ผู้จัดการกองทุนคาดว่า ตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market (EM) เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากตลาด EM ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ด้วยอานิสงส์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ความแตกต่างของตลาดหุ้นจีนกับตลาดเกิดใหม่ที่เหลือเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวจากโรคระบาดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวที่แยกออกจากกันจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เท่านั้น
โดยตลาดหุ้นจีนถูกมองว่า ในแง่ร้ายอย่างสุดโต่ง เนื่องจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งกำลังทำให้การเติบโตในอนาคตเป็นไปอย่างติดขัด ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นๆ ถูกมองในเชิงบวกมากกว่า อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ตลาดเกิดใหม่อาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดเกิดใหม่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันอีกครั้ง
จื่อไคเฉิน (Zhikai Chen) หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและระดับโลกที่ BNP Paribas Asset Management ซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์มูลค่าเทียบเท่า 5.04 แสนล้านดอลลาร์ (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน) กล่าวว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เคยเห็นความพยายามในการแยกตัวออกจากกันระหว่างหุ้นจีนและตลาดเกิดใหม่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง และเมื่อมองจากกระแสการค้าระหว่างประเทศและขนาดเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่มากนั้น ก็ต้องยอมรับว่าการแยกตัวกันของ 2 ตลาดนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI China ลดลงประมาณ 6% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ (ไม่รวมจีน) เพิ่มขึ้น 7% ในช่วงเวลาเดียวกัน ความแตกต่างเช่นนี้เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน โดยตลาดตราสารหนี้จีนที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% เมื่อเทียบตลาดตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ที่เหลือที่ให้ผลตอบแทน 4%
อย่างไรก็ตาม มูลค่าหุ้นจีนปรับตัวลดลงอย่างมากจนถึงจุดที่มีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างมากหากความเชื่อมั่นมีเสถียรภาพ ซึ่งล่าสุด ทางการจีนได้ส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลัก นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงมากที่รัฐบาลจะใช้มาตรการสนับสนุนการเติบโตก่อนการประชุมพรรคแห่งชาติที่น่าจะเกิดขึ้นในปลายปี เนื่องจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต้องการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศเป็นวาระที่ 3
ในขณะเดียวกัน ตลาดเกิดใหม่ที่เหลือกลับเกิดปัจจัยความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มแข็งค่าอีกครั้งจากระดับต่ำสุดเมื่อต้นเดือนนี้ ได้ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาในอัตราที่ช้าลง นอกจากนี้ สภาวะทางการเงินทั่วโลกก็กำลังตึงเครียดเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก็อาจจะกระทบต่อการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ด้าน เดวิด เชา (David Chao) นักยุทธศาสตร์การตลาดระดับโลกในฮ่องกงที่ Invesco ซึ่งดูแล 1.45 ล้านล้านดอลลาร์ (ณ เดือนกรกฎาคม) กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่ไม่รวมจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการมองโลกในแง่ดีเกินไปว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ชะลอตัวมากเท่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ และ Fed จะไม่ต้องกระชับนโยบายการเงินมากนัก จึงยังไม่มีความมั่นใจนักในการเข้าลงทุนในตลาดนี้
สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย ประเมินว่าเกาหลีใต้และไต้หวันยังค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากความต้องการชิปที่ชะลอตัวลง ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นๆ ที่ไม่รวมจีน น่าจะทำได้ดีกว่า โดยอินโดนีเซียและบราซิลได้รับการสนับสนุนจากหุ้นพลังงาน ขณะที่อินเดียได้รับปัจจัยบวกจากหุ้นการเงินซึ่งกำลังเฟื่องฟูท่ามกลางการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ
ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างจีนและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ น่าจะเริ่มลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้ส่งผลกระทบไปสู่คู่ค้า เช่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย
เอียน แซมสัน (Ian Samson) ผู้จัดการกองทุนกล่าว ที่ Fidelity International ในฮ่องกง กล่าวว่า ในระยะยาว ตลาดเกิดใหม่จะสามารถแยกตัวออกจากการชะลอตัวของจีน และจะมีประกอบการที่ดีได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ว่าตลาดเกิดใหม่จะมีแรงขับเคลื่อนการเติบโตอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐาน ไปยังจีนหรือไม่
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP