×

เรื่องราวของจดหมายจากเด็กนักเรียนในจังหวัดสุรินทร์ส่งถึง นีล อาร์มสตรอง

25.07.2021
  • LOADING...
นีล อาร์มสตรอง

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ในปี 1969 หรือ พ.ศ. 2512 นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ พร้อมยานอวกาศอพอลโล 11 และเพื่อนนักบินอีก 2 คน ได้แก่ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์
  • โดยในปีนั้น กลุ่มนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษจากจังหวัดสุรินทร์ นำโดย อรนุช ภาชื่น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รศ.ดร.อรนุช ภาชื่น อดีตอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ พรเพ็ญ เพียรชอบ กับเพื่อนรวม 6 คน ได้ลองเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยัง นีล อาร์มสตรอง เพื่อเชื้อเชิญมาจังหวัดสุรินทร์
  • วันที่ 20 ธันวาคม 2512 นีล อาร์มสตรอง เดินทางมายังจังหวัดสุรินทร์ตามคำเชิญในจดหมาย วันนั้นมีผู้คนไปรอต้อนรับอย่างล้นหลามที่ศาลากลางจังหวัด เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีมนุษย์สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้

ใครเลยจะเชื่อว่าจดหมายเล็กๆ จากกลุ่มเด็กนักเรียนในจังหวัดสุรินทร์ ที่เขียนถึง นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศผู้เหยียบดวงจันทร์คนแรกของโลก ด้วยคำเชิญชวนให้มาร่วมงานนิทรรศการสัปดาห์อวกาศของโรงเรียนจากประเทศที่ห่างไกลจะกลายเป็นความจริง…

 

นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 โดยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจพร้อมยานอวกาศอพอลโล 11

 

หลายคนคงทราบและรู้จัก นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศผู้เหยียบดวงจันทร์คนแรกของโลกเป็นอย่างดี แต่เคยรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเขาเคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 2 ครั้ง จากภารกิจโครงการอพอลโลเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์สำเร็จ โดยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้วางหมายกำหนดการให้คณะนักบินอวกาศออกเยือนมิตรประเทศรอบโลกเพื่อเรียกความนิยมในโครงการ ‘Giantstep’

 

จากหนังสือ Chronicle of Thailand ใน Headline News Since 1946

 

ในปี 1969 หรือ พ.ศ. 2512 ขณะนั้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างให้ความสนใจกับการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 โดยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจพร้อมยานอวกาศอพอลโล 11 ร่วมกับเพื่อนนักบินอีก 2 คน ได้แก่ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์

 

โดยในปีนั้น กลุ่มนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษจากจังหวัดสุรินทร์ นำโดย อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ กับเพื่อนรวม 6 คน ได้ลองเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยัง นีล อาร์มสตรอง โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในการเรียบเรียงภาษาและทำหน้าที่ช่วยนำส่งจดหมายของเด็กๆ ในตอนนั้นคือ ‘มิสมาร์กาเร็ต’ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียน ที่ได้ประสานงานไปยังสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) และอาสาสมัครอเมริกันประจำประเทศไทย (Peace Corps Volunteers) ให้ช่วยดำเนินการติดต่อนักบินอวกาศจากยานอพอลโล 11 เพื่อหวังให้เดินทางมาเยือนประเทศไทยสักครั้งหลังจากกลับสู่พื้นโลก โดยเนื้อความในจดหมายระบุไว้ว่า

 

“พวกเราได้อ่านข่าวของท่านเกี่ยวกับการเดินทางไปดวงจันทร์และพวกเรามีความยินดีที่จะเชิญท่านทุกคนมาที่โรงเรียนของเราที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ท่านได้เล่าถึงการเดินทางของพวกท่าน พวกเราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับยานอพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้ที่สามารถเล่าให้เราฟังได้ดีที่สุด ถ้านักบินอวกาศได้เดินทางมาเยือนสัปดาห์อวกาศสิรินธร โรงเรียนพวกเราจะมีจัดฉายภาพยนตร์และจัดนิทรรศการการสร้างยานอวกาศ จัดทำชุดมนุษย์อวกาศจำลอง หวังว่าท่านจะช่วยพวกเราในเรื่องนี้ได้ และขอบคุณที่พวกท่านช่างกล้าหาญ

 

เควิน เดลานี ผู้อำนวยการอาสาสมัครอเมริกันประจำประเทศไทย ได้นำจดหมายของนักเรียนโรงเรียนสิรินธรไปมอบให้กับ จี.เลวิส สมิตต์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) มีใจความว่า

“ข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายที่นักเรียนโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 6 คน เขียนมา เพื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่นักบินอวกาศคนใดคนหนึ่งของยานอพอลโล 11 จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่านักบินอวกาศจะมีกำหนดการเดินทางอย่างไร เราจึงส่งคำเชิญของนักเรียนไปยังวอชิงตัน และจัดให้การมาเยือนประเทศไทยของนักบินอวกาศอยู่ในรายการของการเดินทางมาเยือนทวีปเอเชีย”

 

 

