วันนี้ (2 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา สส.พรรคประชาชน นำโดย สุรพันธ์ ไวยากรณ์ สส. นนทบุรี, ปารมี ไวจงเจริญ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และ สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หักเงินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนจากผู้ค้างชำระหนี้ โดยหักเพิ่มรายละ 3,000 บาท มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป
สุรพันธ์กล่าวว่า ในส่วนนี้ สส.พรรคประชาชน ได้นำมาเรื่องเข้าคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร อย่างเร่งด่วน เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา กรรมาธิการจึงมีมติทำหนังสือสอบถามไปยัง กยศ. เรื่องรายละเอียดการหักเงินดังกล่าว ต่อมา กยศ. ได้ทำหนังสือแจ้งกลับว่าเป็นไปตามอำนาจของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 และประกาศคณะกรรมการกองทุน 2567 พบว่าหนังสือดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน จึงยังมีข้อสงสัยในหลายประเด็น เช่น
- กรณีที่นายจ้างต้องหักเงินเพิ่ม 3,000 บาท นอกเหนือจากยอดหักเดิม ตรงนี้มองว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผู้กู้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และ กยศ. ยังไม่มีแนวทางผ่อนปรนที่ชัดเจน เห็นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งการลงทะเบียนออนไลน์ และที่ตั้งของ กยศ. ในกรุงเทพฯ
- พบว่าเดือนเมษายน 2568 มีลูกหนี้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 1.74 แสนราย ในเดือนเดียว จึงทำให้ยอดผู้ปรับโครงสร้างสะสมเพิ่มขึ้นเป็นถึง 400,000 ราย เฉพาะเดือนเดียวเพิ่มขึ้นถึง 896.36% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงตั้งข้อสังเกตว่าการส่งจดหมายเรียกเก็บเงินเพิ่ม เป็นการบีบบังคับให้ลูกหนี้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่
- การเดินทางการปรับโครงสร้างหนี้มีเพียงสาขาที่กรุงเทพมหานคร แต่ที่จังหวัดยังไม่มี กยศ. จึงให้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างทางออนไลน์ แต่ระบบรองรับยังไม่เสถียร โดย กยศ.รับปากว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2569 ระบบออนไลน์ของ กยศ.จะปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น จึงทำให้เกิดข้อย้อนแย้งว่า กยศ.อยากให้ลูกหนี้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2568 หรือไม่ เหตุใด กยศ.ไม่ทำให้ระบบเกิดความเสถียรก่อนให้ผู้กู้ลงทะเบียน
- พบว่าลูกหนี้ 3.5 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ แต่มีตัวเลขผู้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้เพียง 400,000 ราย หรือคิดเป็น 13% ดังนั้นอีก 87% ที่เหลือ กยศ.ยังไม่ชี้แจงว่าอยู่ในสถานะใด จึงอยากให้ กยศ.ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
ด้านสหัสวัตกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพี่น้องชาวแรงงานได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน แม้ กยศ.อยากให้วิธีการนี้เป็นวิธีการให้ลูกหนี้หันกลับมาพูดคุยกับ กยศ. แต่ท้ายที่สุดกลายเป็นวิธีการที่กลับหัวกลับหาง หาก กยศ. อยากให้ปรับโครงสร้างหนี้ ควรแจ้งล่วงหน้าหรือตั้งกรอบเวลาไว้ที่ 3 เดือน ให้ลูกหนี้เข้ามาคุยก่อนการเรียกเก็บเพิ่ม แต่พอมาเรียกเก็บทันทีโดยไม่มีการพูดคุยหรือแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้พี่น้องแรงงานจำนวนมากไม่สามารถวางแผนทางการเงินได้
“3,000 บาทในช่วงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กกำลังจะเปิดเทอม กลายเป็นว่าโดน กยศ.หักเพิ่ม 3,000 บาท ลูกก็กำลังจะเปิดเทอม กลายเป็นภาระซับซ้อนไปหมดของพี่น้องแรงงานในตอนนี้ หลายคนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หนี้นอกระบบ” สหัสวัตกล่าว
สหัสวัตยังกล่าวว่า หากเป้าหมายของ กยศ. ต้องการให้คนมาใช้หนี้ มองว่ามาตรการนี้ไม่ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะทำให้คนมาใช้หนี้ กยศ. เพิ่ม และกลายเป็นหนี้ส่วนอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก ตอนนี้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น คิดว่า กยศ. ออกมาตรการโดยไม่คำนึงถึงสิ่งนี้ ท้ายที่สุดจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมากับพี่น้องแรงงานจำนวนมาก
“เงิน 3,000 บาท สำหรับหลายคนอาจจะดูไม่มาก แต่สำหรับแรงงานที่ทำงานเดือนละ 10,000 กว่าบาท แล้วมีภาระที่ต้องใช้จ่าย เงิน 3,000 บาทนี่มันเยอะมาก ผมไม่แน่ใจว่าคุณคิดเรื่องนี้ คิดบนพื้นฐานอะไร แต่ยืนยันว่าการคิดเรื่องนี้ เป็นการคิดที่ไม่รอบคอบหรือเปล่า จึงอยากให้ กยศ. พิจารณามาตรการนี้ใหม่ ว่าหากันแบบนี้มันส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นหรือไม่ อาจเป็นโทษมากกว่าบวก” สหัสวัตกล่าว
ขณะที่ปารมีกล่าวถึงการบริหารภายในของ กยศ. ว่ายังไม่ประณีต แม้จะมีกฎหมายรองรับจนเกิดปัญหาเรื่องเรียกเก็บเงิน 3,000 บาท ทำให้ผู้กู้ขาดความเชื่อมั่น ทั้งนี้นับจากการแก้กฎหมายเมื่อปี 2566 ทาง กยศ. ยังไม่สามารถคำนวณหนี้ใหม่ และปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ได้ ที่ผ่านมาทำได้เพียง 400,000 กว่าราย จากลูกหนี้ 3.5 ล้านราย จากปี 2566 จนถึงปัจจุบัน มองว่าการดำเนินงานของ กยศ. ไร้ประสิทธิภาพ จึงต้องแก้ตรงนี้ให้ได้
ปารมีกล่าวอีกว่า การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะเป็นการคำนวณหนี้ใหม่ เนื่องจากดอกเบี้ยลดลง ผู้กู้บางรายอาจจะต้องได้รับเงินคืน ทั้งหมดกว่า 2 พันล้านบาท ตรงนี้ กยศ. ยังไม่ได้ตอบว่า ได้คืนเงินลูกหนี้หลายรายแล้วหรือยัง อาจทำให้สังคมสงสัยว่า กยศ. ไม่มีเงินคืนให้หรือไม่