เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จัดโครงการ หยุดข้อมูลลวง…Stop Fake, Spread Facts ‘ร่วมปลุกสังคม รู้เท่าทันข้อมูลลวง’ โดยภายในงานได้จัดเสวนาหัวข้อ ‘เราจะ Stop Fake และ Spread Facts เพื่อเราและสังคม?’
โดยมี พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.), มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และเครือข่ายนักวิชาการเข้าร่วม
ระวีกล่าวว่า เราทราบดีว่าปัญหาของข่าวปลอมปัญหาของคำว่า Misinformation คำนี้บางท่านบอกว่าเป็นคำใหม่ แต่จริงๆ แล้วเป็นคำที่ถูกใช้มาตลอด หรือ Misleading ที่ถูกใช้มาตลอด ยกตัวอย่างการส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันว่าปลอมหรือไม่ปลอม แต่ส่งเลยด้วยความเป็นห่วงเป็นใยด้วยความรู้สึก ว่ามีคนส่งมาแล้วและก็เป็นเรื่องของสุขภาพ แล้วพอเราได้อ่านก็รู้สึกว่าดีเลยส่งต่อถึงเพื่อนข้างบ้าน แต่เมื่อเข้าไปอ่านจริงๆ แล้วพบว่าปลอม แบบนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ คำนี้ถูกพูดมานานแล้ว ฉะนั้นข้อมูลที่ท่านอ่าน จะทำอย่างไรที่เราจะรวบรวม ประมวลผล และเรียบเรียงออกมาเป็นเล่มหนังสือได้
ด้าน ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการ กสทช. แสดงปาฐกถาในหัวข้อ Strengthen Digital Competency to Win the Fight Against Disinformation: พลังแห่งการตื่นรู้ด้านดิจิทัล เพื่อเอาชนะข้อมูลบิดเบือน โดยเริ่มจากการพูดคุยเรื่อง Stop Fake, Spread Facts ร่วมขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในบริบท Next Normal คือต้องมี Before และ After
สำหรับ 4 องค์ประกอบในการรับมือ Misinformation และเนื้อหาที่เป็นอันตรายในบริบท Next normal ประกอบด้วย
- นำระบบ Algorithms, Automation และ Human Curation มาใช้
- การสร้าง Social Data Science ที่วิเคราะห์วิพากษ์
- การตีความกฎหมายภายใต้บริบทแห่งความสัมพันธ์ทางอำนาจ
- พัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อ