×

คำบอกเล่าจากยูทูเบอร์สาวผู้พาคนไทยชมวิถี ‘อเมริกัน’ ช่วงโควิด-19 ครองเมือง

25.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • เดินสำรวจเมืองใหญ่ที่ร้างคน ผู้คนแห่ซื้อปืนจนเกลี้ยงชั้นวาง ตัวเลขคนตายที่เพิ่มแบบเท่าทวี และชาวอเมริกันใจกล้าเต็มชายหาดท่ามกลางการระบาดของไวรัส นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์เหมือน ‘หนังฮอลลีวูด’ ที่ยูทูเบอร์สาวได้เห็นใน ‘ชีวิตจริง’ และถ่ายทอดสู่สายตาคนไทยเพื่อสะท้อนให้เห็นสังคมที่ความตายจาก ‘ศัตรูที่มองไม่เห็น’ ยังเป็นเรื่องใกล้ตัว คนละขั้วกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทยที่วันนี้ความสูญเสียมีน้อยกว่า

 

 

 

“ตอนนี้ที่สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งหมด 11 คนแล้ว” มัสลา สนศิริ หรือมอร์ส รายงานในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม มองย้อนกลับไป เธอแทบไม่อยากเชื่อว่าจากตัวเลขหลักสิบที่เธอพูดไปในวันนั้น ผ่านไปไม่นานสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก 

 

“ตกใจมาก เพราะว่าวันแรกที่เราทำคลิป ตัวเลขผู้เสียชีวิตแค่หลักสิบ ผ่านไปแค่ 2 เดือนกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเกือบ 1 แสนคน ตกใจมากว่ามันขึ้นเร็วขนาดนี้เลยเหรอ” เจ้าของช่องยูทูบ MOSSALA101 บอกกับ THE STANDARD ผ่านการสัมภาษณ์ทางไกลแบบวิดีโอคอล

 

มอร์สอาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย มาหลายปี ปกติแล้วเธอจะทำวิดีโอเชิงท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์เป็นหลัก จุดประสงค์แรกที่เลือกทำวิดีโอเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดมาจากคลิปคนอเมริกันแย่งกันซื้ออาหาร แต่เธอหาแหล่งที่มาของคลิปไม่ได้ จึงต้องการพิสูจน์ความจริง

 

“บอกตัวเองว่าวันนี้เราจะออกไปซื้อของ แล้วไปเก็บภาพมาให้คนที่อยากรู้ว่าสถานการณ์ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น” 

 

จากวิดีโอที่ตั้งใจทำแค่ตอนเดียว ผ่านมาถึงวันนี้มอร์สถ่ายทำวิดีโอเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ มาแล้ว 27 ตอน ด้วยยอดผู้ชมและผู้ติดตามที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วขนานไปกับยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ จนตอนนี้ช่องยูทูบของเธอติดอันดับ 3 จากการจัดอันดับตามยอดผู้ชมรายสัปดาห์ ในหมวดหมู่ข่าวและการเมืองของเว็บไซต์ noxinfluencer.com

 

ภาพ: noxinfluencer.com

 

วิดีโอตอนใหม่ที่เตรียมเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ เธอจะพาไปชมบรรยากาศเมืองเวนทูรา รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่คลายล็อกดาวน์ให้ประชาชนเข้าไปรับประทานอาหารในร้านได้แล้ว เนื่องจากเป็นเมืองที่มีผู้ติดเชื้อต่ำ

 

แต่การผ่อนปรนมาตรการเกิดขึ้นไม่พร้อมกันและ ‘ไม่เท่ากัน’ ในแต่ละเมือง มอร์สอธิบายโดยยกตัวอย่างเมืองลอสแอนเจลิสที่เธออยู่ ทุกอย่างยังเข้มงวด และอาจต้องรอนานถึงปลายเดือนมิถุนายน ร้านอาหารจึงจะอนุญาตให้คนเข้าไปรับประทานในร้านได้ 

 

ส่วนนครนิวยอร์กซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดนั้น ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แอนดรูว์ คูโอโม ประเมินว่าจะเริ่มปลดล็อกดาวน์ได้ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี ดร.สตีเฟน ฮาห์น กรรมาธิการองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ เตือนว่าสหรัฐฯ ยังควบคุมไวรัสไม่ได้ และแต่ละคนต้องปกป้องตัวเองและชุมชนด้วยการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ล้างมือให้สะอาด และสวมใส่หน้ากาก

 

 

ชีวิตที่เหมือนในหนัง

มอร์สมองว่าเหตุผลที่ผู้เข้าชมวิดีโอของเธอเพิ่มขึ้นในช่วงเกือบ 3 เดือนมานี้ เพราะคนไทยสนใจว่ามหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ รับมือกับโควิด-19 อย่างไร ซึ่งรูปแบบการนำเสนอของเธอคือพาไปชมวิถีชีวิตของผู้คนในสถานการณ์จริงผ่านประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต วิ่งออกกำลังกายในชุมชน และบรรยากาศเมืองที่ ‘วังเวง’ มากขึ้นในแต่ละวัน 

 

“มันเหมือนกับอยู่ในหนังที่เราดู” มอร์สพูดปนหัวเราะ ก่อนเล่าถึงประสบการณ์ที่น่าตกตะลึงจากการได้ทำคลิป ‘คนต่อแถวซื้อปืน’ ไม่นานหลังประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นภาพที่เคยเห็นแต่ในฉากของหนังประเภทวันสิ้นโลก

 

“ตอนแรกเห็นแล้วตกใจ เฮ้ย เขามานั่งรอซื้ออะไรกัน” 

 

เมื่อมองไปรอบๆ จึงเห็นชั้นวางกระสุนที่ว่างเปล่า ประชาชนที่เข้าทดลองปืนอย่างล้นหลาม ปืนพกที่ขายดีจนเกลี้ยงชั้น พอได้พูดคุยจึงทราบเหตุผลว่าพวกเขาซื้อปืนไว้ป้องกันตัว เพราะกังวลว่ารัฐบาลจะรับมือสถานการณ์ไม่ได้ จึงขอมีปืนไว้ให้อุ่นใจ

 

 

ผลสำรวจขององค์กร Everytown for Gun Safety พบว่าอัตราการจำหน่ายปืนในสหรัฐฯ ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนอาจเพิ่มสูงถึง 158% เทียบกับอัตราการซื้อปืนในภาวะปกติ ขณะที่บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจอย่าง Small Arms Analytics & Forecasting ประเมินว่าในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวมีการจำหน่ายปืนมากถึง 2.58 ล้านกระบอก หรือเพิ่มขึ้น 85.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

 

ตัวเลขการซื้ออาวุธปืนที่สูงจนน่าตกใจในสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังน่าวิตก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญรวมถึง เอริก ฟรีเกลอร์ แพทย์และนักวิจัยโรงพยาบาลเด็กในเมืองบอสตัน แสดงความเป็นห่วงว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ครอบครองปืนอาจทำให้การฆ่าตัวตายจากโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงอื่นๆ 

 

สวมหน้ากาก ฝ่าไวรัส ผลิตคอนเทนต์

ภายหลังที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ แนะนำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ มอร์สได้เริ่มใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะให้มากที่สุด รวมถึงเวลาถ่ายทำคลิปวิดีโอด้วย 

 

ช่วงแรกๆ นั้น คนอเมริกันมองเธอและคนอื่นๆ ที่สวมใส่หน้ากากด้วยท่าทีหวาดระแวง แต่มาวันนี้ทัศนคติคนอเมริกันเปลี่ยนไปมาก และลอสแอนเจลิสเป็นเมืองแรกๆ ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ทุกคนใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้าน

 

 

“จากนั้นมองไปทางไหนก็ไม่แปลกประหลาดแล้ว เพราะเป็นคำสั่งของทางการ”

 

THE STANDARD ถามมอร์สว่าเวลาออกไปทำคลิปนอกบ้าน กลัวที่จะติดเชื้อบ้างไหม เธอยอมรับว่า 

 

“กลัวนะ แต่ชีวิตมันต้องดำเนินต่อไป และอีกอย่างเราเป็นยูทูเบอร์ เราอยากจะนำเสนอความจริงที่อยู่ในพื้นที่และเป็นประโยชน์ให้กับคนดู เพราะฉะนั้นตอนออกไปเราก็ป้องกันตัวเองให้มากที่สุด” 

 

ภาพที่มอร์สเห็นแล้วตกใจมากที่สุดคือวันที่รัฐแคลิฟอร์เนียเปิดชายหาดเมื่อปลายเดือนเมษายน เพราะคนอเมริกันมาอาบแดดและทำกิจกรรมบนชายหาดอย่างพลุกพล่าน เสมือนว่าวิกฤตไวรัสคร่าชีวิตไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งที่ช่วงนั้นยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งประเทศทะลุ 1 ล้านคนแล้ว

 

“คนมานอนอาบแดด นุ่งทูพีซ ใส่บิกินี่เหมือนไม่รู้ว่าเก็บกดมาจากไหน แล้วมอร์สใส่หน้ากากเดิน คนก็จะมองว่ามาทะเลแล้วใส่หน้ากากทำไม แต่ไม่รู้ล่ะ เราเอาความปลอดภัยไว้ก่อน” มอร์สพูดกับผู้ชมในคลิปที่มียอดคนเข้าชมเกิน 3.3 แสนวิว ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่วัน รัฐบาลต้องประกาศเตือนให้ประชาชนงดเว้นการทำกิจกรรมบนชายหาด โดยอนุญาตให้เดินหรือวิ่งออกกำลังกายได้เท่านั้น 

 

และวันนี้แม้ทางการเปิดชายหาดแล้ว แต่ยังเตือนให้ประชาชนเว้นระยะห่างและสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

 

ชายหาดกับเสรีภาพแบบอเมริกันเป็นสิ่งที่มอร์สได้เรียนรู้จากการทำวิดีโอนี้ และคลิป 27 ตอนที่ทำมา เธอตระหนักว่าจริงๆ แล้ว ‘คนอเมริกันไม่ได้กลัวโควิด-19’ และ ‘เขาเพียงออกไปใช้สิทธิ์ของเขา’ เพราะทางการอนุญาตแล้ว 

 

ยูทูเบอร์สายโควิด-19 กับเสียงวิจารณ์ 

มอร์สหัวเราะอยู่ครู่หนึ่งเมื่อถามว่าคิดอย่างไรหากมีคนมาเรียกเธอว่า ‘ยูทูเบอร์สายโควิด-19’

 

“แล้วจะให้เราอยู่บ้านเฉยๆ นอนกินเงินรัฐบาลอย่างนี้เหรอ มอร์สว่าเราต้องออกไปข้างนอก เราต้องทำคลิปอยู่แล้ว และได้เงินด้วย ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์”

 

ในฐานะคนไทยที่อาศัยในสหรัฐฯ ตัวเธอเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แม้รัฐบาลจะมีเงินเยียวยาให้ต่อเดือน แต่ยังไม่เพียงพอกับ ‘ค่าอยู่ค่ากิน’ ในเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส 

 

ในบางวันมอร์สไปทำงานพิเศษส่งอาหารให้ Uber Eats และรับซื้อสินค้าไปส่งที่บ้านกับ Instacart ซึ่งเธอได้ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านช่องยูทูบเช่นกัน เพราะหวังว่าคนไทยในสหรัฐฯ ที่ได้ชมอาจพิจารณาเป็นทางเลือกสำหรับหารายได้ในช่วงที่ยังออกไปทำงานไม่ได้

 

 

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับมอร์สไม่ใช่การหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ทำในแต่ละวัน แต่เป็นเสียงวิจารณ์จากคนดูบางส่วนที่แสดงความเห็นว่า “ทำไมไม่อยู่บ้าน จะออกไปทำไม”

 

“เราเป็นแค่คนธรรมดา” มอร์สกล่าวกึ่งตัดพ้อ “เป็นแค่ยูทูเบอร์ ไม่ได้มีหัวโขน ไม่ได้มีสถานีข่าวรองรับ”

 

เธอยกตัวอย่างวิดีโอ ‘ธนาคารอาหาร’ ที่แสดงวิธีขับรถเข้ารับอาหารที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ แจกช่วยเหลือประชาชน “หลายคนมองว่าคุณไปทำแบบนั้น คุณไปแย่งคนจนหรือเปล่า คุณทำเพื่อให้ได้ออกคลิปเหรอ คุณมีกินมีใช้ คุณไปรับของเขาทำไม”

 

นี่เป็นคอมเมนต์ส่วนหนึ่งที่ทำให้ยูทูเบอร์สาวในลอสแอนเจลิสเสียใจ แต่เมื่อเห็นเพื่อนคนไทยในสหรัฐฯ นำลิงก์วิดีโอของเธอไปแชร์ต่อๆ กันในชุมชนคนไทย

“ชื่นใจว่าคลิปของเราเป็นประโยชน์ และได้ช่วยคนหลายๆ คน” และกระแสตอบรับลักษณะนี้เองที่เป็นแรงใจให้เธอตั้งใจทำวิดีโอถ่ายทอดสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐฯ ต่อไป

 

 

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์?

“แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์น่ะเหรอ มอร์สว่ามันใกล้เข้ามาแล้ว เพราะทุกอย่างกำลังจะเปิด กำลังกลับมาเป็นปกติแบบ New Normal  

 

“แต่เราต้องดูว่าหลังจากที่ทางการเริ่มผ่อนปรน ปลดล็อกดาวน์แล้ว ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไหม”

 

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรวมถึง CNN ได้เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันออกไปทำกิจกรรมตามชายหาด สระว่ายน้ำ และรวมกลุ่มสังสรรค์ โดยบางส่วนไม่ใส่ใจกับการเพิ่มระยะห่างทางสังคม และไม่สวมใส่หน้ากากตามคำแนะนำของรัฐบาล

 

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ เตือนว่า ‘สหรัฐฯ ยังไม่ผ่านจุดวิกฤต’ ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 1.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 97,000 คน

 

มอร์สมองว่าถ้าตัวเลขยังพุ่งขึ้นเช่นนี้อาจนำไปสู่การระบาดระลอกสองได้ รวมถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสั่งล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะยิ่งบังคับใช้ได้ยาก และอาจจุดชนวนการประท้วงใหญ่ได้ เพราะประชาชน ‘อยากออกมาทำงาน’ แล้ว 

 

ภาพประท้วงที่หาดฮันทิงตัน

 

ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นี้ก็เป็นแสงสว่างที่น่ากลัวนะ แต่ไม่ว่าอย่างไร ชีวิตต้องดำเนินต่อไปค่ะ ถึงแม้ว่าโควิด-19 จะยังอยู่กับเรา แต่เราก็ต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้”

 

 

ภาพ: MOSSALA101

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X