×

Stripe บุกเอเชีย ชี้ธุรกิจไทยที่ค้าขายข้ามพรมแดนรายได้พุ่ง 65%

09.09.2024
  • LOADING...

หากย้อนกลับไปในปี 2009 สัดส่วน GDP ที่มาจากภูมิภาคเอเชียมีเพียง 25% ของโลก แต่ตัวเลขดังกล่าวในปัจจุบันกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 40% โดยหนึ่งปัจจัยที่ดันให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของเอเชียเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็มาจากการซื้อ-ขายที่อาศัยแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตัวเชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนและลดข้อจำกัดทางพรมแดนให้น้อยลง

 

ผลจากการศึกษาในปี 2023 จาก Stripe พบว่า ธุรกิจไทยที่ทำการค้าข้ามประเทศมีรายได้เติบโตขึ้นกว่า 65% ในขณะเดียวกันผู้บริโภคคนไทยก็ตอบรับกับเทรนด์การช้อปออนไลน์ โดยข้อมูลของ Statista เผยว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีผู้ใช้งานราว 43.5 ล้านคน และเกือบครึ่งของนักช้อปออนไลน์เคยสั่งซื้อของจากต่างประเทศ

 

“เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างซื้อ-ขายระหว่างกันบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งพวกเขาเริ่มมองว่า ‘พรมแดน’ ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจระหว่างกันแล้ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย” ศริตา ซิงห์ (Sarita Singh) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดียของ Stripe กล่าวในงาน Stripe Tour 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์

 

ศริตา ซิงห์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดียของ Stripe

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยยังคงเผชิญกับปัญหาการขยายสู่ตลาดนอกประเทศ เนื่องจากความซับซ้อนเชิงกฎหมายของประเทศปลายทางและพฤติกรรมลูกค้าท้องถิ่นที่ต่างจากสภาพแวดล้อมเดิมที่คุ้นเคย

 

Eeke de Milliano หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ประจำ Stripe แชร์ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับธุรกิจทั่วโลกว่า หนึ่งปัญหาสำคัญหากวิธีหรือช่องทางการชำระเงินไม่ตรงกับความต้องการของพวกเขา

 

“ประสบการณ์การชำระเงินคือประสบการณ์ของลูกค้า ในฐานะผู้ประกอบการแม้ว่าเราจะมีวิธีการชำระเงินหลายวิธี แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนคนจาก ‘คิดว่าจะซื้อ’ เป็น ‘ตัดสินใจซื้อ’ คือการให้ตัวเลือกเพียง 2-3 ช่องทางที่เหมาะกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้ามากที่สุด” Eeke กล่าว

 

นอกจากนี้ ปัญหาการบริหารการชำระเงินในสกุลต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายกับธุรกิจที่จะขยายไปนอกประเทศ เนื่องจากค่าเงินในแต่ละพื้นที่มีระดับความผันผวนที่ต่างกันออกไป ทำให้ผู้ประกอบการเจอกับปัญหาว่าพวกเขาจะแสดงค่าเงินจำนวนเท่าไรให้กับลูกค้า

 

Stripe แพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานการเงินสำหรับธุรกิจระดับโลกที่รองรับธุรกรรมมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1% ของ GDP โลก จึงมีการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการเพื่อตอบรับเทรนด์ดังกล่าว โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ทั้งเจเนอเรชัน Z และ Millennials ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในหลายประเทศ

 

บนแพลตฟอร์มของ Stripe ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ฟีเจอร์ Adaptive Pricing ที่ทำให้ประสบการณ์ชำระเงินตรงกับความต้องการลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมกว่า 150 ประเทศ โดยฟีเจอร์ดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ Stripe ที่ลูกค้ากว่า 90% อยากชำระเงินในสกุลของประเทศตนเองหากพวกเขามีทางเลือก ซึ่งธุรกิจที่ให้ตัวเลือกลูกค้าในการซื้อสินค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ส่งผลให้ตนมีรายได้ในส่วนของธุรกิจข้ามประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 18% และอัตรา Conversion เพิ่มขึ้นถึง 8% 

 

อีกทั้ง Stripe ยังมีฟีเจอร์ที่ทำ A/B Testing เพื่อทดลองวิธีการชำระเงินให้ตรงกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคในการพัฒนาระบบชำระเงินขึ้นเอง

 

“วิธีการชำระนั้นมีหลากหลาย แต่ประเด็นสำคัญคือการเข้าใจเส้นทางการซื้อของผู้บริโภค (Customer Journey) ซึ่ง A/B Testing จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจตัวเลือกที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด” Eeke กล่าวเสริม

 

ในขณะเดียวกันที่การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ความเสี่ยงของการฉ้อโกงจากมิจฉาชีพที่จ้องจะฉวยโอกาสจากผู้ประกอบการก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง Stripe ได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกง เช่น Radar Assistant ที่ถูกฝึกบนฐานข้อมูลจำนวนมากของ Stripe ในการตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน

 

เป้าหมายของ Stripe คือการขับเคลื่อน GDP บนโลกอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตในอัตราเร่งที่เร็วกว่า GDP ในโลกเชิงกายภาพถึง 2.5 เท่า

 

“ในฐานะที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานการเงิน เรามองว่าบริษัทขนาดเล็กหรือกลางมีศักยภาพการเติบโตสูงมากเนื่องจากความคล่องตัว แต่หลายครั้งพวกเขาอาจจะต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับงานโอเปอเรชันหลังบ้านที่ตนไม่ได้เชี่ยวชาญ ซึ่ง Stripe จะเป็นผู้เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระและให้ธุรกิจสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สำหรับทำสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่” ศริตากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X