คนหนึ่งเป็นนักฟุตบอลระดับสตาร์ของพรีเมียร์ลีก เป็นหนึ่งในปีกที่หลายคนอยากรู้ว่าหากมีโอกาสย้ายไปอยู่กับสโมสรฟุตบอลระดับท็อปอีกสักครั้ง วิลฟรีด ซาฮา จะไปได้ไกลถึงไหนกัน
อีกหนึ่งคนเป็นศิลปิน นักร้อง นักดนตรี เป็นตัวจริงของวงการที่กวาดรางวัลมากมายมาครองในนามของ Stormzy ขวัญใจของชาวอังกฤษ
ทั้งสองเหมือนอยู่คนละโลก แต่กลับมาพบและจับมือกันในการขอซื้อสโมสรฟุตบอลเล็กๆ แห่งหนึ่งในลอนดอน เอเอฟซี ครอยดอน แอธเลติก (AFC Croydon Athletic) ทีมฟุตบอลเล็กจิ๋วซึ่งอยู่ในระดับที่ 9 ของพีระมิดวงการลูกหนังอังกฤษ ที่แทบไม่มีใครรู้จักชื่อ
เรื่องนี้ก็ทำให้หลายคนประหลาดใจว่า อะไรที่นำพาทั้งหมดให้มาพบกันได้นะ?
หากมองในแง่ของการลงทุนในทีมกีฬา ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ไม่เพียงแต่เหล่านักลงทุนระดับโลกให้ความสนใจ แต่ยังเป็นเทรนด์ที่เหล่าคนดังบนโลกใบนี้ให้ความสนใจด้วย
กระแสนั้นเราอาจพอจะบอกได้ว่า เริ่มจากความสำเร็จเหนือความคาดหมายของ ไรอัน เรย์โนลด์ส กับ ร็อบ แม็กเอลเฮนนีย์ ในทีมเร็กซ์แฮม สโมสรฟุตบอลเล็กๆ แห่งหนึ่งในเวลส์ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ของทีมเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ที่ถูกนำมาบอกเล่าเรื่องราวความรัก ความผูกพัน และความมหัศจรรย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกทีม (อย่างชาญฉลาดผ่านซีรีส์ใน Netflix) ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทีมใหญ่ในระดับลีกสูงสุดเพียงอย่างเดียว
เพียงแต่ในกรณีของซาฮา และ Stormzy พวกเขาอาจไม่ได้ต้องการให้เอเอฟซี ครอยดอน กลายเป็น ‘Content’ อยู่บนแพลตฟอร์มไหน
คนที่ออกมาบอกก็ไม่ใช่ตัวของเขาเอง แต่เป็น พอล พิคเคอริง ผู้อำนวยการสโมสรของเอเอฟซี ครอยดอน
“มันไม่เหมือนกับคนจากฮอลลีวูดที่เข้ามา ส่วนตัวผมว่าสโมสรฟุตบอลเป็นเหมือนของเล่นสำหรับพวกเขา” พอลชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเข้ามาลงทุนของเร็กซ์แฮม กับเอเอฟซี ครอยดอน “สำหรับวิลฟ์ (ซาฮา) และ Stormzy มันเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำจริงๆ และเชื่อมั่นในสิ่งนี้จริงๆ”
สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเขาอยากทำอะไร และอะไรคือความเชื่อที่ทำให้เข้ามาลงทุน?
ภาพ: AFC Croydon Ath
อย่างแรกที่เราน่าจะต้องรู้ก่อนคือ สโมสรเอเอฟซี ครอยดอน แอธเลติก มาจากไหน?
