×

เปิดจุดแข็งเหตุใดเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามยังคงเนื้อหอมต่อเนื่องในปี 2022

14.01.2022
  • LOADING...
ตลาดหุ้นเวียดนาม

ย้อนความสำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2021 หลังจากผ่านการล็อกดาวน์รอบใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เวียดนามได้เปลี่ยนมาตรการจัดการโควิด จากกลยุทธ์ Zero COVID เป็น Living with COVID โดยทยอยผ่อนคลายการเว้นระยะห่างทางสังคมและเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจ จากความพยายามในการปรับตัว การเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศ และการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ทั้งในส่วนของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การลงทุน ยอดค้าปลีก และตัวเลขการกลับมาเปิดกิจการ 

 

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจในปี 2022 SCB CIO คาดว่า GDP ของเวียดนามจะสามารถเติบโตระหว่าง 6-6.5% จากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ 

  1. เม็ดเงินการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการที่เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนทางตรงทั่วโลก 
  2. การส่งเสริมการลงทุนและมาตรการกระตุ้นทางการคลังจากภาครัฐ 
  3. การส่งออกที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งจากภาคการผลิตในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและอุปสงค์ภายนอกที่ฟื้นตัวต่อ นอกจากนี้การฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงดี และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของรัฐบาลและภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามต่อเนื่อง

 

สำหรับมุมมองด้านตลาดหุ้นในปี 2021 เป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นเวียดนามสร้างผลตอบแทนได้สูงเป็นประวัติการณ์ โดย VN Index ให้ผลตอบแทนราว 36%YoY นำโดยการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ วัสดุ สินค้าทุน และการเงิน ควบคู่ไปกับโมเมนตัมของตลาดที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเกือบทั้งปี อีกทั้งตลาดยังได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการครั้งสำคัญในด้านสภาพคล่องของตลาด ที่สะท้อนจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 20 ล้านล้านดอง ซึ่งสูงกว่าระดับปี 2020 ถึง 4 เท่า และเป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิรายใหญ่ ซึ่งช่วยกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดและโมเมนตัมของราคาหุ้นในหลายอุตสาหกรรม จากกระแส Search for Yield ในยุคดอกเบี้ยต่ำที่เงินฝากออมทรัพย์ถูกโอนเข้าสู่ตลาดหุ้นต่อเนื่อง 

 

ส่วนมุมมองตลาดหุ้นเวียดนามในปี 2022 SCB CIO คาดว่า EPS Growth ที่สูงของตลาดเวียดนามเมื่อเทียบประเทศในภูมิภาคจะเป็นแรงดึงดูดสำคัญของตลาด เราคาดว่าการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนจะครอบคลุมในวงกว้างขึ้น โดย EPS Growth ปี 2022 อยู่ที่ราว 25% และคาดว่าช่วง P/E ที่สมเหตุสมผลจะอยู่ที่ราว 16-18 เท่า ในขณะที่ Valuation ปัจจุบันของ VN Index ยังเทรดอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งแม้จะเป็นระดับที่ไม่ถูกเท่าช่วงปีก่อน แต่ยังไม่แพงจากมุมมองศักยภาพการเติบโตในระยะข้างหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนตลาดสำคัญในปี 2022 อย่างน้อย 3 ประการที่เด่นชัด ได้แก่ 

  1. มาตรการควบคุมโควิดที่ดี และความเชื่อมั่นของภูมิหลังความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวโน้มการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเวียดนามได้ต่อเนื่อง 
  2. สภาพคล่องในตลาดที่ยังมีแนวโน้มสูง หนุนโดยความเชื่อมั่นนักลงทุนรายย่อยที่ยังสนับสนุนความคึกคักของตลาดเวียดนามได้เป็นอย่างดี ในขณะที่นโยบายการเงินเวียดนามยังผ่อนคลายต่อเนื่อง
  3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนและการบริโภค ซึ่งการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมจะทำให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงความพยายามในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการทำ M&A มีมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของธุรกิจค้าปลีก การให้บริการทางการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง เหล่านี้จะยิ่งเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาพธุรกิจในเวียดนาม สำหรับการมองภาพการลงทุนระยะยาวก็มีเหตุผลสนับสนุนความน่าสนใจของตลาดหุ้นเวียดนามอย่างน้อย 2 ประการที่เด่นชัด ได้แก่ 
  4. เวียดนามเป็นสมาชิกข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ ทั้ง RCEP, CPTPP, EVFTA ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินลงทุนในส่วนภาคเศรษฐกิจจริงไหลเข้าลงทุน เพื่อเป็นฐานการผลิตและฐานการส่งออกต่อเนื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 
  5. MSCI EM Inclusion ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายในการยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามจาก Frontier Market สู่ Emerging Market ให้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้ายังส่งอานิสงส์ให้มี Passive Flow ให้เข้าลงทุนหุ้นเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับมุมมองอุตสาหกรรมเด่นที่คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนาม ได้แก่

  1. อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม: นิคมอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาคส่วนที่มีอัตราการเติบโตสูงในปีก่อนและคาดว่าจะเติบโตดีต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มี Land Bank พร้อมที่จะใช้ประโยชน์ภายใน 1-3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายพื้นที่จะมีโอกาสเติบโตของกำไรได้สูง
  2. อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย: ในปี 2022 คาดว่าตลาดที่อยู่และอพาร์ตเมนต์ในหัวเมืองหลัก เช่น ฮานอย จะยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบในช่วงก่อน แต่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเสนอโปรโมชันและการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อบ้านต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดขาย
  3. การค้าปลีกและสินค้าผู้บริโภค: มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะผ่อนคลายลงเรื่อยๆ ยอดค้าปลีกคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากในช่วงปลายปี 2021 ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยคาดกำไรของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มจะเริ่มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด โดยมีอัตราการเติบโตสูงในปี 2022 จากฐานต่ำในปีก่อน
  4. ธนาคาร: ในช่วงปลายปีก่อนธนาคารชั้นนำทั้งของรัฐและของเอกชน เช่น VCB, CTG, BID, TCB, ACB และ VPB ได้รับโควตาการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2022 จะอยู่ที่ราว 12% และแนวโน้มการตั้งสำรองจะทยอยลดลง โดยธนาคารที่มีรายได้แข็งแกร่งจะสามารถรักษาคุณภาพของ Loan Book ได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารและการพักชำระหนี้ในช่วงก่อนหน้า จะส่งผลให้อัตราหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2022 แม้คาดว่าความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้จะฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่หนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วบางส่วนอาจถูกปรับชั้นเป็นหนี้เสียได้ในระยะต่อไป
  5. เหล็ก: จากข้อมูลของ Vietnam Steel Association ผลผลิตเหล็กสำเร็จรูปยังคงเติบโตสูงในปีที่ผ่านมา และแนวโน้มการส่งออกยังดีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เนื่องจากการลดกำลังการผลิตในญี่ปุ่นและจีน ทำให้ประมาณการมูลค่าการส่งออกเหล็กของเวียดนามในปีนี้ยังคงสูง

 

สุดท้ายนี้ แม้ SCB CIO ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามยังเนื้อหอมต่อเนื่องในปี 2022 แต่นักลงทุนยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ยังคงอยู่กับตลาดที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อและการระบาดใหญ่ของโควิดในประเทศที่อาจกลับมา นอกจากนี้แนวโน้มและการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed จะเป็นเหตุการณ์สำคัญ ในกรณีที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทำการลดงบดุลเร็วและมากกว่าคาด อาจทำให้เกิดการไหลออกของ Foreign Fund Flow ที่เร่งตัวขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งการคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มตลาด Emerging & Frontier Market เช่น เวียดนาม ได้มาก 

 

อย่างไรก็ดี เรามองผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพภายนอกด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความแข็งแกร่งต่างกัน สำหรับเวียดนามในภาพรวม อุปสงค์ภายในที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวของภาคการส่งออกจะช่วยชดเชยผลกระทบของต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และเราคาดผลกระทบในด้านอื่น เช่น ผลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ผลต่อภาวะสินเชื่อในรูปสกุลเงินต่างประเทศ (USD) และผลต่อค่าเงิน USDVND จะมีไม่มาก ในรอบการเกิด Fed Quantitative Tightening ในระยะข้างหน้า เนื่องจากเวียดนามมีเสถียรภาพภายนอกที่ค่อนข้างดี และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอที่จะต้านทานความผันผวนของตลาดการโลกเงินได้ดีขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับอดีต 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising