×

นักวิเคราะห์คาด ตลาด Wall Street คึกคักยาวส่งท้ายปี ผู้ลงทุนเมินความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดดเก็งกำไรเต็มที่

10.11.2021
  • LOADING...
Wall Street

สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานดัชนี CNN Business Fear & Greed Index ล่าสุด ที่พิจารณา 7 มาตรวัดความเชื่อมั่นของตลาดที่แสดงให้เห็นบรรยากาศของนักลงทุนโดยรวม ซึ่งปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ ‘โลภขั้นสุด’ หรือ Extreme Greed บ่งชี้ได้ว่า นักลงทุนต่างเร่งเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรในตลาดหุ้นกันอย่างคึกคัก

 

โดยมาตรวัด 4 ตัว จากทั้งหมด 7 ตัว รวมถึงความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและความต้องการ Junk Bond ในตลาด ขยับปรับขึ้นมาอยู่ในเขต Extreme Greed เรียบร้อยแล้ว

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ดัชนีหลักในตลาดหุ้น Wall Street จะพุ่งทะยานขึ้นมาทำ New High หลายระลอกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้บรรยากาศตลาดหุ้นยังเต็มไปด้วยความอึมครึมที่ดัชนี CNN Business Fear & Greed Index พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ค่อนข้างกลัวและวิตกกังวล ไม่กล้าลงทุนในตลาด

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของนักลงทุนทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะนักลงทุนอาจเพิกเฉยต่อความเสี่ยงและสัญญาณฟองสบู่ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม โดยมองว่า นักลงทุนเพียงแค่ลงทุนไปตามปัจจัยบวกของตลาดที่เกิดจากการรายงานผลประกอบการที่เกินคาดหมายในไตรมาสของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาด และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เดินหน้าลดวงเงินซื้อคืนพันธบัตรภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งช่วยให้แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อคลี่คลาย รวมถึงเป็นการยืนยันว่า Fed จะดำเนินการผ่อนคันเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์

 

นอกจากนี้นักลงทุนยังเข้าลงทุนในตลาด โดยได้แรงหนุนจากระดับความผันผวนที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 เนื่องจากนโยบายการเงินที่ชัดเจนมากขึ้นของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน

 

วันเดียวกัน หุ้นของ Tesla, Inc. ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง (9 พฤศจิกายน) จากแรงเทขายของเหล่านักลงทุนส่วนหนึ่งที่ชิงตัดหน้าก่อนหน้าที่ อีลอน มัสก์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท จะขายหุ้น 10% ของตนเองตามที่ลั่นวาจาไว้

 

รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้หุ้น Tesla ปรับตัวลดลงแล้ว 11.6% มาอยู่ที่ 1,026 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ Tesla สูญมูลค่าตลาดไปแล้ว 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่ามูลค่าตลาดทั้งหมดของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ส โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 พฤศจิกายน) แรงเทขายทำให้มูลค่าบริษัทหายไปเกือบ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เดนนิส ดิก เทรดเดอร์จากไบร์ท เทรดดิ้ง กล่าวว่า แรงเทขายเกิดจากความคาดหวังที่มัสก์จะเริ่มขายหุ้นของตนตามผลโพลใน Twitter ที่สนับสนุนให้ขายเพื่อนำเงินมาจ่ายภาษี

 

ทั้งนี้ มัสก์สามารถกำหนดเวลาการขายหุ้นให้ตรงกับกำหนดระยะเวลาการชำระภาษีของรัฐบาลส่วนกลางซึ่งมีมูลค่าเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า มัสก์จะเลือกชำระภาษีโดยแลกเปลี่ยนจากหุ้นของ Tesla ที่ตนเองถือครองอยู่ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 26,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่า มัสก์จงใจใช้ Twitter ส่วนตัว โหนกระแสทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของบริษัท โดย ไมเคิล โอ’รูร์ก นักวิเคราะห์ของโจนส์ เทรดดิง ระบุ มัสก์ฉวยโอกาสที่สภาคองเกรสและกระแสสังคมกำลังพูดถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีคนรวยมาใช้เพื่อขายหุ้นของตน โดยไม่ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทหรือราคาของหุ้น เพราะมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะไม่มีผู้ซื้อหุ้น Tesla จากฝั่งสถาบัน หากหุ้น Tesla ยังมีมูลค่าเทียบเท่าสัปดาห์ที่แล้ว

 

ขณะนี้บรรดานักลงทุนต่างจับตามองการยื่นเอกสารของ Tesla ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการขายหุ้นของมัสก์ ซึ่งตามกฎระเบียบของ SEC จะให้เวลาบริษัท 4 วันทำการ ในการรายงานก่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดอีเวนต์สำคัญของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด

 

ข้ามฟากมาที่สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในสหรัฐฯ ที่แม้จะกลับมาเปิดพรมแดนให้พลเรือนจาก 33 ประเทศ เดินทางเข้ามายังสหรัฐอเมริกาได้อีกครั้ง นับเป็นสัญญาณบวกของการเริ่มต้นการฟื้นคืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางในสหรัฐฯ กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในความเป็นจริงก็ยังเป็นเรื่องยากที่ชาวต่างชาติทั่วโลกจะเดินทางมายังสหรัฐฯ ได้อย่างสะดวกราบรื่น และอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาได้อย่างสมบูรณ์

 

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้น ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาได้เพราะตรงตามเงื่อนไขการฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ ก็คือชาวยุโรป แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนที่วัคซีนยังเป็นของหายาก สหรัฐอเมริกาอาจเป็นจุดหมายปลายทางที่เกินเอื้อมถึง

 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจจุดชนวนให้เกิดประเด็นถกเถียงด้านจริยธรรม ความชอบธรรม และความเท่าเทียม เพราะวัคซีนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยได้หยิบยกถึงเงื่อนไขของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้อพยพต้องได้รับวัคซีนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) หรือได้รับวัคซีนที่อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เท่านั้น มิฉะนั้นจะถูกห้ามมิให้เข้าสู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเท่ากับว่าใครก็ตามที่ได้รับ Sputnik V ของรัสเซีย หรือ CanSino ที่ผลิตในจีน จะไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้

 

สมาคมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ (US Travel Association) เสริมว่า นอกจากปัญหาวัคซีนแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องของเงื่อนไขการยื่นขอวีซ่าของแต่ละประเทศที่มีความยากง่ายและใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน

 

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติหลักๆ ที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้แล้ว ส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบลาตินอเมริกาคือ เม็กซิโก และเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาเป็นหลัก และคาดว่าจะมีมาจาก 28 ชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นนับจากนี้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่ถึง 80 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับกับปี 2019 จนกว่าจะถึงปี 2024

 

สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่พยายามจะเปิดพรมแดนหลังมีจำนวนผู้คนทั่วโลกได้รับวัคซีนมากขึ้น โดยบางประเทศอย่างออสเตรเลีย อินเดีย และไทย ได้เริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้างแล้วเช่นกัน ขณะที่บางประเทศอย่างจีนและญี่ปุ่นยังคงปิดพรมแดนและมีคำสั่งกักตัวอย่างเข้มงวดอยู่

  

อ้างอิง:

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X