“ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท) และบริษัทย่อย (กลุ่มกิจการ) และงบการเงินเฉพาะของกิจการของบริษัท สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เนื่องจากเรื่องที่กล่าวไว้ในวรรคเกณฑ์ในการไม่แสดงความเห็นมีนัยสำคัญ ข้าพเจ้าไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็น”
เหมือนฟ้าฟาดนักลงทุน (ไม่ใช่บริษัท!) อีกรอบ ตามหลังหลายๆ เหตุการณ์ของ STARK ที่เขย่าโสตประสาทของนักลงทุนมาราวๆ สามสี่เดือน สาเหตุที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากสำนักงาน PwC ซึ่งเป็นสำนักงานสอบบัญชี 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่ของวงการต้องแสดงความเห็นแบบไม่แสดงความเห็นแบบนี้ ก็เพราะว่ามันมีหลายเรื่องราวที่ทำให้ผู้สอบบัญชีกินไม่ได้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะเรื่องของการทุจริตทางบัญชี (Accounting Fraud) จนนำไปสู่การบิดเบือนงบการเงิน (Financial Misstatement) และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตลาดทุนของประเทศไทยจนยากจะคาดเดามูลค่าความเสียหาย
การปั้นมูลค่าของ STARK ด้วยการสร้างเรื่องราวการเติบโต (Growth Story) และสนับสนุนด้วยหลักฐานจากตัวเลขทางการบัญชี (Accounting Numbers) ที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัท ก็จูงใจให้นักลงทุนทุกประเภทและตัวกลางเชิงข้อมูลอย่างนักวิเคราะห์และบริษัทจัดอันดับเครดิตต่างก็เชื่อมั่นในบริษัทอย่างหามีข้อกังขาไม่ ความมุ่งมั่นที่จะรักษาสัญญาบนเรื่องราวการเติบโตก็นำไปสู่การตกแต่งกำไรกันอย่างเอิกเกริก และข้ามก้าวพรมแดนของการใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณไปสู่การทุจริตทางบัญชีในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถอดชุดเกราะไอรอนแมนของ STARK ภาคปฐมเหตุ
- ย้อนรอย 5 หุ้น ‘แกะดำตัวร้าย’ ก่อนมหากาพย์ หุ้น STARK I Stock Hacker EP.6
- หุ้น STARK มหากาพย์โกง 3 หมื่นล้าน แฉทุกเม็ด ม้วนเดียวจบ | Executive Espresso EP.431
คงไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่าเทคนิคของการทุจริตทางบัญชีของ STARK เป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่มีความสลับซับซ้อนแต่ประการใด กล่าวคือ STARK ใช้บริษัทในเครือสร้างยอดขายปลอม ชำระหนี้ปลอม สินค้าคงคลังปลอม เพื่อสร้างงบกำไรขาดทุนปลอม และนำไปสู่กำไรสุทธิปลอม มิหนำซ้ำ STARK ยังลากเอากรมสรรพากรมาประทับตราความถูกต้องปลอมๆ ด้วยการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้เสียด้วย
ผู้เขียนเชื่อว่าขณะนี้หลายๆ สำนักข่าวหรือบุคคลต่างๆ คงออกมาวิเคราะห์วิธีการตกแต่งกำไรของ STARK โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผู้เขียนจึงขอคิดว่าการให้ความรู้ทางวิชาการว่าเพราะเหตุใด STARK จึงห่วงใยใคร่ดีในกำไรของตนเป็นอย่างยิ่ง และทำไม ‘กำไร’ จึงเป็นหัวใจของทุกบริษัทที่ต่างก็พยายามรักษาไว้ให้ดีที่สุด
หากกล่าวถึงความสำคัญของ ‘กำไร’ แล้ว หลากหลายเหตุผลที่บ่งชี้ว่ากำไรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบริษัทและผู้บริหารอย่างยิ่ง
ประการแรก กำไรเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้ถือหุ้นในการควบคุมการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกำไรเป็นเสมือนการสรุปผลการดำเนินงานของบริษัทและสามารถใช้กำไรเพื่อประเมินกระแสเงินสดในอนาคตได้อีกด้วย หรือกล่าวได้ว่ากำไรถือเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพของผลประกอบการ ในทำนองเดียวกัน ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เช่น นักลงทุน คณะกรรมการ และเจ้าหนี้ ต่างก็ใช้กำไรเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท งานวิจัยจำนวนมากเสนอแนะว่า กำไรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความสำเร็จของการบริหารกิจการ เช่น งานวิจัยของ Francis et al. (2003) และงานวิจัยของ Fortuin (1988) แสดงให้เห็นว่า อัตราส่วนทางการเงินที่มีกำไรเป็นส่วนประกอบ เช่น Gross Profit, Net Profit Margin, Profitability, Earnings Per Share, Sales Growth, and Earnings before Interest, Taxes, Depreciation, and Amortization (EBITDA) เป็นต้น สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการประเมินผลประกอบการของบริษัทได้ ตัวอย่างเช่น Net Profit Margin หมายถึงอัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อรายได้บ่งชี้ว่ารายได้ที่บริษัทได้รับแต่ละบาทสามารถเปลี่ยนเป็นกำไรได้เท่าใด ดังนั้นบริษัทที่มี Net Profit Margin สูงแสดงถึงผลการดำเนินงานที่ดี หรืองานวิจัยของ Dewi (2015) เน้นว่าความสามารถในการทำกำไร (Profitability) สามารถใช้อธิบายถึงผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท ในขณะเดียวกัน งานวิจัยของ Dichev et al. (2013) ระบุว่า ข้อมูลรายได้เป็นประโยชน์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของบริษัท ตัวอย่างเช่น EBITDA สูงเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีต่อสุขภาพทางการเงินของบริษัท ดังนั้นลูกค้าอาจใช้ EBITDA เพื่อประกอบการประเมินว่าบริษัทจะมีความสามารถดำเนินธุรกิจในอนาคตและสามารถให้บริการหลังการขายได้ดีหรือไม่
