×

เงินบาทเปิดแข็งค่าที่ระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดเปิดรับความเสี่ยง คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25%

21.03.2023
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 มีนาคม) ที่ระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยส่วนใหญ่คาดหวังว่า Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไม่เกินระดับ 5% 

 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้ามาซื้อทองคำในช่วงย่อตัวลงได้ (แถวโซน 1,970 ดอลลารต่อออนซ์ อาจเป็นโซนแนวรับแรกที่ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อ)

 

ส่วนในวันนี้มองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดหวังว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในรอบการประชุมที่จะถึงในวันพฤหัสบดีนี้ ก่อนที่จะคงดอกเบี้ยและอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

 

แต่มีโอกาสที่เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนักหากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (โฟลวธุรกรรมซื้อทองคำส่วนใหญ่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง) 

 

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทาง Fund Flow นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะสามารถทยอยกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้หรือไม่ โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้แรงขายสุทธิหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงหรือกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้บ้าง โดยคาดว่ากรอบเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.15 บาทต่อดอลลาร์

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น +0.89% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้น (Morgan Stanley +1.7% และ JPM +1.1%) นอกจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.6% และ Chevron +1.5%) ที่ได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบ (WTI รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 67.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

 

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็ปรับตัวขึ้นกว่า +0.98% หลังผู้เล่นในตลาดคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาธนาคาร Credit Suisse ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้น (Intesa Sanpaolo +3.7% และ Santander +2.3%) นอกจากนี้การรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบ ยังช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (BP +1.5% และ TotalEnergies +1.4%) และตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Dior +2.0% และ Hermes +1.7%) จากความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน

 

ส่วนตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้น กลับสู่ระดับ 3.48% จากที่ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 3.30% อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่า Fed จะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ และ Fed จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 

 

อย่างไรก็ดี มุมมองดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปได้หากผลการประชุม Fed วันพฤหัสบดีนี้ชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ยังไม่จบ เนื่องจาก Fed ต้องการที่จะคุมปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงให้สำเร็จเป็นหลัก ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่า Fed จะไม่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปมาก (หยุดที่ระดับ 5.00%) มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.3 จุด 

 

ทั้งนี้ เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว Sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม Fed ในวันพฤหัสบดีนี้ และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้บ้างหาก Fed ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 

 

ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองทองคำ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเมษายน) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ไกลนัก ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,983 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนมีนาคม โดยตลาดคาดว่าความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจส่งผลให้บรรดานักลงทุนสถาบันรวมถึงบรรดานักวิเคราะห์ต่างปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีลงบ้าง ทำให้ดัชนี ZEW เดือนมีนาคม อาจลดลงสู่ระดับ 17.1 จุด จาก 28.1 จุดในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงบวกต่อภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจ)

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising