×

ถอดรหัสกลยุทธ์ Dual Circulation เศรษฐกิจวงจรคู่ คีย์สำคัญสู้วิกฤตโควิดของจีน

26.01.2023
  • LOADING...
Dual Circulation

‘Dual Circulation’ เป็นกลยุทธ์ที่จีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง นำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เผชิญการระบาดของโควิด ซึ่งเกิดความไม่แน่นอนและผลกระทบเชิงลบจากภายนอก

 

โดยใจความสำคัญหลักของกลยุทธ์นี้คือเน้นตลาดในประเทศหรือวงจรภายในประเทศ ให้โตขึ้น ให้แข็งแกร่งควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนกับวงจรภายนอกหรือตลาดต่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดภายนอกมากเกินไป ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักหากเจอวิกฤตอะไรซ้ำแบบวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบทั้งจีนและทั่วโลก

 

ในความเป็นจริง จีนพยายามผลักดันการสร้างตลาดภายในประเทศให้แข็งแกร่ง เน้นการอุปโภคบริโภคในประเทศมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดระบาดหนัก ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย Made in China 2025 ที่จีนเริ่มดำเนินการในปี 2015 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนจีนจากการเป็นแค่โรงงานผลิตของโลก หรือใช้นวัตกรรมคนอื่นมาผลิตสินค้า มาเป็นการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน เพื่อบริโภคหรือใช้เองในจีนและส่งออกสู่ตลาดโลกด้วย

 

และพอเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งรุนแรงมากในช่วงปี 2018-2019 ก็ยิ่งปลุกกระแสกระตุ้นความเป็นชาตินิยมในจีนอย่าง ‘Consumer Nationalism’ ซึ่งหมายถึงการบริโภคแบบชาตินิยม เน้นบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศและแบรนด์ Local ต่างๆ

 

ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า Dual Circulation ก็ต่อยอดมาจากทั้ง Made in China และ Consumer Nationalism ภายใต้ความเป็นจริงที่รู้กันว่าจีนเองก็คงไม่อยากปิดโอกาสตลาดต่างประเทศและเน้นแค่ตลาดภายในอย่างเดียว เพราะการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตมานับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 40 ปีก่อน ก็มาจากการเปิดตลาดต่างประเทศด้วย

 

ในทางกลับกัน จีนจะเน้นแค่เอาต่างชาติมาลงทุนในจีนอย่างเดียว เพราะตลาดโตแล้ว ก็คงไม่ได้เช่นกัน

 

ภายใต้กลยุทธ์ Dual Circulation ที่ดำเนินมากว่า 3 ปี เราได้เห็นจีนนำเสนอออกมาทั้งในจีนและทั่วโลก ในประเด็นพัฒนานวัตกรรม (Innovation) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และการพัฒนาสีเขียว (Green Development) ที่มุ่งเน้นเป็นมิตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับ Dual Circulation ที่มี Core หลักคือการมุ่งเน้นการแก้ไขและปิดจุดอ่อนเรื่องความไม่แน่นอนและปัจจัยสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือ Structural Change

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ตามกลยุทธ์ Dual Circulation จีนไม่ได้พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่ยังคงเปิดสู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน จึงเป็นการพัฒนาแบบวงจรคู่ แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาและวิเคราะห์แล้ว เราจะเห็นได้ว่า Dual Circulation Strategy ที่จีนดำเนินการอยู่ มีการแก้ไขจุดอ่อนที่เคยเป็นและมองหาโอกาสใหม่ด้วย คือการไม่พึ่งพาตลาดต่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งมากเกินไป และพร้อมหาตลาดใหม่ ดังกรณีสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา มาจนถึงช่วงโควิดที่เราได้เห็นจีนชูกลยุทธ์ GDI หรือ Global Development Initiative (แนวคิดริเริ่มการพัฒนาระดับโลก) และพหุภาคี (Multilateralism) โดยเปิดรับการพัฒนาร่วมกับทุกประเทศทั่วโลก ชูแนวคิดสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อที่จะเกิดความร่วมมือใหม่ๆ

 

นอกจากนี้จีนยังมีความร่วมมือในระดับนานาชาติอยู่แล้ว อย่างเช่นโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ซึ่งก็มีการต่อยอดขึ้นไปอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจีนและอาเซียน รวมถึงไทย จึงมีความร่วมมือกันต่อเนื่องแม้ในช่วงโควิด เพราะการลงทุนและการค้าระหว่างจีนและอาเซียนอยู่ในอันดับต้นๆ ในช่วงหลายปีมานี้ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จีนผลักดันอย่างมากให้เกิดเส้นทางรถไฟคุนหมิง-เวียงจันทน์ เพื่อให้เกิดเป็นเส้นทางการค้าเส้นทางใหม่ เจาะอาเซียนโดยตรง รวมไปถึงการลงทุนสร้างทางด่วนในเขตท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ เชื่อมกับกรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา ที่เปิดใช้เรียบร้อยแล้วในปี 2022

 

ในแง่ของตัวเลขการเติบโตนำเข้า-ส่งออกระหว่างจีนและอาเซียน เติบโตสูงกว่าความร่วมมือกับภูมิภาคอื่น ด้วยตัวเลข 15% ขณะที่กับสหภาพยุโรปอยู่ที่ 5.6% ซึ่งก็นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เพราะแม้จะมีประเด็นทางการเมืองระดับประเทศ และมีกระแสกดดันในสหภาพยุโรปและบางประเทศในยุโรปให้ดำเนินนโยบายลดการพึ่งพาจีนก็ตาม แต่ความเป็นจริง จีนยังคงมีความสำคัญต่อสหภาพยุโรปไม่น้อย ไม่เช่นนั้นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีคงไม่เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการและพบกับทั้งประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ก่อนการประชุม G20 เริ่มขึ้นไม่นาน ท่ามกลางกระแสทัดทานในประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรป

 

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบแท้จริง ไม่ฉาบฉวย ที่ประธานาธิบดีจีนรายงานในการประชุมใหญ่ของจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ก็เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ Dual Circulation โดยตรง ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเปลี่ยนจากการเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่การพัฒนาคุณภาพสูง และในการลงทุนจากต่างประเทศ จีนจะเพิ่มการสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปฏิรูปพลังงาน และใช้พลังงานใหม่

 

อย่างไรก็ตาม แม้กลยุทธ์ Dual Circulation จะมุ่งเน้นการสร้าง Resilience ให้สามารถต้านทานปัจจัยความไม่แน่นอนจากภายนอกได้มากขึ้น โดย Resilience หมายถึงการฟื้นตัวได้เมื่อเจออุปสรรคและวิกฤต ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด จีนได้ใช้ Resilience มาเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก และสื่อต่างๆ ก็พูดถึงคำนี้อยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงจะเห็นว่า ในช่วงที่จีนดำเนินมาตรการโควิดอย่างเข้มงวด จีนยังคงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมาจากปัจจัยภายในของจีนเองอย่างการล็อกดาวน์เป็นระยะในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักทางการค้า

 

นอกจากนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนก็เจอวิกฤตหนัก จากการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในจีนเริ่มทิ้งโครงการพัฒนาและผิดชำระหนี้ จนเกิดเหตุการณ์ Mortgage Boycott หรือผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในจีนไม่ชำระหนี้กู้บ้านจนกว่าบริษัทผู้พัฒนาอสังหาจะสามารถส่งมอบบ้านหรือคอนโดให้แก่ตนเองได้ เพราะไม่อยากจะผ่อนคอนโดทิพย์ บ้านทิพย์ เป็นต้น

 

วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีนที่ยิ่งหนักในช่วงโควิด สร้างบาดแผลต่อตลาดในประเทศจีนเป็นวงกว้าง เนื่องจากธนาคารและรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่พยายามออกมาตรการภาษี ออกเงินอุดหนุน ทุ่มงบเพื่ออุ้มบริษัทอสังหาไม่ให้สถานการณ์เลวร้าย แต่กลายมาเป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่น ที่หลายแห่งเริ่มไปไม่ไหวเช่นกัน คือรายได้จากที่ควรจะได้จากผู้ประกอบการและผู้พัฒนาอสังหา รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็มีแนวโน้มลดลง

 

ดังนั้นการที่จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดในเดือนธันวาคม 2022 จนมาเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2023 จึงนับเป็นเวลาที่จีน ‘จำเป็นต้องทำ’ มิเช่นนั้นถ้าปล่อยไปนานกว่านั้นปัญหาจะยิ่งไปกันใหญ่ และมองกันตามตรง ก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนมกราคม 2023 ระหว่างเทศกาลตรุษจีน ที่มีการเดินทาง ‘ชุนยุ่น’ (春运) ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังตรุษจีน รวม 40 วัน ถือเป็นช่วง ‘เวลาทอง’ ในการเพิ่มการอุปโภคบริโภค อัดฉีดตลาดในประเทศ หลังจากที่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 GDP จีนขยายตัวต่ำกว่า 1% และ GDP ตลอดทั้งปีนั้นขยายตัวเพียง 3% ซึ่งไม่ถึงเป้า 5.5% ดังนั้นจีนจึงไม่อยากพลาดช่วงโอกาสทองตรุษจีน เพราะเป้าหมายคือกลับมาฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

ภาพ: Sheldon Cooper / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising