อาการ ‘หวั่นไหว’ ในตลาดหุ้น บททดสอบอารมณ์นักลงทุน! เจาะลึกผลวิจัยจากวิกฤตการเงินโลก พร้อมบทเรียนสำคัญจากผู้เกษียณที่มีความสุขที่สุด
ความกลัวและความหวาดระแวงในการลงทุนเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุดของนักลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดผันผวน ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการตอบสนองต่อความเครียดที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังที่ Harvard Medical School ระบุว่า “กลไกการต่อสู้หรือหนีพัฒนามาเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์คับขันได้อย่างรวดเร็ว” แต่กลไกนี้กลับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนในปัจจุบัน
Benjamin Graham ผู้เขียนหนังสือ The Intelligent Investor และบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า กล่าวว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดของนักลงทุน และอาจเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด คือตัวของเขาเอง” จากการศึกษาผู้เกษียณชาวอเมริกันเกือบ 2,000 คน พบว่าผู้เกษียณที่มีความสุขที่สุดมักไม่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ แต่ใช้ข้อมูลและมุมมองระยะยาวในการพิจารณา
Daniel Kahneman และ Amos Tversky นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ได้ศึกษาพบว่า การขาดทุนสร้างผลกระทบทางจิตวิทยามากกว่าการได้กำไรถึงสองเท่า ตามทฤษฎี Prospect Theory
ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตการลงทุนที่เติบโตจาก 1 ล้านดอลลาร์เป็น 1.5 ล้านดอลลาร์ แล้วปรับตัวลงมาที่ 1.3 ล้านดอลลาร์ นักลงทุนมักจะรู้สึกเสียใจกับการขาดทุน 2 แสนดอลลาร์ มากกว่าความยินดีที่ได้กำไร 3 แสนดอลลาร์
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วงวิกฤตต่างๆ อย่างฟองสบู่ดอทคอมปี 2000-2002 ที่ดัชนี S&P 500 ร่วงถึง 49% หากลงทุน 10,000 ดอลลาร์ในจังหวะแย่ที่สุด เงินจะเติบโตเป็น 61,000 ดอลลาร์
หรือแม้แต่ในวิกฤต The Great Recession ปี 2007-2009 ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression ดัชนีร่วงถึง 57% แต่การลงทุนในจังหวะแย่ที่สุดยังให้ผลตอบแทนดีกว่าการถือเงินสด
จากการศึกษาพบว่า การลงทุนในหุ้นปันผลระยะยาวมีศักยภาพในการเอาชนะเงินเฟ้อ โดยข้อมูลระหว่างปี 1980-2024 แสดงให้เห็นว่า การลงทุน 10,000 ดอลลาร์ในดัชนี S&P 500 จะได้เงินปันผลรายปีเพิ่มขึ้นจาก 529 ดอลลาร์เป็น 6,837 ดอลลาร์ และมูลค่าการลงทุนมีโอกาสเติบโตเป็น 544,898 ดอลลาร์ ในขณะที่การลงทุนในดัชนีพันธบัตร Lehman/Barclays Aggregate Bond Index จะเติบโตเป็น 13,902 ดอลลาร์
ผู้เกษียณที่มีความสุขมักเข้าใจว่าความผันผวนเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน พวกเขามองการลงทุนเหมือนต้นแอปเปิ้ล ที่เมื่อดูแลอย่างเหมาะสมจะออกผลให้เก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องโค่นต้นทิ้ง ‘ความอดทน’ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการลงทุนระยะยาว
นอกจากนี้ผู้เกษียณที่มีความสุขยังมองว่าการลงทุนไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าเงินออม แต่เป็นการรักษา ‘อำนาจซื้อ’ ให้คงอยู่ หากในช่วงทำงานใช้ชีวิตด้วยเงิน 75,000 ดอลลาร์ต่อปี พวกเขาต้องการรักษาระดับการใช้ชีวิตนี้ไว้ได้อีก 20-30 ปีหลังเกษียณ โดยคำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อที่จะทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อรักษามาตรฐานการครองชีพเดิม
อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน พิจารณาเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะแม้ประวัติศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในหุ้นเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีศักยภาพในการรักษาอำนาจซื้อระยะยาว แต่ผลการดำเนินงานในอดีตก็ไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันผลตอบแทนในอนาคต
อ้างอิง: