×

การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกครึ่งปี 2024 สะท้อนปัจจัยบวกไปหมดแล้วหรือยัง และจะปรับตัวขึ้นต่อหรือไม่?

18.07.2024
  • LOADING...

นับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4/23 ต่อเนื่องมาจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2024 ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2024 (ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2024) ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น +11.81%YTD, S&P 500 +15.29%YTD, EURO STOXX 600 +9.52%YTD, MSCI EM +7.6%YTD และ MSCI AC ASIA PACIFIC +7.98%YTD ตามลำดับ 

 

ปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมา ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว นำโดยสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ที่ฟื้นตัวดีกว่าที่ตลาดคาด แนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทเทคโนโลยี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Semiconductor และความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก 

 

ในมุมมองของเราประเมินว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกยังสะท้อนปัจจัยบวกต่างๆ ไม่หมด และตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี 2024 มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ เรายังคงเห็นการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในบทวิเคราะห์ World Economic Outlook: Steady but Slow: Resilience amid Divergence ประจำเดือนเมษายน 2024 ในขณะที่ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และอินเดีย ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศหรือภูมิภาคในการประชุมช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การรายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียนนำโดยกลุ่มเทคโนโลยี บริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทชั้นนำของโลกโดยส่วนใหญ่มีกำไรดีกว่าที่ตลาดคาด 

 

ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในภูมิภาคต่างๆ มีแนวโน้มเข้าสู่ขาลง โดยปัจจุบันเริ่มทยอยปรับลงตามทิศทางของอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง เริ่มจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนมิถุนายน 2024 และธนาคารกลางแคนาดาที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนกันยายน 2024 ที่ระดับความน่าจะเป็น 86.4% อ้างอิงข้อมูลจาก CME FedWatch ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2024 ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะถัดมา 

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อ้างอิงดัชนี S&P 500 ในเดือนกรกฎาคม 2024 ปรับตัวเพิ่มขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 5,600 จุด ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2024 หนุนโดยความคาดหวังของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ในเดือนมิถุนายน 2024 ขยายตัวที่ระดับ 3.0%YoY ลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ 3.3%YoY และเดือนเมษายนที่ 3.4%YoY ตามลำดับ 

 

ทิศทางของนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย เศรษฐกิจโลกโดยรวมที่มีเสถียรภาพ และแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่สูง อ้างอิงการคาดการณ์ของ Goldman Sachs Securities ในบทวิเคราะห์ ‘Global Weekly Kickstart’ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2024 ประเมินการเติบโตของกำไร (EPS Growth) ปี 2024-2025 ของดัชนี MSCI All Country World Index (MSCI ACWI) ที่ 10.5%YoY และ 13.1%YoY ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังคงเติบโตทั้งในปีนี้และปีหน้า และเป็นการเติบโตแบบเร่งตัวขึ้น ซึ่งช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อในครึ่งหลังของปี 2024 

 

ทั้งนี้ เรามีมุมมองว่าความผันผวนจะเพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนในหลายประเด็น นำโดยความไม่แน่นอนด้านการเมือง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น สำหรับความผันผวนด้านราคา (Volatility) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในดัชนี S&P 500 และดัชนี NASDAQ Composite, ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในดัชนี NIKKEI 225 และตลาดหุ้นจีนในดัชนี CSI 300 และดัชนี HSI เร่งตัวขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2024 ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2

 

 

 

ความผันผวนต่อปี (Annualize) ของดัชนีตลาดหุ้นในแต่ละช่วงเวลา (10 วัน, 30 วัน, 60 วัน, 90 วัน, 180 วัน และ 360 วันย้อนหลัง)

 

 

ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 มีการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ สำหรับเดือนกรกฎาคม 2024 มีการเลือกตั้งฝรั่งเศส ซึ่งผลการเลือกตั้งต่างจากผลโพลที่สื่อหลายๆ สำนักเคยสำรวจ และไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากหรือเกินกึ่งหนึ่งในสภา (ที่นั่งในสภาทั้งหมดอยู่ที่ 577 ที่นั่ง) โดยพรรคฝ่ายซ้าย New Popular Front (NFP) ได้ที่นั่งในสภา 188 ที่นั่ง, พรรค Ensemble ของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้ที่นั่งในสภา 161 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายขวา National Rally (RN) ได้ที่นั่งในสภาไป 142 ที่นั่ง ตามลำดับ 

 

ถัดมาคือการเลือกตั้งอังกฤษ ซึ่งพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งด้วยที่นั่งในสภากว่า 412 ที่นั่ง จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง (ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง) ส่วนการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในปี 2024 คือการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2024 มีการโต้วาทีครั้งแรกระหว่าง 2 ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ผลโพลหลังการโต้วาทีจากสื่อชั้นนำของโลก เช่น The New York Times, Wall Street Journal, CBS News, Yahoo News, CNN, Harvard-Harris และ Morning Consult ต่างประเมินว่า คะแนนนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นนำโจ ไบเดน ยกเว้นผลโพลของสื่ออย่าง Reuters ที่ประเมินคะแนนนิยมของทั้งคู่หลังการโต้วาทีเสมอกัน จากความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง นโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายด้านการต่างประเทศที่อาจเปลี่ยนไปตามผู้นำหรือผู้บริหารประเทศกลุ่มใหม่ที่กำลังจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง เราคาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี 2024 จะเผชิญกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้น

 

การลงทุนที่กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์จึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ นักลงทุนอาจใช้การลงทุนในตราสารหนี้ที่ปัจจุบันยังคงมีความน่าสนใจจากอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Bond Yield) ที่อยู่ในระดับสูง โดยเรามองว่าควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น (Short-Term Duration) ซึ่งจะได้ผลตอบแทนจาก Bond Yield ที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งเกิดจาก Inverted Yield Curve ที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุสั้นสูงกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุยาว โดยอ้างอิงจาก Bloomberg ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2024 ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.512% สูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีที่ 4.215% นอกจากนี้เรามองว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อย่างจำกัด จากการจ้างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อ ส่งผลให้ Bond Yield ยังคงมีแนวโน้มผันผวนและอาจปรับตัวลงได้อย่างจำกัด การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นจึงได้ประโยชน์ทั้งด้านผลตอบแทน และความผันผวนที่น้อยกว่า โดยเรามองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งมีอายุตราสารหนี้เฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนในครึ่งปีหลัง

 

นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่มีการเคลื่อนไหว หรือสหสัมพันธ์ (Correlation) กับหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ที่ต่ำ เป็นอีกสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยสินทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่มีสภาพคล่องต่ำกว่าสินทรัพย์อื่นๆ แต่การเลือกลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้จำเป็นต้องเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ และมีผลงานที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในกองทุนของสินทรัพย์ทางเลือกที่ตรงคุณสมบัติดังกล่าวในประเทศไทยคือ การลงทุนกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือ Life Settlement ที่มีผลงานพิสูจน์มาแล้วในรูปแบบของกองทุนรวมในไทยตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน 

 

โดยเรามองว่า สินทรัพย์กลุ่มนี้มี Correlation กับสินทรัพย์อื่นๆ อยู่ในระดับต่ำ โดยมี Correlation กับหุ้นโลกโดยอ้างอิงกับ MSCI ACWI อยู่ที่ -0.04 โดยอ้างอิงข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2014 – มิถุนายน 2024 และมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดี จะเป็นกองทุนที่ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง และเป็นหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมในภาวะตลาดการเงินทั่วโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising