งคิด พออายุมากขึ้นก็จะเป็นอารมณ์ “ทำลงไปได้!” หรือ “แต่ก่อนเราโคตรสุด” ไม่ว่าจะเป็น Ministry of Sound สำหรับคนลอนดอน, Pacha ที่เกาะอิบิซ่า หรือในประเทศไทยก็มีเดอะพาเลซช่วงยุค 80s หรือ Taurus ในยุค 90s

 

แต่มีหนึ่งคลับที่มหานครนิวยอร์กชื่อ ‘Studio 54’ ที่แค่ช่วงเวลาราว 3 ปีที่เปิดทำการ (ปี 1977-1980) ก็ไม่เพียงสร้างความทรงจำ แต่ยังช่วยขับเคลื่อนสังคม แฟชั่น และดนตรี ในทิศทางที่เป็นรากฐานต่อวัฒนธรรมป๊อปของเราทุกวันนี้

 

Studio 54 ตั้งอยู่ใจกลางเกาะแมนฮัตตันในนิวยอร์กตรง 254 West 54th Street ระหว่าง Eighth Avenue และ Broadway ซึ่งอาคารก่อสร้างครั้งแรกในปี 1927 เพื่อเป็นสถานที่การแสดงโอเปราชื่อ Gallo Opera House ก่อนจะเปลี่ยนมือเป็นทั้งโรงละครและสตูดิโอโทรทัศน์ของช่อง CBS โดยในปี 1977 สตีฟ รูเบลล์ และเอียน ชราเกอร์ เพื่อนและนักธุรกิจตัดสินใจเทกโอเวอร์อาคารภายใต้บริษัท Broadway Catering Corp. ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยเปิดไนต์คลับชื่อ ‘Enchanted Garden’ ในเขตควีนส์ที่ก็ประสบความสำเร็จพอใช้ แต่เพราะไม่ได้อยู่บนเกาะแมนฮัตตันที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของความสำเร็จกับคนสไตลิชและมีชื่อเสียง ทั้งคู่เลยอยากลองมือ และกลายเป็นผู้เล่นตัวสำคัญในแวดวงไนต์คลับของนิวยอร์ก

 

สตีฟ รูเบลล์ และเอียน ชราเกอร์

 

ที่งานนิตยสาร Interview Magazine ของแอนดี้ วอร์ฮอล

 

หลังปรับปรุงอาคารเพียง 6 สัปดาห์ ด้วยงบ 4 แสนดอลลาร์ Studio 54 ก็เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 26 เมษายน ปี 1977 ซึ่งแม้คลับจะตั้งอยู่ในย่านที่ตอนนั้นเต็มไปด้วยโรงภาพยนตร์หนังโป๊ และถูกมองว่าเถื่อน แต่ Studio 54 ก็ประสบความสำเร็จทันที พร้อมงานเปิดตัวที่เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต แอนดี้ วอร์ฮอล ช่วยลิสต์แขก ซึ่งรายชื่อจะอยู่ในหมวด ‘The Islanders’ ที่ประกอบไปด้วยศิลปิน นักร้อง นักแสดง ไฮโซ แฟชั่นดีไซเนอร์ และนางแบบระดับท็อป เป็นต้น

 

สิ่งที่ทำให้ Studio 54 กลายเป็นไนต์คลับสุดฮอตถ้าเทียบกับคลับอื่นๆในแมนฮัตตันช่วงยุคที่เพลงดิสโกครองตลาดก็คือ การดีไซน์และตกแต่งภายใน ซึ่งหากยังคงเปิดบริการจนถึงวันนี้ เหล่ามิลเลนเนียลก็คงถ่ายรูปลงอินสตาแกรมทุกมุม

 

โดยทางเข้าจะเป็นฮอลล์ ทางเดินตกแต่งด้วยกระจกทั้งหมด ก่อนจะถึงห้องโถงที่ประดับไปด้วยแชนเดอเลียร์ และเพราะอาคารเคยเป็นสตูดิโอโทรทัศน์เก่ามาก่อน ทางทีมงานก็มีไอเดียไม่ทุบทิ้งฉาก แต่กลับให้เลื่อนขึ้นลงต่างระดับ และตกแต่งอย่างตระการตาตามคอนเซปต์ธีมปาร์ตี้ในแต่ละคืน อย่างเช่น บางคืนก็จะมีคนขึ้นไปเต้นบนเครนสะพานราวกับว่าเป็นองค์ประกอบของคอนเสิร์ตบียอนเซ่ ส่วนอีกความพิเศษคือ การติดตั้งโคมไฟที่สามารถห้อยลงมาถึงระดับตาคน และเป็นไฟกะพริบรถตำรวจที่จะสร้างความเร้าใจ แถมอย่างเช่น ช่วงงานปีใหม่ก็มีการโปรยพื้นด้วยกากเพชรสี่ตัน เพื่อทำให้เหมือนกำลังเดินบนทรายระยิบระยับ

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีเงินค่าเข้า 15 ดอลลาร์ จะสามารถเข้าไปที่ Studio 54 ได้ ซึ่งการเลือกคนได้กลายเป็นกลยุทธ์ของคลับ เพื่อสร้างกระแส และทำให้ทุกคนต่างแย่งชิงความเด่น โดยสตีฟ รูเบลล์ จะยืนบนเก้าอี้ข้างหน้าทางเข้า และชี้ว่าใครเข้าได้หรือไม่ได้ โดยระดับที่คนสู้กันเพื่อถูกเลือกก็มีทั้งจูงหมาเป็นพร็อพ ขี่ม้า หรือแต่งตัวที่บ้าที่สุดที่ตัวเองจะคิดได้ ซึ่งถ้าในคืนนั้นไม่ถูกเลือก เขาหรือเธอก็จะกลับมาใหม่ พร้อมการแต่งตัวและพร็อพที่จัดเต็มกว่าเดิม

 

บิอันกา แจ็กเกอร์ ที่งานวันเกิดครบ 30 ปี

 

ตั๋วเข้า Studio 54 ดีไซน์โดย แอนดี้ วอร์ฮอล

 

 

สตีฟ รูเบลล์ ฉลาดในการผสมผสานหลากหลายคนจากหลากหลายอาชีพ รสนิยมทางเพศ และสไตล์ ซึ่งพูดได้ว่าเป็นคอนเซปต์  ‘Diversity’ อย่างแท้จริง โดยในบางคืนเราก็จะเห็นนักธุรกิจจากย่าน Wall Street พร้อมชุดสูทไหล่กว้างมาเต้นอยู่กับพนักงานแมคโดนัลด์ และ Drag Queen ส่วนคนข้ามเพศก็จะมีโอกาสเท่าเทียมคนอื่น ทั้งที่ในทุกวันนี้อาจยังเจอปัญหากีดกันในคลับบางประเทศ ซึ่งเสน่ห์ของ Studio 54 คือตอนคุณไปอยู่ร่วมแดนซ์ฟลอร์กับคนอื่นๆ คุณก็จะหลุดเข้าไปในแสงสีเสียงโดยไม่ได้สนใจใครทั้งนั้น เหมือนอยู่ในอารมณ์ที่ว่า “ฉันขอสนุกไว้ก่อน และปัญหาของโลกความเป็นจริงด้านนอกค่อยว่ากันพรุ่งนี้”

 

แต่ตำนานของ Studio 54 จะไม่สมบูรณ์แบบหากไม่เอ่ยถึงเหล่าดาราที่ตบเท้าเข้ามาที่คลับ ซึ่งมากเสียจนงาน Met Gala ที่เราคิดว่าเกสต์ลิสต์เจ๋งที่สุดต้องชิดซ้าย โดยแฟนประจำของคลับในตอนนั้นมีทั้งไมเคิล แจ็กสัน, คาลวิน ไคลน์, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์, แชร์, แจ็ก นิโคลสัน, เดวิด โบวี, ซัลบาโด ดาลี, เฟรดดี เมอร์คิวรี, เอลตัน จอห์น, คาร์ล ลาเกอร์เฟล, แจ็กกี้ เคนเนดี และบิอันกา แจ็กเกอร์ ที่สร้างโมเมนต์ตำนานกับการถ่ายภาพขี่ม้าที่งานปาร์ตี้วันเกิดอายุครบ 30 ปีของเธอ ที่ดีไซเนอร์รอย ฮาลส์ตัน โฟรวิก จัดให้ หรือแม้แต่ดาราเด็กในตอนนั้นอย่าง ดรูว์ แบร์รีมอร์ และบรุก ชีลส์ ก็ได้เข้าและไปนั่งโซฟาโซนวีไอพีร่วมกับดาราคนอื่นๆ และเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์แทบทุกวันในนิวยอร์ก

 

ส่วนด้านศิลปินที่มาแสดงก็มี อาทิ เกรซ โจนส์, ดอนนา ซัมเมอร์ และที่ดังสุดในตอนนั้นก็คือวงชิค นำทีมโดยมือกีตาร์ ไนล์ ร็อดเจอร์ส กับเพลงอมตะ Le Freak ที่พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้จากการที่โดนปฏิเสธให้เข้า Studio 54 ในปีแรก แต่พอเพลงนี้ดังเป็นพลุแตก ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งทั่วโลก ทางวงก็ได้เข้าไนต์คลับนี้สมใจ

 

ไดอานา รอสส์ ที่งานปาร์ตี้ปิดตัว

 

 

ความยิ่งใหญ่ของ Studio 54

แต่พอ Studio 54 เปิดตัวได้เดือนเดียวก็โดนหน่วยงานภาครัฐ New York State Division of Alcoholic Beverage Control มาตรวจสอบ และพบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งทางเจ้าของก็ให้ข้ออ้างว่าเป็นการเข้าใจผิด และคืนถัดมาที่บาร์จึงเสิร์ฟแค่น้ำผลไม้ แล้วแอบให้ขวดเหล้าเล็กๆ เพื่อให้แขกที่มาไปมิกซ์เอง

 

พอมาในช่วงปลายปี 1978 ตอนที่ Studio 54 อยู่บนจุดพีกของความสำเร็จ และกลายเป็นสถาบันสำคัญเชิงวัฒนธรรม หน่วย IRS ที่จัดเก็บภาษีในสหรัฐอเมริกา ก็ตัดสินใจไปค้นคลับแห่งนี้ หลังมีการรายงานว่า Studio 54 ทำเงินไปกว่า 7 ล้านดอลลาร์ภายในปีแรก แต่ภาษีที่ สตีฟ รูเบลล์ และเอียน ชราเกอร์ จ่าย กลับน้อยกว่ามาก ซึ่งทาง IRS และตำรวจก็พบเจอว่ามีการโกงเงินไปกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ และมีการเอาเงินสดไปซ่อนอยู่ใต้หลังคาของออฟฟิศ ซึ่งภายหลังเจ้าของทั้งคู่ก็โดนจับข้อหาทุจริตเลี่ยงภาษี และต้องเขาคุกเป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่ง

 

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า Studio 54 จะปิดตัวลงอย่างเงียบๆ เพราะทางคลับก็จัดปาร์ตี้ส่งท้ายอย่างยิ่งใหญ่ช่วงต้นปี 1980 พร้อมมีดารามากันล้นหลามตามเคย และยังได้ ไดอานา รอสส์ มาร้องเพลงให้ ซึ่งต่อมา สตีฟ รูเบลล์ และเอียน ชราเกอร์ ก็ได้ขายตึก Studio 54 ให้กับ มาร์ก เฟลชแมน และถึงแม้ในปี 1981 จะพยายามปลุกปั้นกระแสให้กลับมาอีกครั้ง พร้อมมีคนดังมามากมาย แต่ทุกอย่างก็เริ่มเฟดตัวลง และไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป

 

Halpern Fall 2018

 

Marc Jacobs Spring 2011

 

ภาพยนตร์เรื่อง 54 ในปี 1998

 

มาถึงวันนี้ Studio 54 ก็ครบ 41 ปี และยังมีอิทธิพลไม่เสื่อมคลาย แฟชั่นดีไซเนอร์อย่าง มาร์ก เจคอบส์, แอนโธนี แว็กกาเรลโล ที่ Saint Laurent, อาเลสซันโดร มิเชล ที่ Gucci และไมเคิล ฮาเปิร์ล ก็ยังใช้คลับนี้เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน, เข้าไปใน Spotify ก็ยังคงมีเพลย์ลิสต์ ‘Studio 54’ มากมายให้เปิดฟัง, เคยมีหนังใหญ่ชื่อ 54 ในปี 1998 ที่นำแสดงโดยไมค์ ไมเออรส์, ซัลมา ฮาเยก, เนฟ แคมป์เบิล และไรอัน ฟิลลิปปี, ไปร้านหนังสือก็มีหนังสือภาพตั้งโต๊ะ Studio 54 ที่เอียน ชราเกอร์ หนึ่งในเจ้าของเขียนเมื่อปี 2017 และล่าสุดก็มีสารคดี ‘Studio 54’ ของผู้กำกับแมตต์ ไทร์เนาเออร์ ที่เพิ่งเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา และได้กวาดคำชมจากเทศกาลหนัง Sundance Film Festival เมื่อปีที่แล้ว

 

Studio 54 ไนต์คลับในนิวยอร์กที่เปิดแค่ 3 ปีในยุค 70s มีอะไรดี? เรามองว่าคลับแห่งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า คนเราไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์ รสนิยมทางเพศ สีผิว หรือจะแตกต่างกันอย่างไร ก็สามารถอยู่ด้วยกันได้แบบไม่ต้องมีกำแพงอะไรมาแบ่งแยก แค่ขอให้คิดบวกและพร้อมสนุกกับชีวิตก็เพียงพอแล้ว

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ที่บริบทสังคมผลักดันเรื่อง ‘Diversity’ กันอย่างชัดเจน และบอกว่าเราต้องก้าวต่อไป แต่จริงๆ แล้ว 41 ปีก่อน ก็มีคลับแห่งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของสิ่งนี้ น่าสนใจว่าทำไมสังคมจึงไม่เลือกสานต่อ อาจเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X