×

กลุ่มพัฒนาอสังหาอาจไม่กระเทือน แม้ผู้ค้าเหล็กหวังปรับขึ้นราคาสินค้าหลังต้นทุนวัตถุดิบและค่าไฟฟ้าพุ่ง

19.09.2022
  • LOADING...
อสังหาริมทรัพย์

จากต้นทุนพลังงานพุ่งสูง ทำให้ราคาวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

 

ประวิทย์ หอรุ่งเรือง ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยว่า จากต้นทุนการผลิตเหล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าแรง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้านำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียง 30% ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล็กในการก่อสร้าง ได้แก่ สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กรูปพรรณ เป็นสินค้าภายใต้การกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นผู้บริโภคสามารถมั่นใจในระดับหนึ่งว่าการปรับราคานั้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ลดลง ทำให้ราคาขายปลีกข้าวของอินเดียในปีนี้ปรับสูงขึ้

ทั้งนี้ ราคาเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 658 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2564 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 464 ดอลลาร์ต่อตัน ประกอบกับค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานหลักในการหลอมเศษเหล็กได้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 700-800 บาทต่อตัน รวมทั้งการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

 

“ที่ผ่านมาผู้ผลิตสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้รับเหมา จากการปรับราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2564 แต่หากพิจารณาระดับราคาของสินค้าเหล็กเส้นในประเทศเทียบกับประเทศต่างๆ จะพบว่าสินค้าเหล็กเส้นของไทยมีราคาต่ำกว่าสินค้าของประเทศอื่นมาก”

 

ตัวอย่างในช่วงกลางปี 2564 ราคาเหล็กเส้นสิงคโปร์อยู่ที่ 738 ดอลลาร์ต่อตัน ตุรกี 740 ดอลลาร์ต่อตัน และจีน 852 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ไทยมีราคาอยู่ที่ 699 ดอลลาร์ต่อตัน

 

ประวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับราคาเพิ่มขึ้นอาจมีผลกระทบไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างได้ ซึ่งผู้รับเหมาสามารถทำสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตหรือยี่ปั๊ว เพื่อซื้อสินค้าสำหรับโครงการต่างๆ รวมถึงพิจารณาถึงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้เหล็กเป็นหนึ่งในวัสดุหลักสำหรับการก่อสร้าง มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่าในปีนี้ราคาเหล็กโลกน่าจะผ่านจุดพีคไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากที่มีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

“ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ราคาเหล็กลดลงไปประมาณ 20% และยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามา จนกว่าที่ความกังวลในเรื่องของ Recession จะจบลง หรือราคาเหล็กจะกลับมาปรับขึ้นแรงอีกรอบเมื่อสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจบลง ซึ่งอาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นจะมีความต้องการเพิ่มเข้ามาสูงมากเพื่อฟื้นฟูที่อยู่อาศัยในยูเครน” สรพงษ์กล่าว

 

แม้ว่าราคาเหล็กจะกลับเป็นขาลง แต่โดยภาพรวมแล้วต้นทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้นราว 5% ทำให้บริษัทต่างๆ พยายามบริหารจัดการต้นทุนในส่วนต่างๆ เพื่อให้ยังสามารถคงราคาขายไว้ได้ใกล้เคียงเดิม “ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยดูดีขึ้นหลังจากเริ่มเปิดประเทศ ทำให้บริษัทต่างๆ ยังบริหารจัดการได้อยู่ บริษัทจะเริ่มได้รับผลกระทบต่อเมื่อผู้บริโภคไม่รับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกแล้ว แม้ว่าราคาบ้านอาจจะเท่าเดิม แต่การลดต้นทุนบางส่วนก็เป็นการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค”

 

โดยภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์น่าจะดีขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะบ้านหรือคอนโดมิเนียมในกลุ่มกลางถึงบนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงได้เปรียบรายเล็ก และมีแนวโน้มจะกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เพราะได้เปรียบในหลายมิติ เช่น ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า และการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีกว่า “ช่วงนี้เราเริ่มเห็นราคาหุ้นของกลุ่มอสังหาขยับขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยัง Laggard อย่าง SIRI และ SC ซึ่งกำไรมีแนวโน้มจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ขณะที่ราคายังต่ำกว่ามูลค่า”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X