พรเพ็ญ อินทร์ทอง (นามสกุลเดิม เพียรชอบ) และเพื่อนนักเรียนโรงเรียนสิรินธร ได้รับเชิญไปมอบของที่ระลึกให้กับนักบินอวกาศต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

โดยจดหมายเล็กๆ ฉบับนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ ‘นีล อาร์มสตรอง’ ได้ตัดสินใจเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยมีคณะรัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ให้การต้อนรับ และทีมนักบินอวกาศได้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือก ซึ่งมีนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสิรินธร รวมถึง อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ กลุ่มนักเรียนที่เขียนจดหมายฉบับดังกล่าว ได้รับเชิญให้เดินทางไปต้อนรับทีมนักบินอวกาศในครั้งนั้นด้วย

  

นีล อาร์มสตรอง เกิดลื่นระหว่างที่กำลังเดินลงจากเวทีหลังจากที่กล่าวทักทายประชาชนชาวไทยที่มาต้อนรับที่จังหวัดสุรินทร์ และได้พูดติดตลกว่า “ตอนผมเดินบนดวงจันทร์ไม่เคยลื่นแบบนี้เลยนะ”

 

ชาวสุรินทร์ต้อนรับ นีล อาร์มสตรอง ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์

 

จากนั้นในปีเดียวกัน วันที่ 20 ธันวาคม 2512 นีล อาร์มสตรอง ก็ได้เดินทางมายังจังหวัดสุรินทร์ตามคำเชิญในจดหมายฉบับดังกล่าวอีกครั้ง เล่าว่ามีผู้คนไปรอต้อนรับอย่างล้นหลามที่ศาลากลางจังหวัด เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีมนุษย์สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้ โดยคำบอกเล่าของ อรนุช ภาชื่น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รศ.ดร.อรนุช ภาชื่น อดีตอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นีล อาร์มสตรอง ได้ลื่นระหว่างที่กำลังเดินลงจากเวทีหลังจากที่กล่าวทักทายประชาชนชาวสุรินทร์ที่มาต้อนรับ และได้พูดติดตลกว่า “ตอนผมเดินบนดวงจันทร์ไม่เคยลื่นแบบนี้เลยนะ” นับเป็นอารมณ์ขันของ นีล อาร์มสตรอง ไม่น้อย

 

“เจอกันอีกแล้วนะ สบายดีไหม?” คำทักทายของ นีล อาร์มสตรอง ที่ได้พูดคุยกับ อรนุช ภาชื่น หนึ่งในนักเรียนที่เขียนจดหมายถึงนักบินอวกาศอพอลโล 11

 

นีล อาร์มสตรอง ถ่ายภาพร่วมกับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ที่หน้าอาคารเรียนไม้หลังเก่า (อาคารเขียว) เมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยมีกลุ่มนักเรียนที่เขียนจดหมายถึง เช่น อรนุช ภาชื่น, พรเพ็ญ เพียรชอบ และ ศิริพร โสภาพรรณ (ชื่อสกุลเดิม) ร่วมถ่ายภาพด้วย

 

ช้างไม้แกะสลัก หนึ่งในของที่ระลึกจากชาวจังหวัดสุรินทร์ มอบไว้ให้แก่ นีล อาร์มสตรอง

 

นีล อาร์มสตรอง แวะมาเยี่ยมโรงเรียนสิรินธร ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยมี ‘มิสมาร์กาเร็ต’ (ขวาสุด) และคณะครูให้การต้อนรับ อีกทั้งเขายังได้เขียนในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนด้วยว่า “ข้าพเจ้าอยากที่จะมีคอให้ยาวเหมือนคอยีราฟ เพื่อจะได้สวมใส่พวงมาลัยเหล่านี้ให้หมด”

 

บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มจากคณะครู นักเรียน และชาวสุรินทร์ ที่ต่างมายลโฉม นีล อาร์มสตรอง ผู้แห่นำพวงมาลัยมาคล้องคอให้กำลังใจอาร์มสตรองอย่างล้นหลาม จนเขานำความประทับใจเหล่านี้ไปเขียนในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนสิรินธรว่า “ข้าพเจ้าอยากที่จะมีคอให้ยาวเหมือนคอยีราฟ เพื่อจะได้สวมใส่พวงมาลัยเหล่านี้ให้หมด” จนกลายเป็นบันทึกแห่งความทรงจำของโรงเรียนสิรินธรจนถึงทุกวันนี้

 

บางทีข้อพิสูจน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิตของ นีล อาร์มสตรอง อาจเป็นเรื่องราวของเขาที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนจากอีกฟากหนึ่งของโลกที่เขียนความฝันของตัวเองลงบนจดหมายฉบับหนึ่งจนกลายเป็นความจริงได้ และคงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของ “That’s one small step for a man, one giant leap for mankind.” อันหมายถึง ก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ดังที่ นีล อาร์มสตรอง เคยกล่าวไว้จริงๆ…

 

 อ้างอิง: 

  • หนังสือ ๑๐๐ เรื่องเมืองสุรินทร์(๑) โดย อ.อัษฎางค์ ชมดี
  • แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นห้องภาพเมืองสุรินทร์
  • th.wikipedia.org
  • nasa.gov
  • fastcompany.com
  • Rabbit Today
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising