×

กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ ขีดเส้นใต้ 7 วัน แจงรายละเอียดขายเหล็กตึก สตง. พบมีตัวแทนบริษัทรับหน้า มีจังหวะโต้เดือด

โดย THE STANDARD TEAM
02.04.2025
  • LOADING...
steel-inspection-deadline

วันนี้ (2 เมษายน) ที่จังหวัดระยอง ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าทีมตรวจสุดซอย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมสังเกตการณ์ในการเข้าตรวจสอบ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กไม่ผ่านมาตรฐาน แล้วนำไปก่อสร้างอาคาร สตง.

 

ก่อนที่จะเข้าไปตรวจสอบภายในนั้น ทางทีมงานได้มีการนำบิลค่าไฟมาตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบในช่วงที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่ และช่วงที่บริษัทถูกให้ระงับการดำเนินกิจการ มีจำนวนค่าไฟที่แตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนตอนที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่นั้น มีค่าไฟอยู่ที่ 134 ล้านบาท ส่วนช่วงเดือนธันวาคมหลังบริษัทได้มีการสั่งระงับกิจการในวันที่ 19 ธันวาคม ค่าไฟจะลดลงเหลืออยู่ที่ 73 ล้านบาท 

 

ในส่วนปี 2568 เดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนที่มีการระงับการผลิตตลอดทั้งเดือนจำนวนค่าไฟได้ลดลงเหลืออยู่จำนวน 1.2 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนที่ได้มีการระงับการผลิตเช่นเดียวกัน ค่าไฟได้ลดลงมาเหลือที่ 6.4 แสนบาท โดยบิลค่าไฟดังกล่าวนี้จะสามารถบ่งชี้ได้ว่า หลังจากมีคำสั่งให้มีการระงับการผลิตเหล็ก ทางบริษัทมีจำนวนตัวเลขในการจ่ายค่าไฟเหลือเดือนละเท่าไร 

 

จากนั้นทีมงานชุดตรวจสอบได้เดินทางไปยัง บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งอยู่บริเวณด้านในสุดของเขตประกอบอุตสาหกรรม โดยก่อนที่จะเดินทางเข้าไปตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับทางตัวแทนบริษัท เพื่อขอใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ว่าได้มีการแกะหรือลักลอบนำไปจำหน่ายหรือไม่ และจะขอตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็กว่าได้มีการเปิดใช้งานหลังมีคำสั่งให้หยุดผลิตหรือไม่

 

นอกจากนี้ทางคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังขอเอกสารบิลค่าไฟในเดือนมีนาคมกับทางบริษัท เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนค่าไฟที่ได้มาก่อนหน้านี้ว่ามีตัวเลขใกล้เคียงกันกับช่วงที่บริษัทได้มีการระงับการผลิตหรือไม่ และขอเอกสารจัดซื้อจัดจ้างว่าที่ได้มีการส่งไปขาย สตง. เป็นเหล็กล็อตไหน และมีจำนวนเท่าไร 

 

ทางตัวแทนบริษัทยินดีที่จะให้ความร่วมมือ และให้สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบในโรงงานด้วย ส่วนเรื่องเอกสารการซื้อขายเหล็กจะขอรวบรวมส่งภายใน 7 วัน เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้มีการขายตรงกับทาง สตง. แต่เป็นการขายผ่านเอเจนซี ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางอีกที

 

ต่อมาทางคณะชุดตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของบริษัท และสื่อมวลชน ได้เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ พร้อมยืนยันว่าตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสั่งอายัดไม่ให้นำเหล็กเหล่านี้ออกจำหน่าย ทางบริษัทก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งกับเหล็กจำนวนดังกล่าวเลย และขอยืนยันว่าเหล็กทั้งหมดที่ได้มีการอายัดเอาไว้นั้นยังอยู่ครบทุกเส้น 

 

จากนั้นทางคณะทำงานได้ขอตัดตัวอย่างเหล็กที่ได้มีการอายัดเอาไว้ โดยเฉพาะเหล็กที่มีขนาด 32 มิลลิเมตร ที่ตรงกับเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. ไปตรวจสอบอีกครั้งที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แม้ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเก็บตัวอย่างเหล็กชนิดดังกล่าวไปตรวจกับสถาบันเหล็กมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลก็ออกมาว่าไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง

 

ต่อมาระหว่างที่ทางคณะทำงานฯ ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของบริษัท ก็เกิดการโต้เถียงกันเล็กน้อย เนื่องจากทางตัวแทนบริษัทขอให้ทางคณะทำงานนำตัวอย่างเหล็กที่ถูกอายัดเอาไว้ไปส่งตรวจกับสถาบันยานยนต์ ควบคู่กับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ตรวจแค่สถาบันเหล็กฯ เพียงสถาบันเดียว พร้อมนำเอกสารมาโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนว่ามาตรฐานสารโบรอนของทั้ง 2 สถาบันมีความแตกต่างกัน โดยของสถาบันเหล็กกล้ามีมาตรฐานอยู่ที่ 0.0009-0.0025% ส่วนของสถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนอยู่ที่ 0.0004-0.0066% เพราะหากดูค่ามาตรฐานของทั้ง 2 สถาบันแล้ว สถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนที่ดูต่ำกว่า 

 

แม้ทางคณะทำงานจะได้มีการอธิบายต่อหน้าว่าตอนแรกที่บริษัทได้มีการไปขอมาตรฐาน มอก. ก็ได้นำเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แต่ทำไมถึงไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของสถาบันดังกล่าว แต่ถ้าหากทางบริษัทจะอยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้ง 2 สถาบัน ทางคณะทำงานก็ไม่ติดขัด เพราะจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทางบริษัทด้วย 

 

ทางคณะทำงานได้ชี้แจงด้วยว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการนำตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลก็ได้ต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ตัวแทนบริษัทตอบว่า ความจริงก็ยอมรับ ไม่ได้ไม่ยอมรับ แต่ครั้งต่อไปเพียงแค่อยากให้ตรวจคู่ขนานกัน นี่คือสิ่งที่อยากขอความเป็นธรรม เพราะทั้ง 2 สถาบันมีมาตรฐานค่าโบรอนที่ต่างกัน ซึ่งถ้าหากผลออกมาจากทั้ง 2 สถาบันจะต่ำกว่ามาตรฐานทั้งคู่

 

นอกจากนี้สื่อมวลชนก็ได้มีการสอบถามกับทางตัวแทนบริษัทในประเด็นอื่นๆ ต่อว่า ทางบริษัทมีความกังวลใจหรือไม่ หลังทางคณะทำงานได้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไรเลย เนื่องจากทางบริษัทได้แสดงความบริสุทธิ์ใจให้คณะทำงานและสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบ

 

พร้อมกับขอยืนยันว่าตั้งแต่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสั่งระงับการผลิต และอายัดเหล็กที่ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ทางบริษัทก็ได้มีการระงับการผลิตเหล็กตั้งแต่วันที่ได้มีการออกคำสั่ง ส่วนเหล็กที่ถูกอายัดไว้ในโกดัง ทางบริษัทไม่เคยเข้าไปยุ่งและไม่เคยเข้าไปแตะต้องอะไรเลย

 

ส่วนประเด็นที่มีคนเห็นรถบรรทุกฝุ่นแดงซึ่งเป็นส่วนผสมของการผลิตเหล็กเข้าออกที่โรงงาน ทางบริษัทขอชี้แจงเรื่องนี้ว่า ฝุ่นแดงที่มีการบรรทุกเข้าออกโรงงาน เป็นฝุ่นแดงที่เก็บไว้ตั้งแต่เปิดโรงงานในช่วงปี 2554 ซึ่งไม่ได้นำออกมาผลิตเหล็กแต่อย่างใด เพราะทางบริษัทเคารพกฎของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้มีการระงับการผลิต แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้มีการออกคำสั่งว่าห้ามให้มีการขนย้ายฝุ่นแดงเข้าออกโรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือว่าตัวของบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด

 

เมื่อถามถึงว่า บริษัททราบเรื่องนี้หรือยังว่าเหล็กที่ได้มีการจำหน่ายออกไปแล้วไปสร้างอาคาร สตง. ผลปรากฏว่าไม่ผ่านอยู่ 2 ไซส์ คือเหล็กข้ออ้อยไซส์ 20 มม. กับ 32 มม. ตัวแทนบริษัทตอบว่า เพิ่งทราบจากข่าวว่าเหล็กที่ได้นำไปสร้างอาคาร สตง. เป็นเหล็กของบริษัท ซิน เคอ หยวน เพราะก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่ทราบเลยว่าได้มีการจำหน่ายไปให้กับเอเจนซี ซึ่งถือว่าเป็นพ่อค้าคนกลาง จากนั้นทางพ่อค้าคนกลางได้ไปจัดจำหน่ายให้กับผู้รับเหมารายไหนต่ออีกทอด 

 

แต่ยืนยันว่าหลังจากที่ได้มีการผลิตเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางโรงงานก็ได้มีการตรวจคุณภาพตั้งแต่ต้น พอนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ฝั่งพ่อค้าคนกลางก็จะมีการตรวจค่ามาตรฐานซ้ำอีกรอบ ซึ่งถ้าหากผ่านมาตรฐานก็จะนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และก่อนที่จะนำเหล็กไปสร้างนั้น ทางผู้รับเหมาก็จะมีการตรวจสอบอีกขั้นก่อนจะนำเหล็กไปใช้ 

 

ด้านทนายความของบริษัท ซิน เคอ หยวน กล่าวเพิ่มเติมว่า เหล็กของอาคาร สตง. ที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการนำไปตรวจสอบ แล้วพบว่าเหล็กของบริษัท ซิน เคอ หยวน ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเหล็กของบริษัทที่ได้นำไปก่อสร้างอาคาร ระหว่างนั้นเหล็กอาจจะไปโดนความร้อน โดนปูน หรือส่วนผสมในการก่อสร้าง จนทำให้มีการส่งผลต่อคุณภาพของเหล็ก และก็ยังไม่รู้ว่าในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. มีการใช้เหล็กของบริษัทในอัตราสัดส่วนเท่าไร ทั้งนี้ ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

 

จากนั้นเวลา 15.50 น. คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้แถลงต่อสื่อมวลชน ภายหลังนำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด 

ฐิติภัสร์ระบุว่า ครั้งนี้เราเข้ามาตรวจ 2 เรื่อง ดังนี้

 

  1. เข้ามาตรวจสอบเหล็กที่ยึดอายัดของกลางไว้ยังอยู่หรือไม่ สรุปได้ว่าเหล็กยังอยู่ครบ 

 

  1. ตรวจสอบว่ามีการลักลอบหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้บิลค่าไฟที่เคลื่อนไหวแต่ละเดือนจะบอกได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งได้ตรวจสอบเดือนมีนาคมล่าสุดแล้วพบว่าค่าไฟอยู่ที่ 6.4 ล้านบาท มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ค่าไฟอยู่ที่ 6.4 แสนบาท 

 

นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบรอบๆ โรงงาน เราพบความผิดปกติเรื่องฝุ่นแดงที่มีมากถึง 43,000 ตัน แต่ที่แจ้งมาในระบบมีเพียง 2556-2565 มีเพียง 2,245 ตันเท่านั้นเอง เรื่องนี้อาจเข้าข่ายความผิดแจ้งข้อมูลเท็จกับเจ้าหน้าที่จะมีการพิจารณาดำเนินคดี ส่วนประเด็นที่ว่าบริษัทขนฝุ่นแดงออกจากบริษัทไปนั้น ฐิติภัสร์ยืนยันว่ามีการขนออกจริง โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเป็นคนอนุญาต เรื่องนี้ได้แจ้งให้ท่านรัฐมนตรีเอกนัฏทราบ ท่านก็บอกว่ามีความผิดปกติ ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบต่อไปว่าทางโรงงานขนไปที่ไหน รวมถึงผู้สอบผู้ที่อนุญาตให้ขนฝุ่นแดงอีกด้วย

 

ฐิติภัสร์กล่าวต่อว่า จากนี้ นนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ส่งหนังสือให้บริษัทส่งข้อมูลชี้แจงรายละเอียดการขายเหล็กทั้งหมดของไซส์ 20 มิลลิเมตร และไซส์ 32 มิลลิเมตร ซึ่งจะให้ย้อนข้อมูลไปจนถึง ปี 2563 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการเริ่มก่อสร้างตึก สตง. โดยข้อมูลนี้ต้องแจ้งกลับมาภายใน 7 วัน และหากไม่ส่งข้อมูลให้ทางเจ้าหน้าที่จะมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ฐิติภัสร์ยังบอกอีกว่า ความจริงก็ไม่รู้ว่าทางบริษัทจะชี้แจงข้อมูลย้อนหลังได้หรือไม่ เพราะของล็อตก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาก็ชี้แจงได้แค่ว่าขายออกไปให้เพียงแค่เจ้าเดียวเท่านั้น โดยจะมีหนังสือไปถึง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด รวมทั้ง สตง. ให้ชี้แจงด้วยว่าซื้อเหล็กมาจากที่ใดหรือกลุ่มเอเจนซีใด 

 

ส่วนที่ทางบริษัทอยากให้ทดสอบเหล็ก 2 สถาบันคู่ขนานนั้น หัวหน้าคณะทำงานฯ ระบุว่า เราไม่มีการตรวจโดยสถาบันยานยนต์ เรายึดมาตรฐานสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ที่ทางบริษัทอยากให้ตรวจ 2 ที่นั้นก็มองว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก

 

ด้านตัวแทนของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด วันนี้เข้ามาฟังการแถลงผลการตรวจสอบโรงงานด้วย หลังจากแถลงผลแล้วเสร็จทางตัวแทนให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม เจ้าตัวบอกว่าเบื้องต้นขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตึก สตง. ถล่ม ตอนนี้ขอตั้งข้อสังเกตมี 3 ประเด็น

 

  1. ค่าโบรอนที่ต้องขอให้มีการตรวจสอบทั้ง 2 สถาบัน คือสถาบันเหล็กกล้า และสถาบันยานยนต์เพราะทั้งคู่อยู่ในกรอบของมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แต่กลับกันค่าโบรอนของสถาบันเหล็กกำหนดค่าโบรอนที่สูงกว่า มอก. กำหนด มองว่าสถาบันยานยนต์มีการตรวจที่แม่นยำกว่า 

 

  1. ตั้งข้อสังเกตว่าการเก็บตัวอย่างเหล็กของเจ้าหน้าที่ไปเก็บจากศากเหล็กโดยชี้ที่รูป โดยนำรูปตัวอย่างเหล็กเส้นจากที่เกิดเหตุมาชี้ให้สื่อโดยบอกว่า เลขเหล่านี้ถูกนำไปใช้แล้วมองว่าหากนำมาตรวจถ้าเหล็กอาจจะเปลี่ยนไปหรือไม่

 

  1. ตั้งข้อสังเกตเรื่องการเก็บฝุ่นแดง ที่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างไปซึ่งทางโรงงานมีการขอแบ่งครึ่งนึงไว้เป็นหลักฐานแต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ให้ ตามจริงก็ให้ความร่วมมือทุกอย่างแต่ก็อยากได้รับความเป็นธรรมอยากให้ทุกอย่างโปร่งใส 

 

ส่วนข้อมูลที่จะทำมาชี้แจงภายใน 7 วันขอไปตรวจสอบก่อน ยืนยันว่าข้อมูลทุกอย่างมีครบถ้วน ทั้งข้อมูล เอเจนซีซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 รายบวกลบ ยืนยันไม่ได้ขายเหล็กไปที่ไซต์งานโดยตรง แต่เป็นการขายผ่านเอเจนซีโดยทุกล็อตจะมีรายละเอียดและ QC ทุกอย่าง ส่วนรูปภาพที่เห็นตามสื่อทางบริษัทเองไม่สามารถบอกหรือเจาะจงได้ว่าเหล็กเหล่านี้มาจากล็อตไหนต้องตรวจสอบอีกครั้ง

 

ส่วนเรื่องฝุ่นแดงยอมรับว่ามีการขนออกจริง โดยขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เนื่องจากฝุ่นแดงมีสารซิงก์จะสามารถนำไปหลอมและสร้างมูลค่าได้ ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าฝุ่นแดงที่เกิดจากที่ลงระบบไว้กว่า 4 หมื่นตันมาจากไหนตัวแทนแจงว่า “ยังไม่รู้ขอไปตรวจสอบก่อน แต่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการภายในแน่นอนไม่ได้เอามาจากไหน”

 

กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’ กระทรวงอุตฯ ตรวจโรงงานเหล็ก ‘ซิน เคอ หยวน’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising