×

การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนเชิงกลยุทธ์ คือผู้ชนะของตลาดในปีนี้

21.04.2022
  • LOADING...
การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนเชิงกลยุทธ์

นับตั้งแต่ปลายปี 2021 ภาพการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โลกเริ่มมีสัญญาณแห่งความผันผวน ตั้งแต่เรื่องความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นที่ยังดูคลุมเครือว่าตัวเลขจะปรับสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด จวบจนกระทั่งต้นปี 2022 เมื่อมีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปีนี้จึงเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป

 

ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ขยายวงไปสู่เรื่องของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องประสบกับปัญหาราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่น ราคาโลหะ นิกเกิล หรือทองแดง รวมไปถึงข้าวสาลี ยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีโอกาสพุ่งสูงขึ้นยิ่งไปกว่าเดิม นักวิเคราะห์ทั่วโลกเริ่มแสดงความกังวลว่าการขยายปริมาณเงินหลังโควิดทำให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบที่สูงเกิน บวกกับปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อที่กำลังเร่งตัว จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

 

SCB CIO มีมุมมองว่าวิกฤตราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น จะยังไม่เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกเกิดการถดถอย ตราบใดที่ยังไม่เกิดการหยุดชะงักของการส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรป รวมถึงมองว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะไม่บานปลายกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่กระทบทั่วทั้งภาคพื้นยุโรป จึงมองว่าวิกฤตราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่น่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นไปกว่าระดับปัจจุบัน แม้จะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไปก็ตาม โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนความเห็นดังกล่าว ได้แก่

 

ประการแรก ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเร่งดำเนินการกระชับนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดปริมาณเงินในระบบหรือการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แม้ว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นในช่วงเวลานี้ แต่การกระชับนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงถัดไปปรับตัวลดลง (ซึ่งอาจเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จนถึงช่วงต้นปีหน้า หลังจากการกระชับนโยบายส่งผลจริงจัง) แม้จะเห็นว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุยาว 10 ปี หรือ 30 ปี เทียบกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 2 ปี จะใกล้ 0% หรือในบางวันอาจเห็นการติดลบที่เรียกว่า Inverted Yield Curve ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ในยามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายเร่งการขึ้นดอกเบี้ยรุ่นอายุสั้น ทำให้ดอกเบี้ยรุ่นอายุยาวกลายเป็นแหล่งพักเงินชั่วคราว แต่การพักเงินอาจยังไม่ได้สะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังถดถอยอย่างจริงจังจนต้องเร่งเข้าลงทุนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้ และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังการแก้ปัญหาด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ

 

ประการที่สอง เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปยังแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข GDP สหรัฐฯ และยุโรป ที่ขยายตัวในระดับ 5.5% และ 4.6% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการขยายตัวในอดีต ที่ขยายตัวเพียง 1-2% ต่อปี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 3.6% และ 6.8% ตามลำดับ ใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติที่ระดับ 5% ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตของค่าจ้างและตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังขยายตัวในระดับสูง ทำให้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ของสหรัฐฯ และยุโรปจะยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และจากความแข็งแกร่งของตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน แม้จะยังต้องระมัดระวังเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอยู่ก็ตาม จึงทำให้เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายการเงินในประการแรกที่กล่าวไว้ข้างต้นจะมีประสิทธิผลกับการบริหารประเทศได้มากขึ้นในอนาคต

 

ประการสุดท้าย สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันติดลำดับ 7 ของโลก มีแหล่งคลังน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ มีทรัพยากรมากมายที่พร้อมจะรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะทำให้ส่งผลกระทบกับทั้งด้านการผลิตและการบริโภคน้อยกว่าประเทศอื่น ขณะที่เป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลกับความขัดแย้ง ทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรและดำเนินนโยบายต่างๆ ได้คล่องตัว ความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจึงน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก

 

จากความเห็นข้างต้น SCB CIO จึงยังไม่กังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับปัจจัยด้านความขัดแย้งว่าจะไม่ลุกลามบานปลายต่อเนื่องไปอีก อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลาจะทำให้เกิดความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ตราสารหนี้ระยะยาว หุ้นกู้เอกชนต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นสามัญ น้ำมัน ทองคำ สินค้าเกษตร และโลหะต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับปัจจัยทั้งดีและร้าย เช่น เงินเฟ้ออาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวดีขึ้น การ Reopening ในบางประเทศจะทำให้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว การปิดกั้นการเดินทางของรัสเซียอาจส่งผลให้หุ้นท่องเที่ยวหรือสายการบินของบางประเทศได้อานิสงส์ที่ดี การปรับลดลงของหุ้นลึกๆ เกินปัจจัยพื้นฐานอาจทำให้บางช่วงเวลาหุ้นมีความน่าสนใจ และการเคลื่อนที่ของ Fund Flow ก็อาจเป็นโอกาสที่จะเลือกลงทุนในบางสินทรัพย์ได้เช่นกัน

 

SCB CIO จึงมองว่าการเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการเลือกบริหารจัดการสินทรัพย์ผสมแบบไม่ตายตัว มีการคัดเลือกการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์แล้วแต่ช่วงโอกาส มากไปกว่าเพียงการลงทุนในสินทรัพย์ผสมที่วางน้ำหนักตายตัวแบบกองทุนลงทุนสินทรัพย์ผสมทั่วไปที่หวังผลการลงทุนได้เฉพาะในระยะยาวนั้น จะช่วยจับโอกาสการลงทุนระยะสั้น ขณะที่การบริหารจัดการกองทุนคำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุนไปพร้อมกันน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ช่วงนี้มากที่สุด และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในช่วงที่ตลาดสินทรัพย์ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X