สืบประวัติแล้วไม่ใช่สโมสรที่เก่าแก่อะไร เพราะเพิ่งก่อตั้งในปี 2012 เท่านั้น แต่หากย้อนกลับไปจริงๆ สโมสรแห่งนี้อยู่มาตั้งแต่ปี 1986 แล้ว โดยชื่อดั้งเดิมคือ แวนด์สเวิร์ธ แอนด์นอร์วูด เอฟซี (Wandsworth & Norwood FC) ซึ่งก็มาจากการควบรวมกันของสองทีมในชื่อดั้งเดิม ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น ครอยดอน แอธเลติก ในปี 1990
สมญาเหมือนกับทีมดาร์บี เคาน์ตี คือ ‘The Rams’ เพียงแต่เขาไม่น่าจะเป็นเหล็กเหมือนกัน
ครอยดอน แอธเลติก ทีมนี้ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่หลายปี ก่อนจะยุบทีมหลังจบฤดูกาล 2011/12 – ในปีเดียวกับที่เชลซีได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกหนแรกในนัดชิงสุดเหลือเชื่อกับบาเยิร์น มิวนิก
โดยเหตุผลในการยุบทีม หรือความจริงคือการถอนตัวจากลีกเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะมันเกิดจากการที่เจ้าของสโมสรในเวลานั้นอย่าง มาซาร์ มาจีด ถูกจับกุมข้อหาล็อกผลในการแข่งขันคริกเก็ตของลีกปากีสถาน อีกทั้งยังเคยสารภาพว่าซื้อสโมสรก็เพื่อฟอกเงินเท่านั้น แถมยังไม่ชำระหนี้ค่าเช่าสนามกับท้องถิ่น จนทำให้ไม่สามารถใช้สนามแข่งได้
แต่สโมสรที่ถูกยุบไปก็ถือกำเนิดขึ้นใหม่โดยการรวมตัวกันของแฟนฟุตบอล ในโมเดลเดียวกับหลายๆ ทีมที่ไม่ยอมให้จิตวิญญาณของสโมสรท้องถิ่นดับลงไปด้วย เหมือนเช่น เอฟซี ยูไนเต็ด ออฟ แมนเชสเตอร์ (เพื่อต่อต้านการเทกโอเวอร์ของครอบครัวเกลเซอร์) หรือเอเอฟซี วิมเบิลดัน ที่ประท้วงการย้ายถิ่นฐานของทีมวิมเบิลดันไปอยู่มิลตัน คีย์นส จนเปลี่ยนชื่อเป็นมิลตัน คีย์นส ดอนส์
ภาพ: AFC Croydon Ath
เอเอฟซี ครอยดอน แอธเลติก จึงถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง เพราะสโมสรฟุตบอลแห่งนี้มีความสำคัญต่อชุมชน (Community) นี้เป็นอย่างยิ่ง
มันไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิงในวันหยุด หากแต่ฟุตบอลเป็นพลวัตขับเคลื่อนชุมชนในหลายด้าน
ในเชิงเศรษฐกิจ วันที่ทีมได้ลงแข่งในบ้านหมายถึงแฟนบอลซึ่งอยู่ในชุมชนจะออกมาเชียร์กันที่สนาม อาหารการกินที่หน้าสนาม ของที่ระลึกต่างๆ ไปจนถึงผับบาร์ที่จะแน่นขึ้นกว่าปกติในวันที่มีเกมแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มานั่งดูในร้าน หรือมาดื่มเพื่อเปิดวงสนทนาภาษาลูกหนังกันหลังจบเกมการแข่งขัน
ในเชิงของสังคม สนามฟุตบอลคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งแม้ครอยดอนจะอยู่ในย่านธอร์นตันฮีธ (Thornton Heath) ซึ่งอยู่ทางใต้ของลอนดอน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นพื้นที่เจริญสวยงามเหมือนเมืองชั้นใน
ให้เด็กมาเล่นฟุตบอล มาฝึกฟุตบอลกับสโมสรนั้นย่อมดีกว่าปล่อยให้ไปเล่นตามถนน ที่นอกจากอันธพาล ยาเสพติด ยังอาจหมายถึงชีวิตที่พร้อมถูกพรากได้เสมอ
“ฟุตบอลทำให้เด็กๆ สนใจตัวเอง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา เพราะธอร์นตันฮีธนั้นไม่ใช่ย่านที่ดีอะไรเลย” หนึ่งในชาวบ้านย่านนี้และเป็น แฟนบอลของเอเอฟซี ครอยดอนเล่าให้ฟัง
ภาพ: AFC Croydon Ath
แต่เพราะเป็นสโมสรที่ก่อตั้งโดยแฟนบอล และดูแลกันเองโดยแฟนบอล แน่นอนว่ามันมีความยากลำบากอยู่มาก
สนามเมย์ฟิลด์ สเตเดียมของทีมที่มีความจุ 3,000 ที่นั่งตอนนี้ไฟสนามก็ติดบ้างไม่ติดบ้าง ถนนหนทางที่จะมาสนามก็ยับเยิน ใครขับรถมาก็ทำใจว่าจะต้องไปซ่อมช่วงล่าง
เจ้าหน้าที่สนามก็เป็นเพียงลูกจ้างพาร์ตไทม์ ดังนั้นในแต่ละสัปดาห์หนึ่งในผู้อำนวยการสโมสรอย่าง ไมค์ แม็คคิว ต้องขับรถจากเมืองเคนต์ เสียเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อที่จะลากสปริงเกอร์ฉีดพรมน้ำสนามหญ้าในช่วงกลางสัปดาห์ เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สนามชั่วคราว
ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ผู้บริหารคนนี้ก็ทำด้วยความรัก
แต่การที่สโมสรจะหาเงินผ่านสปอนเซอร์ยามนี้ก็ลำบาก เพราะเจ้าของธุรกิจในท้องที่ซึ่งช่วยเหลือทีมและชุมชนมาโดยตลอดเองก็ตึงมือเหมือนกัน เหมือน The Cronx Brewery หนึ่งในธุรกิจสุราท้องถิ่นที่สนับสนุนทั้งเงินผ่านการซื้อป้ายโฆษณาข้างสนาม และส่งเบียร์ให้สโมสรด้วยก็เริ่มจะไม่ไหวเหมือนกัน
ดังนั้นการมีนักลงทุนเข้ามาช่วยจึงเป็นเรื่องที่มีความหมายมากสำหรับชาวเอเอฟซี ครอยดอน
เพราะการต่อชีวิตให้สโมสร ก็เหมือนการต่อชีวิตให้ชุมชน จุดไฟให้จิตวิญญาณของชาวเมืองอีกครั้ง
สิ่งที่มันทำให้เรื่องนี้สวยงามคือคนที่กลับมายื่นมือช่วยเหลือ ก็คือคนที่เคยมีความทรงจำร่วมกัน
วิลฟรีด ซาฮา แม้จะเกิดที่ไอวอรีโคสต์ แต่ก็เคยอาศัยทางตอนใต้ของลอนดอนมาก่อนตอนเด็กๆ และประตูแรกในชีวิตการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของเขาก็เกิดขึ้นที่เมย์ฟิลด์ สเตเดียม ในช่วงที่เขาเล่นให้ทีมสำรองของคริสตัล พาเลซ
เมื่อเขารู้ว่ามีทีมฟุตบอลในย่านนี้กำลังลำบากก็อยากกลับมาช่วยเหลือ โดยมี แดนนี ยัง อดีตหัวหน้าฝ่ายดูแลผู้เล่นของคริสตัล พาเลซที่ร่วมลงขันด้วย
ส่วน Stormzy ซึ่งนอกจากจะเป็นศิลปินดังแล้วยังเป็นแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตัวยงที่มาร่วมลงขันด้วยอีกคนแบบน่าประหลาดใจนั้น
จอร์จ พิคเกอริง ซึ่งเป็นแฟนบอลของเอเอฟซี ครอยดอน มาบอกความลับในภายหลัง
ว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่เขายังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมฯ เขาจะหาเวลามาเตะฟุตบอลเล่น ซึ่งก็อยู่แถวที่ตั้งของสนามเมย์ฟิลด์ในปัจจุบันนี้แหละ
โดยในช่วงเวลานั้นมีเด็กคนหนึ่งที่ช่างพูดช่างเจรจา และมีพลังล้นเหลือจะมาขอเตะบอลด้วยเสมอ
‘ไมเคิล’ เขาจำชื่อของเด็กคนนั้นได้ดี
เมื่อเติบโตตามเส้นทาง ไมเคิลคนนั้นหายไปนานทีเดียว ก่อนจะกลับมาพบกับจอร์จอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในงานพบปะของเพื่อนเก่า ซึ่งไมเคิลวันนั้นได้กลายเป็น Stormzy ในวันนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
การกลับมาลงทุนช่วยเอเอฟซี ครอยดอน สำหรับ Stormzy รวมถึงซาฮา และยัง จึงไม่ได้มีเรื่องของผลประโยชน์ตัวเงินเป็นที่ตั้ง
เพราะการรื้อฟื้นพื้นที่ความทรงจำ มันไม่สามารถใช้เงินหรือสมองนำทางได้ ทำอย่างไรก็ไม่มีวันคุ้ม
แต่การลงทุนนี้มีคุณค่ามหาศาลในด้านอื่น
อย่างน้อยที่สุด การกลับมาของพวกเขาก็ทำให้ชาวธอร์นตันฮีธ ได้กลับมามีความหวังอีกครั้ง
อ้างอิง: