×

กรมควบคุมโรคเผย ปี 65 มีผู้ป่วยโรคหูดับแล้ว 349 ราย แนะกินเลี้ยงยึดหลักสุก ร้อน สะอาด

โดย THE STANDARD TEAM
25.12.2022
  • LOADING...

วันนี้ (25 ธันวาคม) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคหูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ป่วยโรคหูดับ 349 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย 

 

ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 2 ราย จังหวัดเชียงราย 1 ราย จังหวัดเพชรบูรณ์ 1 ราย จังหวัดกำแพงเพชร 1 ราย และจังหวัดหนองคาย 1 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับ เกิดจากรับประทานหมูดิบ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ เนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ปรุงไม่สุก 

 

อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

 

อนุชากล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารในช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะการทำอาหารรับประทานกันเองในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนๆ หากนำเนื้อหมูมารับประทานดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หรือปิ้งย่างหมูกระทะ ควรระวังโรคหูดับ เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติดังนี้

 

  1. ควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น 
  2. อาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบหมูดิบแยกต่างหาก ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบแล้วนำมารับประทาน และขอให้ยึดหลักสุก ร้อน สะอาด 
  3. ไม่ควรรับประทานเนื้อหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา 
  4. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู 
  5. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง 

 

ทั้งนี้โรคหูดับที่เกิดจากเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งนอกจากกินเนื้อดิบแล้ว เชื้อนี้ยังสามารถเข้าทางบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วนตามร่างกาย หรือทางเยื่อบุตาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวกถาวรได้ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X