ดังที่ได้ทิ้งท้ายไว้ในบทความคราวที่แล้วว่า “แล้วผู้ใช้งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักวิเคราะห์ บริษัทจัดอันดับเครดิต หรือหน่วยงานกำกับดูแล จะประเมินคุณภาพกำไรอย่างไร ขอยกไปไว้ในตอนหน้าครับ”
บทความตอนที่ 2 นี้เป็นการรักษาสัญญาที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพกำไรของกิจการหรือบริษัทว่ากำไรที่ประกาศออกมานั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด แต่ก่อนที่จะประเมินถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขที่รายงานในงบการเงินนั้น ผู้ใช้งบการเงินควรที่จะต้องทำความเข้าใจบริบทและสภาพแวดล้อมของการรายงานทางการเงิน หรือพูดให้ง่ายยิ่งขึ้นก็คือ คนที่ใช้ตัวเลขในงบการเงินต้องรู้ว่าผู้บริหารหรือบริษัทกำลังเผชิญกับใคร อะไร และอย่างไร เพื่อจะสืบสาวถึงแรงจูงใจแห่งพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้บริหารมีทีท่าว่าจะแสดงผลประกอบการแตกต่างไปจากผลการดำเนินงานที่แท้จริง
พฤติกรรมของผู้บริหารที่มีเป้าหมายที่จะรายงานผลประกอบการและฐานะทางการเงินของบริษัทให้แตกต่างไปจากเรื่องราวที่แท้จริง ก็เพราะเหตุด้วยผู้บริหารมีแรงจูงใจที่จะกระทำการดังกล่าว งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจของการตกแต่งกำไรจัดประเภทแรงจูงใจออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ความคาดหวังของตลาด (Market Expectations) ข้อตกลงตามสัญญา (Contractual Arrangement) ตลาดหนี้ (Debt Market) และแรงกดดันจากสาธารณะ (Public Scrutiny or Pressure)
หากกล่าวถึงความคาดหวังของตลาดแล้ว เรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่การตกแต่งกำไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อบริษัท หรือเพื่อทำให้เกิดความพึงพอใจตรงตามความคาดหวังของตลาด ผลจากการศึกษาความคาดหวังของตลาดชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรโดยเพิ่มรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงผลการดำเนินงานขาดทุน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงผลประกอบการที่มีกำไรลดลงจากปีก่อน แต่ในบางกรณีผู้บริหารอาจตกแต่งกำไรโดยการลดรายได้เพื่อแสดงกำไรที่ราบเรียบ นอกจากนี้บริษัทอาจตกแต่งรายได้ให้เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองหรือเอาชนะความคาดหวังของนักวิเคราะห์หรือเกณฑ์ที่ตั้งไว้
บริษัทที่ไม่สามารถตอบสนองหรือเอาชนะการคาดการณ์กำไรของนักวิเคราะห์จะถูกลงโทษมากกว่าบริษัทที่บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นผู้บริหารจะมีแรงจูงใจในการตกแต่งกำไรเพื่อรายงานผลประกอบการในเชิงบวกตามความคาดหวังของนักวิเคราะห์ และเพื่อแสดงกำไรให้ตรงหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อาทิ การรายงานกำไรหรือผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และการบรรลุหรือเกินความคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรเพื่อที่จะได้รับรางวัลผลตอบแทนจากตลาดหรือเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาเชิงลบของตลาด
นอกจากนี้งานวิจัยทางการบัญชียังพบหลักฐานเกี่ยวกับลำดับขั้นของแรงจูงใจในการตกแต่งกำไร ขั้นแรกผู้บริหารจะตกแต่งกำไรสูงขึ้นและลดการใช้นโยบายตามหลักความระมัดระวังในการรายงานผลประกอบการ เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุนในปีที่มีผลประกอบการแย่ การตกแต่งกำไรลำดับขั้นถัดไปเกิดขึ้นหลังจากการที่บริษัทรายงานกำไรในปีก่อนหน้า คือการตกแต่งกำไรเพื่อต้องการแสดงกำไรที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นข่าวดีและทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้บริหารยังมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรเพื่อแสดงรายได้ที่ราบรื่นหรือรักษากำไรได้อย่างต่อเนื่อง การตกแต่งกำไรลำดับสุดท้าย ได้แก่ บริษัทมีแรงจูงใจในการตกแต่งกำไรเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของนักวิเคราะห์เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท ตามสมมติฐานความคาดหวังของตลาด บริษัทที่มีกำไรบรรลุหรือเกินเกณฑ์การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จะมีผลตอบแทนสูงกว่าบริษัทที่ไม่บรรลุเป้าหมาย เมื่อระดับรายได้ตรงกับความคาดหวังของนักวิเคราะห์ทางการเงินหรือนักลงทุน จะทำให้บริษัทมีอิทธิพลต่อผลตอบแทนของหุ้นสูงขึ้น
แรงจูงใจที่สองสำหรับการตกแต่งกำไรจะเกี่ยวข้องกับสัญญาการจ่ายค่าตอบแทนของผู้บริหาร และข้อตกลงในการเสนอขายหลักทรัพย์ตามฤดูกาล (Seasoned Equity Offering: SEO) กำไรมีบทบาทสำคัญในการจ้างงานและกำหนดผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหาร เช่น เงินเดือนบวกโบนัส การจ่ายโบนัสเป็นหุ้นของบริษัท เป็นต้น ดังนั้นผลของสัญญาผลตอบแทนบ่งชี้ว่าผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะมีการตกแต่งกำไรโดยแสดงกำไรสูงขึ้นเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์จากแผนการจ่ายผลตอบแทน หนึ่งในแรงจูงใจที่สำคัญที่สุดของการตกแต่งกำไรคือสิทธิ์ในการซื้อหุ้น (Share Offerings) ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารอาจตกแต่งกำไรสุทธิให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มโบนัสให้ตนเองหรือมีแรงจูงใจมากขึ้นในการเพิ่มราคาหุ้น หากพวกเขาได้รับผลตอบแทนในรูปของหุ้นมากขึ้น
ขณะที่แรงจูงใจถัดมา ได้แก่ ตลาดหนี้ สมมติฐานข้อผูกมัดในภาระหนี้ หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสมมติฐานข้อนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ในแง่หนึ่งผลการศึกษาสมมติฐานข้อผูกมัดภาระหนี้พบว่า ผู้บริหารอาจตกแต่งกำไรให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มหนี้ใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยในการตกแต่งกำไร ได้แก่ หนึ่ง ความยืดหยุ่นทางการบัญชีที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่หลากหลาย และสอง ต้นทุนในการกู้ยืม นอกจากนี้ผู้บริหารของบริษัทที่มีข้อผูกมัดภาระหนี้สูงมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรโดยการเปลี่ยนแปลงทางการบัญชีเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้อันดับเครดิตมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนหนี้สินและผลการดำเนินงานทางการเงิน หรือการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลตอบแทนและการละเมิดพันธสัญญาแห่งหนี้ เป็นต้น ดังนั้นผู้บริหารจะมีแรงจูงใจในการตกแต่งกำไรโดยเพิ่มรายได้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการละเมิดสัญญาภาระหนี้
แรงจูงใจสุดท้ายสำหรับการตกแต่งกำไรมุ่งเน้นไปที่แรงกดดันจากสาธารณชน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานต้นทุนทางการเมืองที่อ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับหน่วยงานของรัฐ ตามสมมติฐานนี้ ผู้บริหารมีแรงจูงใจในการตกแต่งกำไรที่ลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหรือการแทรกแซงของรัฐบาลที่เฉพาะเจาะจง ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการผูกขาด ผู้บริหารมักจะตกแต่งกำไรโดยการลดรายได้ลง นอกจากนี้ผู้บริหารอาจพยายามตกแต่งกำไรลดลง เพื่อให้ได้รับเงินสนับสนุนจากความช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วงวิกฤตมากขึ้น แต่บางครั้งผู้บริหารอาจตกแต่งกำไรให้สูงขึ้นในช่วงวิกฤต เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ของบริษัทว่าบริษัทจะสามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตดังกล่าว
ผลการศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความกดดันในช่วงวิกฤตพบว่า ผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะใช้โอกาสที่มาตรฐานการบัญชีอนุญาตทำการตกแต่งกำไร เช่น บริษัทมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤต ดังเห็นได้จากกรณีของบริษัท Enron และ WorldCom หรืออาจกล่าวได้ว่าวิกฤตมีผลทางลบต่อคุณภาพกำไร หรือคุณภาพกำไรถูกทำลายลงเนื่องจากวิกฤต หรือคุณค่าเชิงข้อมูลของรายการคงค้างแบบตั้งใจลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Kousenidis et al. (2013) ที่ศึกษาผลกระทบวิกฤตหนี้ในยุโรปต่อคุณภาพกำไรในห้าประเทศ ได้แก่ สเปน กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส พบว่าผู้บริหารลดการตกแต่งกำไรลงอย่างมากในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 หรือกล่าวได้ว่าคุณภาพกำไรในช่วงวิกฤตจะดีกว่าในช่วงก่อนวิกฤต เนื่องจากบริษัทมีความต้องการจัดหาเงินทุนภายนอกเพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท ดังนั้นบริษัทจึงจำเป็นต้องแสดงรายงานทางการเงินที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมของผู้บริหารที่มีเป้าหมายที่จะรายงานผลประกอบการและฐานะทางการเงินของบริษัทให้แตกต่างไปจากเรื่องราวที่แท้จริง ก็เพราะเหตุด้วยผู้บริหารมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐาน ทั้งนี้ ผู้บริหารยังใช้ลำดับขั้นของเป้าหมายในการตกแต่งกำไรเป็นแนวทางของการปฏิบัติอีกด้วย