ตลาดหลักทรัพย์ เปิดเฮียริ่ง ‘การปรับปรุงเกณฑ์ดัชนี’ ถึงวันที่ 1 ตุลาคม เตรียมประกาศใช้เกณฑ์ใหม่รอบเดือนธันวาคมปีนี้ เตรียมถอดหุ้นที่ฟรีโฟลทต่ำ-มูลค่าซื้อขายต่ำ และหุ้นที่ติดมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance) ทุกระดับออกจากการคำนวณดัชนี เพื่อลดความผันผวนของตลาด รวมทั้งนำเกณฑ์ Free Float Adjusted มาใช้
ด้านนักวิเคราะห์มอง SET Index ปรับลดลงหนักระยะสั้นเพื่อตอบรับเกณฑ์ใหม่ ส่วนหุ้น DELTA เสี่ยงหลุด SET50 สูง เหตุติด Cash Balance ยาวนาน เชื่อท้ายที่สุดแล้วเกณฑ์ Free Float Adjusted จะทำให้ดัชนีมีคุณภาพ
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางที่ผันผวนโดยรับอิทธิพลจากหุ้นไม่กี่ตัวเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือหุ้น DELTA ที่มักจะมีผลต่อ SET Index ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นและการปรับลดลง จนวงการตลาดทุนไทยเริ่มคิดเห็นในทางเดียวกันว่า SET Index นั้นค่อนข้างบิดเบี้ยว
ทั้งนี้ เพื่อให้ SET Index สะท้อนความจริงมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์จึงเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Hearing เรื่องการปรับปรุงดัชนีของตลาดหุ้น ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 1 ตุลาคม 2564 เรื่องการปรับปรุงการคำนวณดัชนีหุ้นไทย โดยมีแนวทางจะถอดหุ้นที่ฟรีโฟลทต่ำ-มูลค่าซื้อขายต่ำ และหุ้นที่ติดมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance) ทุกระดับออกจากการคำนวณดัชนี เพื่อลดความผันผวนของตลาดและสะท้อนภาพที่แท้จริง และนำเกณฑ์ Free Float Adjusted มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เพื่อใช้ในรอบคัดเลือกรอบถัดไปในช่วงเดือนธันวาคม 2564
ปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีของ SET Index Series ที่เป็น Tradable & Thematic Index ทั้งหมดจะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วย
1. เกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, Value Trade, Turnover Ratio, Free Float เป็นต้น
2. เกณฑ์เชิงคุณภาพ (Qualitative) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือมีปัญหาด้านงบการเงิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีเหล่านี้อาจมีความผันผวนค่อนข้างสูง และอาจไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ได้ดี ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก เพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ต่ำ
โดยตลาดหลักทรัพย์ได้มีการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งที่เป็นเกณฑ์เชิงปริมาณ (Quantitative) และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Qualitative) และเห็นควรเสนอแนวทางปรับปรุงโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index
การคัดเลือกหุ้นเพื่อให้เป็นองค์ประกอบของดัชนี Tradable Index เกณฑ์ด้านสภาพคล่องควรสะท้อนมูลค่าการซื้อขายที่สม่ำเสมอและเป็นไปตามสภาพปกติเท่านั้น เพื่อให้เป็น Investable Universe ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้จริง ตลาดหลักทรัพย์จึงมีแนวทางเพิ่มเกณฑ์คุณภาพในการพิจารณาสภาพคล่องที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้น ตามหลักการ ดังนี้
1.1 นำข้อมูลหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Surveillance Measure List) มาประกอบการพิจารณา
1.2 การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี Tradable Index ตามรอบการคัดเลือก จะไม่พิจารณาปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ช่วงเดือนที่เข้ามาตรการดังกล่าวตั้งแต่ Level 1 ขึ้นไป
- ปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted
การให้น้ำหนักของหุ้นในดัชนีควรสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์จึงมีแนวทางดำเนินการ ปรับวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization) สำหรับทุกดัชนี
และในการดำเนินการปรับปรุงด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Capitalization นี้ อาจต้องมีกระบวนการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
2.1 ศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic Partner เพื่อให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) สามารถนำมาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น
2.2 ศึกษาแนวทางการนำสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในดัชนี
2.3 กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีเพื่อ Rebalance หรือปรับสถานะจำนวนมาก (Index Turnover สูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปรับวิธีการคำนวณด้วย Free Float Adjusted นั้น ยังมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ และรายละเอียดที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่นำมาใช้มีความเหมาะสมกับลักษณะของตลาดทุนไทย และเทียบเคียงกับแนวทางสากล และใช้ในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ดี ในส่วนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะศึกษาและกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการและจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดต่อไป
ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกคำนวณดัชนีของตลาดซึ่งขณะนี้อยู่ช่วง Public Hearing นั้น สะท้อนว่า
- ตลาดฯ ตั้งใจปรับปรุงดัชนีสำหรับ Index Fund ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- จะมีการนำเกณฑ์หุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติมาร่วมการคัดเลือก กล่าวคือกรณีติด T1-3 ในเดือนใดๆ จะไม่นำเดือนนั้นมาพิจารณาเกณฑ์สภาพคล่อง ทำให้หุ้นที่ติด T1-3 เสี่ยงที่จะไม่ผ่านเกณฑ์สภาพคล่อง
- คาดว่าจะนำ Free Float Adjusted มาคิดในส่วนน้ำหนักในดัชนี และเตรียมนิยามของคำว่า Free Float ใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น
- น่าจะประกาศใช้รอบการคำนวณครึ่งปีแรก 2565 คือประกาศรายชื่อกลางธันวาคม 2564 นี้
การปรับเกณฑ์ดัชนีครั้งนี้น่าจะกระทบต่อหุ้นที่ติด Trading Alerts หรือ Cash Balance โดยทำให้เข้าคำนวณในดัชนี SET50/100 ได้ยากขึ้น ประกอบด้วย
- DELTA ซึ่งที่ผ่านมา DELTA ติด Cash Balance 5 ครั้ง เสี่ยงถูกถอดออกจาก SET50 รอบถัดไป กรณีใช้เกณฑ์ใหม่ คาดเงินออก 2.9 พันล้านบาท และ NRF ติด Cash Balance 6 ครั้ง เสี่ยงหลุด SET100 ส่วน PSL ติด Cash Balance 3 ครั้ง มีโอกาสหลุด SET100
หุ้นที่เสี่ยงถูกลดน้ำหนักการลงทุน มีดังนี้ AOT, GULF, OR, SCGP, ADVANC, INTUCH, SCGP, PTTEP, BJC และหุ้นที่น่าจะได้รับน้ำหนักลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนี้ BBL, SCB, SCC, KBANK, BDMS, CPALL, PTT, CPN, MINT, PTTGC, LH, TISCO, BTS, TU, KCE
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หากนำเกณฑ์ Free Float Adjusted มาใช้จริง การตอบรับของ SET จะผันผวนลดลงก่อนในช่วงแรก เพราะหุ้นใหญ่ถูกเทขาย โดยเฉพาะ DELTA โดยหาก DELTA ถูกถอดออกจาก SET50/100 จริง เงินลงทุนของกองทุนดัชนี (Index Fund) จะขายออกราว 4 พันล้านบาท แต่ถ้า DELTA ยังอยู่ และมีการประกาศใช้เกณฑ์ Free Float Adjusted เงินลงทุนของ Index Fund จะขายออกราว 1.5 พันล้านบาท
ทางด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หากนำเกณฑ์สภาพคล่องและการติด Cash Balance มาใช้ หุ้นที่กระทบมากสุดก็คือ DELTA โดยอาจจะทำให้หลุดจากดัชนี SET 50/100 ได้ เพราะ DELTA ติด Cash Balance หลายครั้ง
“เกณฑ์สภาพคล่องและการติด Cash Balance นั้น จะมีกับ DELTA มาก และจะทำให้ SET โดยรวมปรับลดลงหนักในช่วงแรกที่ประกาศใช้ เนื่องจากกองทุนดัชนีจะปรับพอร์ตเพื่อเคลียร์พอร์ตตัวเองให้เป็นไปตาม Benchmark ดังนั้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปี นักลงทุนอาจต้องมองข้ามความผันผวนของดัชนีไปก่อนและเน้นพิจารณาการลงทุนรายตัวดีกว่า”
การเปิดเฮียริ่งการปรับปรุงเกณฑ์ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้น DELTA ในวันนี้ (21 กันยายน) ล่าสุด เวลา 15.20 น. ราคาหุ้น DELTA ลดลงไปราว 9.71% มาอยู่ที่ 502 บาท
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถรวมแสดงความคิดเห็น (Public Hearing) เรื่องแนวทางการปรับปรุงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จากลิงก์นี้ forms.office.com/pages/responsepage.aspx