ประการที่สอง กำไรสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำสัญญาที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น สัญญาการให้โบนัส บริษัทอาจกำหนดว่าบริษัทจะไม่จ่ายโบนัสให้กับผู้บริหารหรือพนักงานหากกำไรต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือสัญญาหนี้สิน (Debt Contracts) อาจมีการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาโดยใช้กำไรเป็นเกณฑ์ เช่น บริษัทจะไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นหากกำไรต่ำกว่าปีก่อน เป็นต้น
ประการที่สาม ตัวเลขกำไรเป็นข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจลงทุน เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่กำไรเพื่อใช้ในการคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตของบริษัทและเพื่อประเมินความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้เจ้าหนี้ก็ให้ความสนใจกับกำไรเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับหนี้สูญหรือการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัท พนักงานเองก็สนใจต่อตัวเลขกำไรของบริษัทเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างหรือใช้ในการประเมินการจ่ายโบนัสและยังสามารถใช้กำไรสำหรับการเจรจาต่อรองค่าแรงงานได้อีกด้วย งานวิจัยของ Dichev et al. (2013) ที่สำรวจความเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินเกี่ยวกับคุณภาพกำไรพบว่า 94.67% ของจำนวนประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดคิดว่ากำไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนในการประเมินมูลค่าของบริษัท
แต่กระนั้นก็ตาม แค่ ‘กำไร’ เพียงอย่างเดียวหาได้เพียงพอต่อการนำไปใช้งานไม่ แต่นักลงทุนหรือผู้ใช้งบการเงินควรประเมิน ‘คุณภาพ’ ของกำไรด้วย หากมิได้คำนึงถึงคุณภาพกำไรแล้ว STARK ลำดับที่สอง สาม และสี่ คงจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่นานนัก
ดังนั้นคุณภาพกำไรจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุน เนื่องจากคุณภาพกำไรที่สูงจะสะท้อนถึงผลการดำเนินงานในปัจจุบันหรือการกำหนดมูลค่าของบริษัทได้อย่างถูกต้องและเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีต่อผลการดำเนินงานในอนาคตได้อีกด้วย
นอกจากนี้งานวิจัยของ Dichev et al. (2013) ชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแล (Regulators) มักให้ความสนใจต่อคุณภาพกำไรที่สูงมากกว่าตัวเลขกำไรที่สูง เนื่องจากกำไรที่มีคุณภาพสูงจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานเชิงเศรษฐกิจที่แท้จริงของบริษัทมากกว่าบริษัทที่มีกำไรสูง และต้องตระหนักว่าผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบหลักเกี่ยวกับคุณภาพกำไรของบริษัท เพราะพวกเขาต้องใช้ดุลพินิจในการเลือกวิธีการประมาณการตัวเลขในรายงานทางการเงินภายใต้กฎเกณฑ์ที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด กำไรเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท การจัดทำสัญญาที่มีประสิทธิภาพ และการตัดสินใจเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าหรือการลงทุนของบริษัท ดังนั้นผู้บริหารอาจตัดสินใจที่จะตกแต่งกำไรเพื่อให้บรรลุหรือเกินข้อตกลงที่กำหนดไว้ หรือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงก็เป็นได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว นักลงทุน ผู้เล่นในตลาดทุน และหน่วยงานกำกับดูแลจะให้ความสำคัญกับคุณภาพกำไรเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการเงินก่อนที่พวกเขาจะประเมินหรือตัดสินใจลงทุน
แล้วผู้ใช้งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักวิเคราะห์ บริษัทจัดอันดับเครดิต หรือหน่วยงานกำกับดูแล จะประเมินคุณภาพกำไรอย่างไร ขอยกไปไว้ในตอนหน้าครับ
ท่านที่สนใจเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ของการตกแต่งกำไร ท่านสามารถหาอ่านเรื่องดังกล่าวได้จากหนังสือ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตกแต่งกำไร โดย รศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