×

เรื่องเล่าถ้ำหลวงผ่านเลนส์ช่างภาพ THE STANDARD บางครั้งรอทั้งวันเพื่อถ่ายภาพเดียว

05.07.2018
  • LOADING...

นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีติดอยู่ในถ้ำหลวงตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน แต่มาเริ่มเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจเมื่อหน่วยซีลเริ่มเข้าไปปฏิบัติภารกิจค้นหาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน

 

กองบรรณาธิการ THE STANDARD ตัดสินใจส่งทีมข่าวลงไปทันที 2 คน หนึ่งในนั้นคือบรรณาธิการภาพ ฐานิส สุดโต หรือใครๆ จะเรียกเขาว่า ‘พี่โต’

 

 

พี่โตเล่าว่าในยุคสมัยนี้พอมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ภาพแรกที่คนจะได้เห็นมักเป็นภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟน แต่ก่อนลงพื้นที่พี่โตจะพยายามดูภาพของสำนักข่าวอื่นๆ ที่ลงพื้นที่ก่อน เพราะภาพผ่านชัตเตอร์ช่างภาพด้วยกันจะได้เห็นอะไรที่มากกว่า อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าในพื้นที่มันมีอะไรให้ถ่ายภาพได้บ้าง

 

จากนั้นก็เตรียมกล้องคู่ใจพร้อมเลือกเลนส์ 2 ตัวหลักที่ใช้ประจำคือ เลนส์เทเล 70-200 F2.8 และเลนส์ไวด์ 16-35 F4 ส่วนเลนส์ที่เหลืออีกหลายตัวพี่โตตัดใจทิ้งไว้เฝ้าบ้าน เพราะสัมภาระที่พกพามาทำงานในพื้นที่ก็หนักพอแล้ว พี่โตบอกว่าเราต้องประเมินสถานการณ์และสภาพร่างกายตัวเองด้วย จึงเลือกหยิบเลนส์มาตรฐานที่ครอบคลุมการทำงานมากที่สุด

 

วันที่ 1 มาถ้ำ ต้องเห็นถ้ำ

ทีมงาน THE STANDARD เดินทางมาถึงพื้นที่ถ้ำหลวงช่วงเช้าวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งเข้าสู่วันที่ 4 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง ภาพแรกที่พี่โตกดชัตเตอร์คือภาพเฮลิคอปเตอร์บินเหนือดอยนางนอน เห็นเฮลิคอปเตอร์ลำเล็กๆ บนฟ้าสีหม่น

 

พี่โตบอกว่าที่ถ่ายรูปนี้รูปแรกเพราะเป็นวัตถุแปลกปลอมบางอย่างที่ไม่น่าจะบินเหนือภูเขาซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มันเหมือนเป็นสัญลักษณ์สื่อว่าสถานที่แห่งนี้มีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ถ่ายไปเฉยๆ ไม่ได้คิดจะเอาไปใช้ทำอะไร

 

 

รองเท้าที่ย่ำโคลนในพื้นที่ เราก็ถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึก

 

ภาพนี้คอยย้ำเราว่าการศึกษาภาพถ่ายของช่างภาพที่ลงพื้นที่มาก่อนก็ไม่ได้ทำให้เราทราบทั้งหมดว่าเมื่อเดินทางถึงหน้างานแล้วเราจะเจอกับอะไรบ้าง

 

 

ภาพปากถ้ำหลวงคือภาพที่ต้องถ่ายมาให้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าในเวลาต่อมาความวุ่นวายในพื้นที่จะเพิ่มขึ้น หรือเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เข้าพื้นที่ตรงนี้ได้อีกหรือไม่

 

พี่โตเล่าว่าภาพที่ถ่ายมาทั้งหมดจากถ้ำหลวงจะใช้ส่งเข้ากองบรรณาธิการจริงๆ ไม่ถึง 2% ถ่ายมาเฉลี่ยวันละ 600-1,000 รูป เลือกมาเหลือ 20-30 รูป ก่อนจะคัดภาพที่เข้ารอบสุดท้ายเพื่อมาใช้ใน THE STANDARD ประมาณ 6-8 รูป

 

“ชอบภาพถ้ำหลวงนี้เพราะมันมีองค์ประกอบที่ไม่ทำให้ถ้ำโล่ง ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่มาเป็นส่วนหนึ่งของถ้ำแล้ว”

 

สุดท้ายพี่โตก็คาดการณ์ถูก เพราะหลังจากวันนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนขึ้นไปบริเวณนั้นอีก

 

 

เวลาทหารเดินเรียงแถว ช่างภาพข่าวทุกคนต้องถ่าย เพราะทหารเดินเป็นระเบียบ และในเหตุการณ์นี้ทหารก็เป็นตัวแสดงหลักของเรื่อง

 

เวลาทหารเดินแถว เขาจะเดินมาทีละจำนวนเยอะๆ และท่าเดินจะพร้อมเพรียง เป็นเหตุการณ์บังคับที่ช่างภาพต้องถ่ายไว้

 

เหตุผลคือตัวแบบมีความลงตัว จะถ่ายมุมไหนก็ดูดี ความจริงไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่ภาพที่ได้จะมีจังหวะเดียวกัน เป็นหลักการเบื้องต้นในการถ่ายภาพ ส่วนที่ชอบภาพนี้เพราะเป็นมุมที่สื่อว่ากำลังเดินเข้าไปในพื้นที่

 

 

ภาพนี้ก็หลักการเดียวกัน คือสิ่งซ้ำๆ ที่มาพร้อมกันจะทำให้ภาพออกมาสวย แล้วถ้ามันย้อนแสง ภาพที่ได้จะสวยมาก แต่ภาพนี้ไม่ถูกเลือกส่ง เพราะฉากหลังที่เป็นภูเขามืด เนื่องจากฝนตก ที่สำคัญคือตัวแบบ (ทหาร) กับฉากหลัง (ภูเขา) มันกลืนกัน

 

วันที่ 2 เปลี่ยนโลเคชัน หามุมภาพที่หลากหลายในข่าวเดียว

27 มิถุนายน เข้าสู่วันที่ 5 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง สถานการณ์บริเวณหน้าถ้ำยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมาก แนวทางเสริมในการค้นหาที่น่าสนใจคือการสำรวจหาโพรงถ้ำ

 

เราขึ้นมาบนดอยผาหมี จุดที่เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจโพรงถ้ำเพื่อเปลี่ยนโลเคชันให้ภาพถ่ายหลากหลายขึ้นในข่าวเดียว เป้าหมายคือเจอหน่วยกู้ภัยอะไรก็ได้ที่กำลังออกค้นหาแบบจริงจัง

 

 

เลือกภาพนี้เพราะมันมีเลเยอร์ ทุกคนจะมีแอ็กชันของตัวเองหมด

 

เลเยอร์ทำให้ภาพมีมิติ มีเรื่องราวในภาพหลากหลายด้วยกิริยาของแต่ละคน ส่วนมากจะใช้เลนส์ไวด์เข้าไปถ่ายตัวแบบในระยะประชิดโดยที่ตัวแบบไม่ได้มองกล้องหรือสนใจเรา

 

 

ขึ้นมาสำรวจโพรงถ้ำ แม้จะเจอแต่ป่า แต่ก็ต้องถ่ายไว้ด้วยสัญชาตญาณ เจออะไรก็กดไว้ก่อน เพราะไม่ใช่ว่าเราจะกลับมาได้บ่อยๆ ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้ก็อีกเรื่อง

 

พี่โตใช้เลนส์เทเล 70-200 ซูมสุดระยะเลนส์ จึงได้ภาพเจ้าหน้าที่กลางป่า

 

ภาพนี้ตั้งใจจะสื่อว่าขนาดถ่ายภาพเลนส์ซูมสุดระยะยังเห็นตัวคนเพียงเท่านี้กลางป่าบนดอยนางนอน แล้วคิดดูว่าการจะหาโพรงเล็กๆ บนดอยนางนอนทั้งหมดจะยากขนาดไหน

 

 

วันเดียวกัน เราลงจากดอยผาหมีมาหน้าถ้ำหลวง เวลา 17.00 น. พบว่าเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งและเริ่มทำงานแล้ว

 

ภาพนี้ถ่ายไว้หลายมุมมาก เราต้องหามุมไม่ให้เกะกะเจ้าหน้าที่ ก็ไปเจอมุมที่น้ำไหลออกมา ไม่ได้เกะกะใคร ขณะนั้นเจ้าหน้าที่เหมือนใกล้จะทำงานเสร็จแล้ว จึงต้องรีบหามุมที่ลงตัวและรอจับจังหวะแอ็กชันของเจ้าหน้าที่

 

ในที่สุดก็ได้ภาพนี้ เป็นมุมภาพที่เล่าเรื่องได้ครบ เห็นน้ำไหลออกจากท่อ และมีเจ้าหน้าที่แบกสายยางเพื่อเข้าไประดมสูบน้ำ

 

วันที่ 3 ฟ้าเปิด แดดออก เครื่องสูบน้ำเดินเต็มที่ สัญญาณดี ต้องเฝ้าหน้าถ้ำ

28 มิถุนายน ซึ่งเข้าสู่วันที่ 6 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง

 

เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาถึง น้ำเริ่มลดลง ฟ้าเปิด เริ่มมีแดดออก เป็นสัญญาณที่ดี เราจึงประเมินว่าควรเฝ้าความเคลื่อนไหวอยู่ที่หน้าถ้ำหลวง

 

 

เดินเข้ามาในวันฟ้าเปิด เห็นว่าสวยดี จึงถ่ายให้เห็นภาพกว้าง แม้จะใช้เลนส์เทเลพยายามสื่อให้เห็นสเกลของขนาดดอยนางนอนเมื่อเทียบกับขนาดเฮลิคอปเตอร์

 

พี่โตบอกว่าการถ่ายรูปเฮลิคอปเตอร์ต้องใช้สปีดต่ำหน่อย ประมาณ 125-250 เพื่อให้เห็นว่าใบพัดมีความเคลื่อนไหว


ที่ชอบภาพนี้เพราะเห็นใบพัดเป็นวง ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร แต่เดาว่าน่าจะเกิดจากการสะท้อนของแสงที่ไปกระทบใบพัด

 

 

วันเดียวกัน รถเจาะบาดาลเดินทางมาถึงหน้าถ้ำ สื่อทุกสำนักแย่งกันเก็บภาพ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ประจำวัน

 

พี่โตเลือกภาพนี้เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เล่าว่ากำลังจะมีการเจาะน้ำบาดาล และมันก็สะท้อนภาพจริงที่เกิดในพื้นที่เกี่ยวกับความเชื่อของไทยที่ก่อนจะทำอะไรในป่าเขาต้องมีพิธีกรรม

 

 

วันที่ 4 นายกฯ ลงพื้นที่ถ้ำหลวง

29 มิถุนายน ซึ่งเข้าสู่วันที่ 7 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง เป็นวันที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่

 

เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าต้องลำบาก เพราะสื่อจำนวนมากสนใจ ทั้งช่างภาพนิ่ง ช่างภาพโทรทัศน์ มือถือนักข่าวไลฟ์สด และเจ้าหน้าที่ทุกคนก็อยากเข้ามาเก็บภาพนายกฯ

 

เป็นปกติของนายกฯ ที่จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งหน้าที่ของเขามักไม่สมประโยชน์กับหน้าที่ของเราเสมอ

 

ทุกสิ่งต้องชิงไหวชิงพริบ ต้องอ่านเกมล่วงหน้า ถ้าช้าจะไม่มีโอกาสได้ไปอยู่ข้างหน้า

 

เลือกรูปนี้เพราะแม้เป็นภาพธรรมดา แต่กว่าจะได้มาต้องฝ่าวงล้อมเข้าไปถ่ายตอนนายกฯ จะเดินเข้าไปในถ้ำ

 

ถึงแม้จะไม่เห็นภาพถ้ำ แต่ได้เห็นโคลน เห็นเจ้าหน้าที่และสื่อ ทำให้ภาพมันเล่าเรื่องได้ว่านายกฯ มาถึงถ้ำแล้ว

 

 

เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ตามสไตล์พลเอก ประยุทธ์ ที่มักมีอะไรแปลกๆ ให้เก็บภาพอยู่เสมอ

 

ภาพน้ำมันกระเด็นขณะนายกฯ ลองทอดไข่บริเวณโรงครัวพระราชทานเกิดขึ้นขณะกำลังเล็งชัตเตอร์

 

อยู่ๆ น้ำมันก็กระเด็นขึ้นมา โดยเรามองเห็นจากในกล้องและยืนห่างประมาณ 3 เมตร

 

ตอนน้ำมันกระเด็นขึ้นมาเราก็ตกใจ กลัวน้ำมันกระเด็นใส่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ลืมที่จะกดชัดเตอร์ไว้

 

จึงได้ภาพนายกฯ อีกแบบที่แปลกตาดี

 

 

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการ ศอร. ผู้มีบทบาทโดดเด่นในภารกิจครั้งนี้

 

ด้วยบุคลิกของท่านเป็นคนถ่ายรูปยากมาก เพราะเดินเร็ว สภาพแสงที่ไม่ดีอยู่แล้ว พอใส่หมวกจะทำให้หน้าดำ แม้จะแก้ได้ด้วยการใช้แฟลช แต่เหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนก็ทำให้คิดไม่ทัน

 

ภาพนี้เป็นแอ็กชันนิ่งๆ มีแสงไฟที่ทำให้เห็นแววตา เห็นรูปทรงของใบหน้า แล้วแสงส่องมาเฉพาะจุด

 

จึงเป็นภาพอีกแบบหนึ่งของท่านที่นอกเหนือจากภาพการแถลงข่าว

 

 

วันที่ 5 ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

30 มิถุนายน เข้าสู่วันที่ 8 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง วันนี้มีการซ้อมแผนเคลื่อนย้ายกรณีนำเด็กออกจากถ้ำ การซ้อมจะใช้ทหารแทนตัวเด็กติดป้ายชื่อเป็นลำดับ 1-13

 

ระหว่างรออยู่ก็มีทหารคนเดียวที่เดินลงมาเข้าห้องน้ำ ดันเป็นทหารคนที่ 13 ก็ตลกดีที่ทำไมเลขอื่นถึงไม่ลงมา

 

 

ภาพนี้เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไปจะไม่ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย แต่ช่างภาพทุกคนจะมายืนรุมถ่าย เพราะเป็นภาพที่สามารถนำมาใช้เล่าประกอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้

 

 

ภาพนี้ตั้งใจจะถ่ายทีมงานต่างประเทศระหว่างการซ้อมเคลื่อนย้าย

 

แต่อยู่ๆ ก็มีพระสงฆ์เดินเข้าไปในเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่จึงเชิญท่านลง ซึ่งก็ไปพอดีกับจังหวะที่ทีมงานต่างประเทศเดินมาพอดี

 

เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดอยู่เสมอๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เวลาถึงช็อตที่ต้องการก็จะมีอะไรมาคอยขัดจังหวะ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะงานนี้ แต่มักจะเป็นทุกงาน

 

 

ภาพนี้เราเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุม เบื้องหลังคือช่างภาพนิ่งเกือบ 10 คนจากต่างสำนักก็ค่อยๆ ย่องเข้าไปในระยะของเลนส์ตัวเอง แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็หันมาเห็นและเชิญเราออกทันที

 

รูปที่ถ่ายมา เราก็ตกลงกันในกลุ่มช่างภาพว่าจะไม่ส่ง แต่ด้วยนิสัยของช่างภาพ ถ้าขึ้นชื่อว่าหวงห้ามเมื่อไรก็มักจะต้องเข้าไปถ่ายให้ได้ทุกครั้งไป

 

 

วันที่ 6 รอทั้งวันเพื่อถ่ายภาพเดียว

1 กรกฎาคม เข้าสู่วันที่ 9 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง

 

ทุกพื้นที่ถูกควบคุมเข้มงวด ห้ามสื่อถ่ายภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

 

ภาพไฮไลต์ของวันในการใช้เฮลิคอปเตอร์ Mi-17 ขนอุปกรณ์ขึ้นไปบนดอยครั้งแรก

 

เราก็ไปนั่งรอกันตั้งแต่เช้า กว่าจะได้ถ่ายจริงเกือบ 1 ทุ่ม

 

ภาพนี้ต้องตัดสินใจว่าจะถ่ายเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบนฟ้าแล้ว หรือภาพเฮลิคอปเตอร์กับภูเขาที่มันกำลังจะนำของไปส่ง

 

ด้วยสภาพแสงน้อย ความเปรียบต่างของภาพสูง ฟ้าสว่าง ภูเขาดำ มีเมฆจางๆ ลอยมา

 

คุณต้องเลือกว่าจะเอาอะไร ที่สุดก็เลือกภาพนี้

 

 

วันที่ 7 แสงเย็นเห็นดอยนางนอน

2 กรกฎาคม เข้าสู่วันที่ 10 ที่ทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง

 

เป็นวันที่เหตุการณ์หน้าถ้ำไม่มีอะไรเคลื่อนไหวมากนัก ประกอบกับพื้นที่โดยรอบถูกควบคุมเข้มงวด

 

สารภาพตามตรงคือไม่รู้จะหามุมอะไรไปถ่ายภาพ

 

เราจึงตัดสินใจไปจุดชมวิวดอยนางนอน เพราะวันนั้นเป็นวันฟ้าเปิด ตั้งใจไปเก็บแสงเย็น ซึ่งคนถ่ายภาพส่วนมากจะชอบกัน

 

วันนี้เราได้เห็นดอยนางนอนเต็มตาในจุดที่เชื่อว่าดีที่สุดของเชียงราย

 

ถ่ายภาพภูเขาที่เรียงรายกัน มองไปคล้ายสรีระหญิงผมยาวนอนหงายโดดเด่นรับแสงเย็นอย่างสวยงาม

 

หลังได้กลับไปพักผ่อนที่โรงแรม ช่วงเกือบเที่ยงคืนก็ได้รับข่าวดีว่าพบ 13 ชีวิตปลอดภัยในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

 

แปลกดีเหมือนกัน ในวันที่ไม่รู้จะถ่ายภาพอะไรคือวันเดียวกับที่ต้องออกไปถ่ายภาพที่สำคัญที่สุดของเหตุการณ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X